xs
xsm
sm
md
lg

“อ.เจษฎา”เตือนไม่ควรใช้ปากกาเมจิกเขียนบนพลาสติกบรรจุอาหาร ชี้อาจก่อมะเร็งได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Jessada Denduangboripant ระบุว่า เตือนภัย ร้านกลัวงง ใช้ปากกาเมจิกเขียนถุงร้อน หมึกซึมโดนอาหาร อาจารย์ม.ดังชี้ก่อมะเร็งได้

เรียกว่าเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ผู้บริโภคออกมาแชร์ประสบการณ์อยู่บ่อยครั้งกับการที่พ่อค้าแม่ขายหลายร้านใช้ปากกาเคมี หรือปากกาแม่จิก เขียนถุงอาหารร้อน ซึ่งทำให้สีจากปากกาเคมีซึมทะลุถุงและเข้าไปปนเปื้อนกับอาหารได้

ดังเช่นในกรณีล่าสุด หลังผู้ใช้เฟซบุ๊ก ชื่อ Yada Pipatwuttitorn ได้โพสต์เตือนภัยร้านค้าและผู้บริโภค หลังสั่งซื้อเมนูตำเส้นเล็กปลาร้าไม่ผัก แล้วแม่ค้าใช้ปากกาเคมีเขียนบนถุงร้อนว่า “เค็มหวาน” ทำให้หมึกซึมไปถูกกับตัวเส้นเล็กเห็นชัดเจน

โดยระบุไว้อย่างละเอียดว่า “เค็มหวานทะลุถุง เนื่องจากสั่งออเดอร์คล้ายกันหลายอย่าง แม่ค้ากลัวงง เลยเขียนกำกับมาให้ด้วย!

ฝากเตือนร้านค้าและผู้บริโภคทุกคน รณรงค์อย่าใช้หมึกเขียนบนถุงแบบนี้นะคะ มันซึมทะลุอาหารได้

อัปเดตโทรไปแจ้งร้านค้าแล้ว

1.ร้านค้าบอกให้ตัดส่วนตรงที่ติดหมึกออกได้มั้ย?
: เราบอกว่าไม่น่าได้ค่ะ มันซึมเข้าหมู เส้น ลูกชิ้น

2.ร้านค้าบอกว่าจะคืนเงินให้ครึ่งนึงได้มั้ย เพื่อความสบายใจของทั้งคู่?
: เราบอกว่ามันกินไม่ได้เลยค่ะ พี่ส่งมาใหม่ได้มั้ยคะหนูก็ยังไม่ได้ทานข้าว (ส่วนตัวกินมาเกือบปีนี่เป็นครั้งแรก ที่พี่เค้าเขียน เพราะว่ากลัวลูกค้างงค่ะ)

3.จบที่แม่ค้าทำให้ใหม่ และจะนำมาส่งที่บ้านอีกครั้ง พร้อมขอดูอันเก่าที่มันซึมค่ะ “ร้านค้าเขาเข้าใจว่า หมึกไม่น่าจะทะลุถุงเข้าไปได้ เพราะปกติเขาไม่เคยเขียน”

ทั้งนี้ เจ้าของโพสต์ยังฝากเตือนกันด้วยว่า “อีก2 ถุงที่สั่งมาน้องๆ ทานไปเรียบร้อยแล้ว โดยที่มีหมึกเขียนเหมือนกันแต่ ไม่ได้ทันสังเกตว่าซึมหรือไม่”

อย่างไรก็ตามโพสต์ดังกล่าวมีผู้แชร์ไปกว่า 1.4 พันครั้ง กดไลก์และร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างต่อเนื่อง



ขณะที่ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้คอมเมนต์ยืนยันว่า “ไม่ควรใช้ปากกาเมจิกเขียนบนพลาสติกบรรจุอาหาร” เนื่องจากสีจากเมจิกอาจมีการซึมด้วยความร้อนและก่อให้เกิดมะเร็งได้

สาเหตุที่เป็นเช่นนั้น เกิดจากพลาสติกเป็นวัสดุที่มีโมเลกุลของสารตั้งต้นมาจับตัวกันเป็นสายยาวและเป็นร่างแหของโพลิเมอร์ โดยที่ในตัวเนื้อพลาสติกนั้น ก็มีช่องว่างเล็กๆ เมื่อพลาสติกถูกความร้อนส่งผลลให้เกิดการขยายตัวขึ้น ทำให้ช่องว่างเหล่ามีพื้นที่กว้างขึ้น ความชื้นหรืออากาศสามารถแทรกซึมผ่านได้

ขณะที่ “หมึกของปากกาเมจิก” นั้น ก็เป็นสารเคมีที่มีสภาพเป็นสารมีขั้ว จึงอาจจะซึมผ่านเนื้อของพลาสติกบางชนิดได้ดี โดยเฉพาะกับพลาสติกกลุ่มที่มีเนื้อไม่แน่น และซึมผ่านไปยังเนื้อของอาหาร ที่มีสภาพเป็นสารมีขั้วเช่นกันได้ แถมยิ่งอาหารร้อนมาก ก็จะยิ่งเกิดการซึมผ่านเข้าไปได้ง่ายขึ้นด้วย

เนื้อสีของปากกาเมจิก มีสารเคมีที่เป็นตัวทำละลาย ซึ่งถ้าบริโภคเข้าไปก็อาจเป็นอันตรายต่อร่างกาย และอาจเป็นสารก่อมะเร็งได้ จึงไม่ควรเขียนถุงพลาสติกบรรจุอาหารด้วยปากกาเมจิกครับ เพราะถุงพลาสติกไม่ได้ถูกออกแบบมาให้สำหรับการเขียนปากกาเมจิกลงไป แต่ควรหาวิธีอื่นๆ ที่จะสร้างสัญลักษณ์หรือเครื่องหมายแทน

ด้าน กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เคยเตือนภัยเรื่องเช่นเดียวกันถึงปากกาเมจิกซึมทะลุอาหาร โดยแนะนำว่า “เตือนภัยปากกาเมจิกซึมทะลุถุงอาหาร ควรเลือกใช้ถุงให้ถูกประเภท หรือ ถุงใส่อาหารที่ได้มาตรฐานสามารถทนความร้อนได้ 100-120 องศาเซลเซียส สีหมึกจะไม่ซึมผ่านเข้าไป และไม่ควรใช้ปากกาเคมีมาเขียนบนถุงพลาสติก ที่ใส่อาหารโดยตรง ให้ใช้วิธีแปะสติกเกอร์ เลี่ยงการทานอาหาร ที่มีการเขียนถุงด้วยปากกาเมจิก”