xs
xsm
sm
md
lg

ไม่ใช่แค่สงครามภาษีหรือสงครามการค้า เตรียมตัวรับมือเรื่องร้ายแรงกว่านั้น นั่นคือการหย่าร้างแยกขาดทางการเงินระหว่างสหรัฐฯ-จีน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


สหรัฐฯและจีนกำลังเดินหน้าไปสู่การหย่าร้างแยกขาดจากกันทางการเงิน
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

The coming US-China financial divorce
by Nigel Green
15/04/2025

ลืมไปได้เลย เรื่องสงครามภาษีศุลกากร และสงครามการค้า เพราะการหย่าร้างแยกขาดจากกันอย่างเต็มขนาดเต็มพิกัดของการเงินโลก จะส่งผลกระทบไปถึงระบบทุนนิยมที่พวกเรารู้จักในทุกๆ แง่มุมทีเดียว

การแยกขาดจากกันในทางการเงินระหว่างสหรัฐฯกับจีนไม่ใช่เป็นภัยคุกคามแบบห่างๆ อีกต่อไปแล้ว มันอยู่ตรงนี้แล้ว กำลังเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาด้วยจังหวะเร่งตัวเร็วขึ้นเรื่อยๆ และก่อให้เกิดความปั่นป่วนความสะดุดติดขัดอย่างล้ำลึก สำหรับบรรดานักลงทุนแล้ว การทำความเข้าใจกับยุคใหม่นี้ไม่ใช่เป็นแค่ทางเลือกที่จะทำหรือไม่ทำก็ได้ แต่มันคือความจำเป็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ทีเดียว

ภาษีศุลกากรที่สหรัฐฯจัดเก็บอย่างกว้างขวางครอบคลุมเอากับสินค้าเข้าจากจีนนี้ ขณะนี้มีการจัดทำออกมาเป็นตัวบทกฎหมายแล้ว เป็นเครื่องหมายแสดงว่ามันเป็นอะไรซึ่งมากกว่าแค่การปะทะกันประปรายในทางการค้า มันเป็นการส่งสัญญาณแสดงถึงการเปลี่ยนแปลงจัดระเบียบกันใหม่ครั้งประวัติศาสตร์ทั้งในเรื่องการไหลเวียนของเงินทุนระดับโลก, ในสายห่วงโซ่อุปทานสายต่างๆ, และในระบบนิเวศทางเทคโนโลยีระบบต่างๆ

นี่ไม่ได้เป็นเพียงเรื่องเกี่ยวกับหลักการทางเศรษฐศาสตร์เท่านั้น มันเป็นเรื่องเกี่ยวกับพลังอำนาจทางเศรษฐกิจ—และการควบคุมทางเศรษฐกิจ นักลงทุนทั้งหลายมาถึงตอนนี้จะต้องปรับตัวให้เข้ากับโลกซึ่งกฎเกณฑ์ระดับรากฐานของการพาณิชย์โลกกำลังถูกเขียนกันขึ้นใหม่ด้วยอัตราเร็วจี๋และภายใต้แรงบีบคั้นกดดัน

ณ วันที่ 2 เมษายน ซึ่งประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศให้เป็น วันปลดแอก (Liberation Day) ด้วยการลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหารที่มีผลบังคับเป็นกฎหมาย ในเรื่องการขึ้นภาษีศุลกากรอัตราพื้นฐาน 10% รวดจากสินค้านำเข้าแทบทั้งหมด และยกระดับปรับขึ้นเป็นพิเศษในอัตรา 60% เอากับสินค้านำเข้าจากจีน ภาษีใหม่ๆ เหล่านี้ยังเป็นการต่อยอดขึ้นมาจากกำแพงภาษีศุลกากรอัตราน่าเกรงขาม 85%ซึ่งสหรัฐฯจัดเก็บอยู่ก่อนแล้ว ส่งผลให้สินค้าจีนที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯถูกจัดเก็บภาษีศุลกากรรวมทั้งหมด 145%
(หมายเหตุผู้แปล - ล่าสุด ในเอกสารข้อเท็จจริง หรือ Fact Sheet ที่ทำเนียบขาวนำออกเผยแพร่เมื่อวันที่ 15 เมษายนที่ผ่านมา ขยายความเพิ่มเติมว่า อันที่จริงจีนเผชิญกับการถูกจัดเก็บภาษีศุลกากรจากสหรัฐฯในอัตรารวมทั้งสิ้น 245% โดยที่เป็นภาษีศุลกากรเพื่อการตอบโต้ reciprocal tariff อัตรา 125%, ภาษีศุลกากรที่จัดเก็บเพื่อมุ่งบีบจีนให้ช่วยแก้ไขวิกฤตยาเสพติดเฟนตานิล อัตรา 20%, และภาษีศุลกากรตามมาตรา 301 ของรัฐบัญญัติการค้า ซึ่งเก็บจากสินค้าจีนบางชนิด ระหว่าง 7.5% ถึง 100% ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.whitehouse.gov/fact-sheets/2025/04/fact-sheet-president-donald-j-trump-ensures-national-security-and-economic-resilience-through-section-232-actions-on-processed-critical-minerals-and-derivative-products/)

ไม่น่าแปลกใจเลย ตลาดแสดงปฏิกิริยาออกมาในฉับพลันทันที กล่าวคือ ห่วงโซ่อุปทานทั้งหลายเริ่มวุ่นวายผันผวน, แรงบีบคั้นด้านต้นทุนค่าใช้จ่ายปรากฏขึ้นมาอีกตลอดทั่วทั้งอุตสาหกรรมจำนวนมาก, และปักกิ่งเริ่มยิงซัลโวตอบโต้ชุดแรก โดยน่าสังเกตว่ามีการสั่งห้ามส่งออกพวกแร่ธาตุสำคัญยิ่งยวดซึ่งจำเป็นสำหรับภาคเทคและภาคการบินและอวกาศอเมริกัน

สิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็นชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ เหล่านี้ ไม่ใช่เป็นแค่การโต้แย้งกันเชิงยุทธวิธี แต่มันคือการแยกขาดออกจากกันของระบบเศรษฐกิจรายใหญ่ที่สุดอันดับหนึ่งของโลกกับอันดับสองของโลก ขณะที่คำว่า “สงครามเย็น” (Cold War) ได้ถูกนำไปใช้กันอย่างเกินความเป็นจริงอยู่บ่อยครั้ง แต่มาถึงตอนนี้มันเป็นเรื่องลำบากมากขึ้นทุกทีที่จะละเลยความคล้ายคลึงของสถานการณ์เวลานี้กับเมื่อครั้งเกิดสงครามเย็นคราวก่อน ความเชื่อซึ่งเคยศรัทธากันมาอย่างยาวนานที่ว่าการบูรณาการกันทางเศรษฐกิจจะทำหน้าที่เป็นป้อมปราการอันแข็งแรงคอยต้านทานไม่ให้การสู้รบขัดแย้งในทางภูมิรัฐศาสตร์ปะทุขึ้นมา ตอนนี้กำลังถูกโยนทิ้งไปในแบบเรียลไทม์

การหย่าร้างแยกขาดจากกันในทางการเงินแบบเต็มขนาดเต็มพิกัด จะมีลักษณะอย่างไร?

ประการแรก การไหลเวียนของเงินทุนจะกลายเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ การทำธุรกรรมระหว่างบุคคลหรือบริษัทธุรกิจของอเมริกันกับของจีน –ซึ่งครั้งหนึ่งถือเป็นเรื่องกิจวัตรธรรมดา— จะกลายเป็นเรื่องที่ถูกตรวจสอบอย่างถี่ถ้วนและถูกจำกัดควบคุมเพิ่มขึ้นทุกที กิจกรรมต่างๆ ของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯอาจจะถูกลดทอนลงไป พวกกองทุนเพื่อการลงทุนต่างๆ ของสหรัฐฯไม่ว่าจะเป็นกองทุนเงินบำนาญ, กองทุนเงินบริจาคของบรรดามหาวิทยาลัยสถาบันการศึกษา, และกองทุน ETF (Exchange Traded Fund) ที่โยงใยกับดัชนีหลักทรัพย์ อาจเผชิญกับการถูกสั่งห้ามถือครองสินทรัพย์จีนโดยตรงกันเลย หรือเจอแรงบีบคั้นทางการเมืองเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ให้ถอนตัวจากการถือสินทรัพย์จีน

เรื่องนี้อาจจุดชนวนให้เกิดกระแสคลื่นของการที่พวกหุ้นจีนถูกเพิกถอนออกจากการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ, การพิจารณาทบทวนอย่างเข้มงวดกวดขันยิ่งขึ้นจากคณะกรรมการว่าด้วยการลงทุนของต่างประเทศในสหรัฐฯ (Committee on Foreign Investment in the United States หรือ CFIUS), และการควบคุมการลงทุนของสหรัฐฯในต่างแดน โดยพุ่งเป้าไปที่พวกภาคสำคัญๆ ทั้งนี้ เวลานี้ พวกที่ปรึกษาของทรัมป์กำลังส่งสัญญาณอย่างชัดเจนออกมาแล้วว่า เงินทุนอเมริกันไม่ควรถูกนำไป “ให้ความสนับสนุนทางการเงินแก่การผงาดขึ้นมาของจีน”

ประการที่สอง การแยกขาดทางเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐฯกับจีนจะถ่างกว้างออกไปมากขึ้นและลงลึกยิ่งขึ้นไปอีก ในช่วงหลายๆ ปีก่อนหน้านี้ พวกบริษัทจีนอย่างเช่น หัวเว่ย, แซดทีอี, และ ดีเจไอ ต่างตกอยู่ใต้แรงกดดันอย่างสำคัญจากทางการสหรัฐฯอยู่แล้ว เวลานี้ ความสนใจกำลังเปลี่ยนไปอยู่ที่พวกบริษัททางด้าน เอไอ, พวกโรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์, แพลตฟอร์มพลังงานเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม, และอุตสาหกรรมเจเนอเรชั่นต่อไป วอชิงตันไม่เพียงแค่กำลังเล็งเป้ามุ่งจำกัดขัดขวางการส่งออกเท่านั้น แต่ยังกำลังเคลื่อนไหวเพื่อก่อตั้งกำแพงกีดกั้นระบบนิเวศแห่งนวัตกรรมกันทั้งระบบทีเดียว

ควรคาดหมายเอาไว้ได้เลยว่าสหรัฐฯจะประกาศระบบอนุญาตให้ใช้ไลเซนส์ที่เข้มงวดกวดขันขึ้นกว่าเดิม, การสั่งห้ามไม่ให้ลงทุนที่มีขอบเขตครอบคลุมกว้างขวางมากขึ้น, และการแซงก์ชั่นอย่างแข็งกร้าวยิ่งขึ้นโดยเล็งเป้าหมายทั้งเพื่อเล่นงานพวกบริษัทจีนและทั้งพวกบริษัทของบรรดาชาติพันธมิตรของอเมริกาทว่ายังคงมีความผูกพันอย่างล้ำลึกกับปักกิ่ง นี่เป็นเรื่องความพยายามของอเมริกาที่ยืนกรานรักษาฐานะครอบงำทางเทคโนโลยีเอาไว้ และการปฏิเสธไม่ยอมให้จีนเข้าถึงพวกสมรรถนะระดับรากฐานทั้งหลาย

ประการที่สาม ระบบการติดต่อเชื่อมโยงกันของการเงินระดับโลกกำลังถูกทดสอบครั้งใหญ่ เป็นเวลาหลายสิบปีมาแล้ว ระบบการเงินโลกที่ยึดโยงอยู่กับดอลลาร์อเมริกันได้คอยทำหน้าที่ให้บริการแก่การพาณิชย์ระหว่างประเทศในฐานะเป็นตัวกลางผู้ชี้ขาดที่รักษาความเป็นกลางอย่างเคร่งครัด แต่ในเวลานี้ความเป็นกลางดังกล่าวกำลังสึกกร่อนลงไปทุกที

ประเทศจีน ซึ่งกำลังคาดการณ์เอาไว้แล้วว่าจะต้องเจอมาตรการมุ่งจำกัดควบคุมไม่ให้พวกเขาเข้าถึงสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ จึงกำลังผลักดันแผนการให้สกุลเงินหยวนกลายเป็นสกุลเงินระหว่างประเทศอย่างแข็งขันแข็งกร้าวยิ่ง ระบบชำระเงินข้ามพรมแดนในระหว่างธนาคารต่างๆ ของจีนที่เรียกชื่อว่า ระบบ Cross-Border Interbank Payment System (CIPS) กำลังถูกวางฐานะเอาไว้ให้เป็นทางเลือกหนึ่งที่จะถูกนำมาใช้แทนระบบ SWIFT ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะสร้างระบบนิเวศทางการเงินคู่แข่งของ SWIFT ระบบหนึ่งขึ้นมา ซึ่งจะมีจุดอ่อนเปราะน้อยลงเมื่อเผชิญหน้ากับการแซงก์ชั่นของฝ่ายตะวันตก

การปรากฏขึ้นมาของระบบการเงินหลายระบบคู่ขนานกันเช่นนี้ จะส่งผลทำให้การไหลเวียนของเงินทุนเกิดการปรับเปลี่ยนรูปโฉมกันใหม่, การตกลงชำระเงินทางการค้าก็มีการใช้วิธีผิดแผกออกไปจากเดิม, รวมทั้งทำให้ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรามีความสลับซับซ้อนเพิ่มมากขึ้นอีก

สำหรับนักลงทุนแล้ว ช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านเช่นนี้ จะนำมาซึ่งความผันผวน – แต่ก็หมายถึงโอกาสด้วยเช่นกัน

ในด้านหนึ่ง พวกประเทศที่ผูกพันเป็นพันธมิตรเอาไว้กับสหรัฐฯ จะกลายเป็นแม่เหล็กที่สามารถดึงดูดเงินทุนเชิงยุทธศาสตร์ อินเดีย, เวียดนาม, เม็กซิโก, และส่วนต่างๆ ของยุโรปตะวันออก ต่างกำลังเห็นเงินทุนไหลเวียนเข้ามาอย่างสำคัญกันอยู่แล้ว จากการที่พวกบริษัทจำนวนมากพากันกระจายฐานที่ตั้งโรงงานการผลิตของพวกเขาออกมาจากประเทศจีน

การโยกย้ายฐานการผลิตจากจีนกลับคืนสู่อเมริกา (Reshoring) และการโยกย้ายฐานการผลิตจากจีนไปยังชาติเพื่อนมิตรของสหรัฐฯ (friendshoring) –ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นศัพท์แสงที่นิยมพูดกันแต่ในภาคบริษัทเอกชน—ตอนนี้กลายเป็นนโยบายรัฐบาลสหรัฐฯอย่างเปิดเผยชัดเจนแล้ว โดยมีการหนุนหลังด้วยมาตรการจูงใจทางการเงินและเจตนารมณ์ทางการเมืองอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ในอีกด้านหนึ่ง จีนก็ไม่ได้กำลังอยู่ในลักษณะการถอยทัพแต่อย่างใด พวกเขาก็กำลังปรับปรุงยกระดับที่มั่นของพวกเขาให้แข็งแรงยิ่งขึ้นกว่าเดิม

การที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง สนใจเกี้ยวพา กลุ่มประเทศโลกใต้ (Global South) อย่างกระตือรือร้น เป็นการตอกย้ำถึงยุทธศาสตร์ของปักกิ่งที่มุ่งผูกพันอย่างล้ำลึกยิ่งขึ้นกับบรรดาชาติกำลังพัฒนา โดยที่ชาติเหล่านี้เองก็กำลังพบว่าพวกเขาถูกบีบคั้นจนหายใจลำบากจากลัทธิกีดกันการค้าของโลกตะวันตก

การที่เมื่อเร็วๆ นี้ สี เดินทางไปเยือนเวียดนาม, มาเลเซีย, และกัมพูชา ซึ่งล้วนเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบโดยตรงอย่างหนักหน่วงจากภาษีศุลกากรของทรัมป์ คือไฟสปอตไลต์ที่สาดส่องให้เห็นความพยายามของปักกิ่งในการบูรณาการระบบเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ให้เข้ามาอยู่ในเขตอิทธิพลของจีน โดยผ่านการจับมือเป็นหุ้นส่วนกันทั้งในด้าน 5จี, พลังงานสีเขียว, และอุตสาหกรรมการผลิตระดับก้าวหน้า

นักลงทุนทั้งหลายต้องตระหนักรับรู้ว่า นี่ไม่ได้เป็นเพียงเรื่องเกี่ยวกับการทำศึกภาษีศุลกากรในเชิงยุทธวิธี หรือการปะทะกันประปรายเพื่อทำให้เกิดเป็นข่าวพาดหัวเกรียวกราวครึกโครมขึ้นมาเท่านั้น

มันเป็นเรื่องเกี่ยวกับระเบียบการเงินโลกที่กำลังเกิดการแตกแยกออกเป็น 2 ง่าม –เป็นการปรับเปลี่ยนการจับกลุ่มรวมตัวกันใหม่ในเชิงโครงสร้าง ซึ่งจะลงลึกเกี่ยวข้องถึงทุกๆ มิติของการจัดสรรเงินทุน, ยุทธศาสตร์อัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา, การวางแผนแม่บทเพื่อรับมือกับปัจจัยทางด้านสิ่งแวดล้อม-สังคม-ธรรมาภิบาล (ESG frameworks), และการจัดองค์ประกอบของดัชนีหลักทรัพย์ สมมุติฐานอันเก่าที่ประกาศว่ากระแสโลกาภิวัตน์เป็นพลังที่ไม่สามารถหันเหเปลี่ยนกลับคืนได้นั้น เวลานี้กำลังถูกทำลายเป็นเสี่ยงๆ ต่อหน้าต่อตาพวกเราทั้งหลาย

ขณะที่การหย่าร้างแยกจากกันทางการเงิน เวลานี้ยังไม่ได้ไปจนถึงขั้นสุดท้าย กระนั้นแรงโมเมนตัมเบื้องหลังเรื่องนี้ที่พบเห็นได้ในปัจจุบันก็บ่งชี้ให้เห็นว่ามันกำลังกลายเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหันเหหมุนกลับมาได้เสียแล้ว และอย่างที่เกิดขึ้นกับการหย่าร้างแยกขาดจากกันซึ่งเต็มไปด้วยความยุ่งเหยิงวุ่นวายไม่ว่าอันไหนก็ตามที ความมั่งคั่งจะได้มามิใช่โดยพวกที่แสดงปฏิกิริยาตอบโต้ไปตามอารมณ์ แต่โดยพวกที่มีการคาดการณ์เอาไว้ก่อนแล้วว่า สินทรัพย์, อิทธิพล, และลู่ทางโอกาส จะโยกย้ายเคลื่อนตัวไปอยู่ที่ไหน ในทันทีที่ครอบครัวเก่าดั้งเดิมถูกแบ่งแยกขาดจากกัน

สำหรับนักลงทุนที่มีความเข้าใจอย่างกระจ่างแจ่มแจ้ง ช่วงหลายๆ ทศวรรษที่กำลังจะมาถึงนี้จะไม่ถูกนิยามจำกัดความด้วยการหวนกลับคืนไปสู่สิ่งที่คุ้นเคยแต่เก่าก่อน หากจะถูกนิยามจำกัดความด้วยความเชี่ยวชาญช่ำชองในการเป็นนายเหนือสิ่งใหม่ๆ ต่างหาก

ไนเจล กรีน เป็นซีอีโอและผู้ก่อตั้งกลุ่มเดอเวียร์ (deVere Group) หนึ่งในบริษัทที่ปรึกษาทางการเงินและองค์การด้านเทคโนโลยีทางการเงิน (ฟินเทค)อิสระรายใหญ่ที่สุดของโลก
กำลังโหลดความคิดเห็น