ไม่ควรมีประเทศไหนหลบหลีกกฎหมายระหว่างประเทศ อ้างสิทธิ์สำรวจทรัพยกรใต้ทะเลลึก จากคำแถลงของกระทรวงการต่างประเทศจีนในวันจันทร์(14เม.ย.) ความเห็นซึ่งมีขึ้นตามหลังรายงานข่าวที่ระบุว่าสหัฐฯมีแผนรกักตุนก้อนแร่โลหะจากใต้ทะเลลึก (deep-sea metals) ในมหาสมุทรแปซิฟิก เพื่อลดทอนอิทธิพลของจีนในห่วงโซ่อุปทานแร่ธาตุและแรร์เอิร์ธ
หนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทม์ส รายงานอ้างแหล่งข่าวใกล้ชิดกับประเด็นนี้ในวันเสาร์(12เม.ย.) ว่ารัฐบาลทรัมป์ กำลังร่างคำสั่งบริหารเพื่อนำไปสู่การกักตุนก้อนแร่โลหะที่พบใต้ทะเลลึกของมหาสมุทรแปซิฟิก เพื่อตอบโต้ความเป็นเจ้าโลกของจีน ในด้านแร่ผลิตแบตเตอรีและห่วงโซ่อุปทานแร่แรร์เอิร์ธ
รายงานข่าวระบุว่าการกักตุนนี้ "จะก่อความพร้อมในแง่ปริมาณมหาศาลและมีพร้อมให้ดินแดนสหรัฐฯใช้ประโยชน์ในอนาคต" ในกรณีที่เกิดความขัดแย้งกับจีน ที่อาจก่อผลกระทบต่อการนำเข้าโลหะต่างๆและแร่แรร์เอิร์ธ"
จีน กำหนดให้องค์ประกอบแร่ธาตุหายากบางส่วน อยู่ภายใต้ข้อจำกัดการส่งออก ในความเคลื่อนไหวตอบโต้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ที่กำหนดมาตรการรีดภาษีสูงลิ่วกับสินค้านำเข้าจากจีน ซึ่งอาจเท่ากับเป็นการตัดขาดอเมริกาออกจากการเข้าถึงแร่ธาตุหายากเหล่านี้ ที่มีความสำคัญยิ่งสำหรับผลิตข้าวของต่างๆ ไล่ตั้งแต่สมาร์ทโฟนไปจนถึงแบตเตอรีรถยนต์ไฟฟ้า
ตามหลังรายงานข่าวนี้ กระทรวงการต่างประเทศของจีน ระบุว่าภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ ใต้ทะเลลึกและทรัพยากรต่างๆใต้ทะเลลึก "เป็นมรดกร่วมของมวลมนุษยชาติ"
ถ้อยแถลงของกระทรวงการต่างประเทศจีน บอกว่า "การสำรวจและการสกัดทรัพยากรแร่ในพื้นที่ก้นทะเลสากล ควรต้องดำเนินการตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล และดำเนินการภายในกรอบขององค์กรพื้นดินท้องทะเลระหว่างประเทศ"
จีน คือชาติผู้สกัดแร่แรร์เอิร์ธรายใหญ่ที่สุดของโลก คิดเป็นสัดส่วนถึง 90% ของทั้งหมด ทั้งนี้แร่แรร์เอิร์ธ ประกอบด้วยกลุ่มแร่ธาตุ 17 ชนิดในตารางธาตุ ที่ถูกใช้ในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกลาโหม, รถยนต์ไฟฟ้า, พลังงานสะอาดและอิเล็กทรอนิกส์ ในขณะที่ สหรัฐฯ นำเข้าแร่แรร์เอิร์ธ ปริมาณมาก และส่วนใหญ่ในนั้นเป็นการนำเข้าจากจีน
(ที่มา:รอยเตอร์)