xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ ปาฐกถาเปิดประชุม ESCAP ยันไทยพร้อมเป็นหุ้นส่วนพัฒนาภูมิภาค

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



เมื่อเวลา 09.00 น. น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษในพิธีเปิดการประชุมประจำปีของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก สมัยที่ 81 (The 81st Session of the Economic and Social Commission for Asia and the Pacific: ESCAP) ณ ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ (UNCC) ว่า ต้อนรับผู้แทนจากประเทศต่างๆ อย่างอบอุ่น พร้อมทั้งแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อประเทศเมียนมาที่ได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวเมื่อเดือนมีนาคม ไทยในฐานะประเทศเพื่อนบ้านได้ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างเร่งด่วน และพร้อมจะดำเนินการเพิ่มเติมเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้ประสบภัย และขอบคุณประชาคมโลกที่แสดงความห่วงใยต่อประเทศไทยในช่วงที่ประสบเหตุการณ์โศกนาฏกรรมที่ผ่านมา

น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เกิดขึ้นท่ามกลางบริบทของความท้าทายระดับโลกที่เชื่อมโยงกันข้ามพรมแดน ทั้งภัยธรรมชาติที่รุนแรงขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ความผันผวนทางเศรษฐกิจ ภาวะถดถอยของสิ่งแวดล้อม และอาชญากรรมข้ามชาติ ส่งผลโดยตรงต่อเสถียรภาพ ความมั่นคง และการพัฒนาทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก ดังนั้นการเสริมสร้างความร่วมมือในทุกระดับและภาวะผู้นำที่มองไกล จึงเป็นกุญแจสำคัญ โดยต้องยึดหลักกฎหมายระหว่างประเทศ บรรทัดฐานสากล และความมุ่งมั่นต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนและครอบคลุม

ความสำคัญของกลไกพหุภาคี เช่น องค์การสหประชาชาติ ESCAP อาเซียน ACMECS BIMSTEC และ ACD ว่า มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการรวมพลังประเทศสมาชิกเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ สร้างความเชื่อมโยง และผลักดันนโยบายร่วมกันสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกที่แม้จะเป็นแหล่งการเติบโตทางเศรษฐกิจมากกว่าครึ่งของโลก แต่ก็ยังเผชิญความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้นและภาวะยากจนที่ทวีความรุนแรง ทั้งนี้ ความคืบหน้าในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ระบุว่า ในปี 2024 กว่า 84% ของเป้าหมาย SDGs ในภูมิภาคยังมีความก้าวหน้าเพียงเล็กน้อย หรือถดถอย ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนว่า ประเทศสมาชิกต้องร่วมกันปรับแนวทาง ขับเคลื่อนนโยบายที่สร้างสรรค์ และส่งเสริมนวัตกรรมในการพัฒนา เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย SDGs

โดยประเทศไทยได้ดำเนินการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นแนวทางการพัฒนาที่เน้นประชาชนเป็นศูนย์กลางและเคารพความสมดุลของธรรมชาติ โดยถือเป็นรากฐานสำคัญในการผลักดัน SDGs ทั้งในระดับประเทศและในการแบ่งปันองค์ความรู้แก่ประเทศที่สนใจ ไทยยินดีแบ่งปันแนวทางพัฒนานี้เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับภูมิภาคร่วมกัน

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ยุทธศาสตร์สำคัญซึ่งจะนำไปสู่ความร่วมมือระดับภูมิภาค ดังนี้

1. ครัวของโลก ไทยตั้งเป้าหมายการเป็นครัวของโลก โดยมุ่งเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารผ่านการปรับโฉมภาคการเกษตร ด้วยการใช้เทคโนโลยีเกษตรแม่นยำ และนวัตกรรมเพื่อเพิ่มผลผลิตและคุณภาพชีวิตของเกษตรกร การพัฒนาเกษตรอัจฉริยะ ไม่เพียงตอบโจทย์ความมั่นคงทางอาหารเท่านั้น แต่ยังช่วยสร้างระบบอาหารที่ยั่งยืน เป็นธรรม และครอบคลุมทั้งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

2. เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ผ่านการขับเคลื่อนด้วย Soft Power และการพัฒนาโมเดลเศรษฐกิจ ที่เน้นประชาชนเป็นศูนย์กลาง โดยไทยมีทุนทางวัฒนธรรมซึ่งสามารถต่อยอดเป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ผ่านอุตสาหกรรมวัฒนธรรม การออกแบบนวัตกรรม และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ โดยเฉพาะแนวคิด "De-stress destinations" และการท่องเที่ยวโดยชุมชนที่ช่วยกระจายรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างโอกาสใหม่ทางเศรษฐกิจในพื้นที่นอกเขตเมือง

3. การเปลี่ยนผ่านสีเขียวโดยไทยเดินหน้าเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียวผ่านนโยบายเศรษฐกิจ BCG เน้นการลดการปล่อยคาร์บอน ใช้พลังงานสะอาด และส่งเสริมนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน โดยตั้งเป้าให้ประเทศไทยบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2065 ที่จะช่วยเสริมสร้างห่วงโซ่อุปทานระดับภูมิภาคที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมีความยืดหยุ่นสูง

น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า ภายในปี 2050 ประชากรโลกกว่า 70% จะอาศัยอยู่ในเขตเมือง สะท้อนถึงความจำเป็นของการพัฒนาเมืองที่ยั่งยืนและปลอดภัย ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน การจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ตลอดจนการรับมือกับอาชญากรรมข้ามชาติ เช่น ยาเสพติด การค้ามนุษย์ และอาชญากรรมไซเบอร์ ไทยให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างทักษะดิจิทัลให้ประชาชนควบคู่กับการบังคับใช้กฎหมาย สำหรับตัวอย่างรูปธรรมของการลดความเหลื่อมล้ำในเมือง รัฐบาลไทยได้นำเสนอ โครงการรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ในกรุงเทพมหานคร ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง เพิ่มการเข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจ และเชื่อมโยงเมืองให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยรัฐบาลมุ่งมั่นจะขยายมาตรการในลักษณะนี้ไปยังพื้นที่อื่นๆ ในอนาคต ทั้งนี้ขอเสนอแนวคิด 3 ประการ ได้แก่ 1.ความร่วมมือระดับภูมิภาคต้องดำเนินควบคู่กับการดำเนินการในระดับชาติ 2.ความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม เป็นกุญแจสำคัญของการเติบโตที่ครอบคลุม และ 3. ESCAP เป็นเวทีสำคัญในการแลกเปลี่ยนความรู้และสร้างกลไกความร่วมมือเพื่อเร่งรัดการพัฒนาที่ยั่งยืนและยืนยันว่า ไทยพร้อมทำงานร่วมกับ ESCAP และประเทศสมาชิกอย่างใกล้ชิด เพื่อร่วมสร้างภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ที่มั่งคั่ง ยืดหยุ่น และยั่งยืนสำหรับคนรุ่นปัจจุบันและอนาคต