นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ภารกิจในการรื้อถอนเศษโครงสร้างอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่พังถล่ม มีความคืบหน้าเป็นระยะ สามารถทำงานได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น เนื่องจากสามารถลดระดับความสูงของเศษซากอาคารจากเดิมประมาณ 26 เมตร เหลือประมาณ 13 เมตร แล้วในช่วงเช้าวันนี้ (17 เม.ย.)
ขณะเดียวกัน ช่วงเช้าที่ผ่านมายังมีการส่งเจ้าหน้าที่นำเครื่องตัดเหล็กแบบแก๊สเข้าพื้นที่เพื่อเพิ่มความรวดเร็วของการทำงาน อีกทั้งยังทำให้มีความสะดวกในการทำภารกิจการค้นหาเพิ่มเติมด้วย เนื่องจากระหว่างการตัดเหล็กออกสามารถสังเกตสิ่งผิดปกติ หรือวัตถุต้องสงสัยได้ไปพร้อมๆ กัน นอกจากนี้ ยังมีการเพิ่มจำนวนรถบรรทุกสำหรับขนเศษซากอาคารออกจากพื้นที่ จากเดิม 14 คัน เป็น 22 คัน ส่งผลให้สามารถเพิ่มจำนวนรอบในการลำเลียงเศษซากอาคารได้มากกว่า 170 เที่ยว/วัน และในวันนี้จะสามารถลำเลียงออกได้มากขึ้นอีก
ด้านนายสุริยชัย รวิวรรณ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร กล่าวเสริมว่า อุปสรรคของการทำงานยังคงอยู่ที่การตัดเหล็กเส้นที่หากใช้เครื่องจักรหนักเพียงอย่างเดียวการทำงานจะค่อนข้างล่าช้า จึงต้องใช้ทีมเจ้าหน้าที่และเครื่องตัดเหล็กระบบแก๊สเข้าสนับสนุนภารกิจ ก็จะสอดรับกับความก้าวหน้าของภารกิจในปัจจุบันให้มีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ยังมีการระบุจุดที่คาดการณ์ว่าจะมีผู้ติดค้างอยู่ภายใต้อาคารไว้แล้ว และตลอดระยะเวลาของการดำเนินงานที่ผ่านมา ในโซน A B C และ D ก็พบผู้ติดค้างอยู่ทุกจุด จึงต้องมีการปฏิบัติงานพร้อมกันในหลายพื้นที่เป็นวงกว้าง เพื่อให้สามารถเปิดพื้นปูนออกเพื่อค้นหาได้แบบทีละระดับชั้น
โฆษกของกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงเรื่องการขอรับเงินช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากกรณีแผ่นดินไหวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของค่าซ่อมแซมอาคารที่อยู่อาศัย ขณะนี้อยู่ระหว่างการลงพื้นที่ตรวจสอบของเจ้าหน้าที่สำนักการโยธาเขตฯ เพิ่งได้เริ่มมีการตรวจสอบมาตั้งแต่ช่วงก่อนเทศกาลสงกรานต์ สำหรับผู้ที่ก่อนหน้านี้ไม่สะดวกให้เขตเข้าตรวจสอบ หากกลับมาจากการเดินทางในต่างจังหวัดแล้วขอให้ติดต่อสำนักงานเขตเพื่อนัดวันเข้าตรวจสอบสภาพความเสียหายต่อไป และในส่วนของเงินเยียวยาผู้เสียหายหรือญาติผู้เสียหายจากเหตุอาคารถล่ม และผู้ได้รับผลกระทบที่เข้าเงื่อนไข ในวันพรุ่งนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จะดำเนินการมอบเงินเยียวยารอบแรกให้กับผู้ที่ได้รับใบรับรองแล้วรายละประมาณ 100,000 บาท ตามที่กระทรวงมหาดไทยได้ประกาศไว้ ส่วนผู้ที่บาดเจ็บ กรุงเทพมหานคร และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จะชดเชยค่ารักษาพยาบาลให้แบบเต็มจำนวน โดยเป็นการเบิกจ่ายตามจริง