คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ แถลงเสียใจกรณีตำรวจไซเบอร์จับกุม ดร.นิด ร่วมลักข้อสอบ แล้วให้โจ๊ก อดีตรอง ผบ.ตร. ลอกคำตอบ เมื่อปี 66 เผยร่วมมือกับตำรวจไซเบอร์รวบรวมหลักฐานตลอด ยัน ดร.นิดไม่ใช่ศิษย์เก่าและบุคลากร แต่อาศัยตีสนิทกับเจ้าหน้าที่ของหลักสูตร พร้อมตั้งกรรมการสอบ และจัดการตามกฎหมายและข้อบังคับของมหาวิทยาลัย
วันนี้ (23 เม.ย.) จากกรณีที่กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) หรือตำรวจไซเบอร์ จับกุม นางขนิษฐา เลิศบรรเจิดวงศ์ หรือ ดร.นิด ในข้อหาร่วมกันเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่นในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น ตามหมายจับของศาลอาญากรุงเทพใต้ เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2568 เนื่องจากแนวทางการสืบสวนพบเบาะแสการกระทำความผิด ร่วมกันลักลอบนำข้อสอบของคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกมาให้บุคคลภายนอกทำข้อสอบ แล้วนำไปให้ พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ หักพาล หรือโจ๊ก อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ทำการลอกคำตอบขณะเข้าสอบ เพื่อผลลัพธ์ด้านการสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี หลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูงการบริหารงานภาครัฐและกฎหมายมหาชน
ล่าสุด คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกแถลงการณ์ระบุว่า ตามที่ปรากฎเป็นข่าวว่ากองบัญชาการตำรวจสืบสวนสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) ได้จับกุมผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดฐานร่วมกันเอาไปซึ่งเอกสารของผู้อื่นในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น โดยนำข้อสอบคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยออกไปให้ผู้อื่นทำก่อนจะส่งต่อไปให้อดีตนายตำรวจยศพลตำรวจเอกนายหนึ่งคัดลอก เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นช่วงปี 2566 นั้น
หลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต ภาคบัณฑิต (นอกเวลาราชการ) รู้สึกเสียใจยิ่งกับเหตุการณ์ที่สร้างความเสียหายให้หลักสูตรฯ ในครั้งนี้ และขอเรียนว่า หลักสูตรฯ ได้รับการประสานจาก บช.สอท. ครั้งแรกเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา และหลักสูตรฯ ได้ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในการแสวงหาและรวบรวมพยานหลักฐานในคดีนี้มาโดยตลอด
หลักสูตรฯ ขอเรียนว่า "ผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมดำเนินคดีครั้งนี้ มิใช่ศิษย์เก่าและมิได้เป็นบุคลากรของมหาวิทยาลัย" แต่ได้อาศัยโอกาสกระทำการดังกล่าวจากการเข้ามาติดต่อประสานงานกับเจ้าหน้าที่ของหลักสูตร โดยที่เจ้าหน้าที่มิได้สังเกตพิรุธ (รายละเอียดอยู่ในขั้นตอนคดี) ซึ่งขณะนี้เจ้าหน้าที่ของหลักสูตรได้ให้ข้อมูลและแจ้งพนักงานสอบสวนดำเนินคดีตามกฎหมายแล้ว
คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ได้ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง รวมทั้งประสานข้อมูลเพิ่มเติมทางการสอบสวน และหากมีการกระทำผิดเกี่ยวกับการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นในกรณีนี้หรือกรณีอื่น คณะนิติศาสตร์จะดำเนินการอย่างเคร่งครัดตามกฎหมายและข้อบังคับของมหาวิทยาลัย เช่นเดียวกับการจัดการในกรณีอื่นๆ ที่ผ่านมา ทั้งนี้ คณะนิติศาสตร์ ขอยืนยันเจตจำนงในอันที่จะรักษามาตรฐานการจัดการศึกษา การให้ปริญญา ตลอดจนคุณภาพบัณฑิตผู้สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและระบบการศึกษาของไทย
อนึ่ง หลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต ภาคบัณฑิต (นอกเวลาราชการ) เป็นหลักสูตรที่เปิดขึ้นตั้งแต่ปีการศึกษา 2546 สำหรับบุคคลทั่วไปที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาใดสาขาหนึ่งมาแล้ว เข้าศึกษานอกเวลาราชการเพื่อให้ได้รับปริญญาตรีนิติศาสตรบัณฑิตอีกปริญญาหนึ่ง