xs
xsm
sm
md
lg

ช้างป่าติดหล่มแอ่งน้ำสิ้นใจกลางป่า ตรวจสอบพบกระสุนฝังในจนแผลติดเชื้อ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



นายอนุชาติ อาจหาญ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติกุยบุรี กล่าวถึงเหตุการณ์ช่วยเหลือช้างป่าติดหล่ม ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี วันที่ 21 เมษายน 2568 ว่า สืบเนื่องจากวันที่ 19 เมษายน 2568 เวลาประมาณ 21.00 น. ได้มีพลเมืองดี (นายณรงค์ อระภักดี) แจ้งเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี ว่าพบเห็นช้างป่าติดหล่มในแอ่งน้ำ โดยให้ข้อมูลว่า วันที่ 18 เมษายน 2568 เวลา 21.00 น. โดยประมาณ ระหว่างที่เข้าไปหาอึ่ง เดินมาตามลำห้วย พบช้างป่าตัวดังกล่าวตกหล่มอยู่ในแอ่งน้ำ ไม่สามารถขึ้นมาได้ บริเวณไทรเอน ท้องที่หมู่ 7 บ้านรวมไทย ตำบลหาดขาม อำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งผู้แจ้ง พบช้างป่ายังมีชีวิต อยู่ในลักษณะนอนตะแครง ระดับน้ำครึ่งตัวช้าง ช้างพยายามตะเกียกตะกายชูงวง แต่ไม่สามารถลุกขึ้นได้ เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี ได้ดำเนินการสำรวจค้นหาด้วยอากาศยานไร้คนขับ แต่ไม่พบเนื่องจากสภาพอากาศไม่อำนวย (ฝนตก) จึงได้ยกเลิกภารกิจ และทำการค้นหาในวันถัดไป

ต่อมาวันที่ 20 เมษายน 2568 เวลา 08.00 น. คณะเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี ใช้อากาศยานไร้คนขับ บินสำรวจพบช้างป่า บริเวณไทรเอน ท้องที่ หมู่ 7 บ้านรวมไทย ตำบลหาดขาม อำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พบช้างป่านอนตะแครงในแอ่งน้ำ หู ขา และงวง ยังมีการขยับ จึงได้ประสานสัตวแพทย์ประจำสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ ที่ 3 สาขาเพชรบุรี ประเมินอาการ

ต่อมาเวลาประมาณ 15.00 น. คณะเจ้าหน้าที่ได้นำตัวช้างป่าขึ้นมาจากแอ่งน้ำ เพื่อให้สัตวแพทย์ประเมินอาการและทำการรักษา ปรากฎว่า ในเวลา 16.30 น. ช้างป่าตัวดังกล่าว ได้เสียชีวิตลง และได้ทำการรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ ประสานพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรยางชุม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าตรวจสอบที่เกิดเหตุในวันถัดไป (21 เมษายน 2568) เนื่องจากเป็นเวลาใกล้ค่ำ และพื้นที่บริเวณจุดเกิดเหตุเป็นพื้นที่ป่ารกทึบ เสี่ยงต่อการเกิดอันตรายจากสัตว์ป่า

ขณะที่วันที่ 21 เมษายน 2568 เวลา 09.30 น. หัวหน้าอุทยานแห่งชาติกุยบุรี พร้อมเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี นายสัตวแพทย์อนุรักษ์ สกุลพงษ์ นายสัตวแพทย์ปฏิบัติการ ประจำสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี พร้อมทีมสัตวแพทย์ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี และห้วยทราย เจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรยางชุม เจ้าหน้าที่อำเภอกุยบุรี นำโดย นายชัยชาญ มูลมาก ปลัดอำเภอกุยบุรี เจ้าหน้าที่ชุดประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มณฑลทหารบกที่ 15 เจ้าหน้าที่โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพป่าบริเวณป่าสงวนแห่งชาติป่ากุยบุรี เข้าร่วมตรวจสอบจุดที่ช้างป่าเสียชีวิต

จากการตรวจสอบโดยละเอียด พบว่า เป็นซากช้างป่าเพศเมีย อายุประมาณ 50-60 ปี น้ำหนักประมาณ 3,000-3,500 กิโลกรัม ลักษณะนอนตายตะแคงด้านซ้าย พบร่องรอยบาดแผล เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 10 เซนติเมตร บริเวณขาหลังด้านขวา ค่อนข้างผอม ดวงตาข้างขวาขาวขุ่น อวัยวะทุกส่วนครบถ้วนสมบูรณ์ คณะพนักงานเจ้าหน้าที่ได้นำเครื่องสแกนโลหะสแกนทั่วทั้งตัวช้างป่าที่เสียชีวิตดังกล่าว พบโลหะในซากช้างป่า จึงได้ทำการผ่าเปิดแผล ลึกลงไปในชั้นกล้ามเนื้อลึกประมาณ 10 เซนติเมตร จีงพบหัวกระสุนลักษณะเกลียวยาว 1 ชั้น และเม็ดโลหะ ทรงกลม 1 ชั้น และพบก้อนหนองขนาดใหญ่ใกล้กระดูกข้อต่อหัวเข่า เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 15 เซนติเมตร ภายในเต็มไปด้วยหนองเหลว ลักษณะเนื้อเยื้อ และผิวหนัง มีสีซีดเหลือง ปลายงวงซีดเหลือง ลิ้นและเนื้อเยื่อภายในช่องปากซีดเหลือง จึงเชื่อได้ว่าช้างตัวนี้ได้มีภาวะติดเชื้อรุนแรงจากบาดแผลและก้อนหนองภายในกล้ามเนื้อ ร่วมกับมีอายุค่อนข้างมาก ส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอลง จึงทำให้เกิดภาวะติดเชื้อและตายลง

ทั้งนี้ ลักษณะกระสุนลูกเกลียวจากการผ่าออกมา เป็นสนิมผุกร่อน คาดว่าอยู่ภายในตัวของช้างป่ามากกว่า 1 ปี เมื่อดำเนินการผ่าพิสูจน์ซากช้างป่าและทราบสาเหตุของการเสียชีวิตแล้ว คณะพนักงานเจ้าหน้าที่จึงได้ร่วมกันพิจารณาดำเนินการจัดการกับซากช้างป่าตัวนี้ โดยลงความเห็นให้ดำเนินการทำลายซากช้างป่าด้วยวิธีการฝังกลบ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากสัตวแพทย์และได้ขออนุมัติพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรยางชุมแล้ว คณะพนักงานเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี ได้ถ่ายรูปไว้เป็นหลักฐาน ลงบันทึกประจำวันและหาตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินการคดีต่อไป