ดร.ธเนศ นายกสภาวิศวกรเผยต้องเร่งนำเศษซากด้านบนสุดของตึก สตง.ลงมาก่อน เพื่อความปลอดภัยเจ้าหน้าที่
วันนี้ (10เม.ย.) ดร.ธเนศ วีระศิริ นายกสภาวิศวกร กล่าวถึงกรณีการรื้อถอนซากตึกสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ที่พังถล่ม ว่า ขณะนี้ภารกิจหลักคือการลดน้ำหนักของเศษซากอาคารที่อยู่ด้านบน หรือบริเวณโซน E เพื่อความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานด้านล่าง
โดยผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่า จำเป็นต้องเร่งนำเศษซากอาคารด้านบนลงมาก่อน เนื่องจากมีความสูง และอยู่ไกลเกินกว่าที่เครื่องจักรหนักจะเข้าถึงได้โดยง่าย อีกทั้งยังมีแผ่นคอนกรีตวางซ้อนกันอยู่ประมาณ 5-6 ชั้น ขณะนี้จึงได้มีการนำรถแบคโฮขึ้นไปยังบริเวณด้านบนของซากอาคาร เพื่อเร่งนำชิ้นส่วนเหล่านี้ลงมา
นอกจากการใช้เครื่องจักรหนักแล้ว การปฏิบัติงานยังต้องอาศัยเจ้าหน้าที่ภาคพื้นดินที่ใช้เครื่องตัดขนาดเล็ก เข้าไปตัดเหล็กในบางส่วนที่เครื่องจักรใหญ่ไม่สามารถตัดได้ พร้อมกันนี้ จะต้องมีการถ่ายภาพการปฏิบัติงานทุกขั้นตอนอย่างละเอียด และมีทีมวิศวกรควบคุมความปลอดภัยอย่างใกล้ชิด
อีกทั้งเน้นย้ำถึงความเร่งด่วนในการนำแผ่นคอนกรีตขนาดใหญ่ลงมา เนื่องจากฐานด้านล่างของซากอาคารเริ่มมีขนาดเล็กลง ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการสไลด์ตัวลงมาได้ นอกจากนี้ สิ่งที่น่ากังวลอีกประการคือสภาพอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีฝนตกลงมาอย่างหนัก อาจส่งผลกระทบต่อการทำงาน ทำให้เศษหิน เศษปูนไหลลงมาตามช่องของซากอาคาร และหากอุ้มน้ำก็จะเกิดการไหลเป็นวงกว้าง ทำให้ควบคุมได้ยาก จึงต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ อย่างไรก็ตาม ฝนที่ตกลงมาเมื่อคืนที่ผ่านมายังไม่ส่งผลกระทบมากนัก เนื่องจากไม่ได้ตกหนัก
อีกหนึ่งอุปสรรคสำคัญในการปฏิบัติงานคือ เส้นเหล็กที่ถูกตัดแล้วมีลักษณะพันกันไปมา ทำให้ต้องใช้เครื่องจักรหนักในการตัดเท่านั้น ไม่สามารถนำเจ้าหน้าที่ที่ใช้แก๊สตัดเข้าไปดำเนินการได้ เนื่องจากอาจใช้เวลานาน และมีความเสี่ยงที่วัสดุบางอย่างจะติดไฟ เป็นอันตรายต่อเจ้าหน้าที่
สำหรับการตัดแผ่นปูนหรือแท่งปูนนั้น มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อลดน้ำหนัก ทำให้รถเครนสามารถยกชิ้นส่วนเหล่านั้นออกมาได้อย่างปลอดภัย ส่วนการใช้เจ้าหน้าที่พร้อมถังแก๊สและลม จะจำกัดเฉพาะการตัดชิ้นส่วนขนาดเล็กที่เครื่องจักรหนักเข้าไม่ถึงเท่านั้น โดยภาพรวมจะเน้นการใช้เครื่องจักรหนักในการตัดเป็นหลัก ซึ่งขณะนี้สามารถลดปริมาณเศษซากบริเวณยอดด้านบนได้ในระดับหนึ่งแล้ว และหากสามารถตัดลดระดับลงมาจนรถแบ็คโฮสามารถยืดแขนไปได้สุด ก็จะทำให้การทำงานมีความเสถียรมากยิ่งขึ้น
ส่วนกรณีรถแบ็คโฮ SK-1000 คันที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย จะเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยให้การปฏิบัติงานเป็นไปอย่างรวดเร็วมากขึ้น ส่วนเครื่องจักรหนักคันอื่นๆ ที่อยู่ด้านล่าง จะมีหน้าที่ในการนำเศษวัสดุที่ถูกตัดลงมา จัดกองให้เป็นระเบียบ เพื่อเปิดทางให้เครื่องจักรทำงานได้อย่างราบรื่น
ในส่วนของความกังวลว่าเครื่องจักรหนักจำนวนมากจะทำให้ดินเกิดการทรุดตัวหรือไม่นั้น ยืนยันว่า มีการประเมินความเสี่ยงและวางแผนการวางเครื่องจักรอย่างรอบคอบ โดยมีการใช้เครื่องมือพิเศษเพื่อถ่ายเทและกระจายแรงกดระหว่างเครื่องจักรหนักกับพื้นดิน ทำให้มั่นใจได้ว่าจะไม่เกิดการยุบตัว
โดยความเห็นส่วนตัวแล้ว เครื่องจักรหลักที่มีอยู่ในขณะนี้น่าจะเพียงพอต่อการปฏิบัติงาน แต่หากมีผู้ประสงค์จะสนับสนุนเพิ่มเติม ก็สามารถติดต่อมายังศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ เพื่อให้มีการสับเปลี่ยนหมุนเวียนกำลังพลได้
สำหรับระยะเวลาในการรื้อถอนนั้น นายกสภาวิศวกร กล่าวว่าเป็นเรื่องที่ยากจะกำหนดกรอบเวลาที่ชัดเจน เนื่องจากต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ที่อาจยังติดอยู่ภายในซากอาคารเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม ทุกฝ่ายกำลังเร่งปฏิบัติงานอย่างเต็มที่ โดยเจ้าหน้าที่บางรายทำงานต่อเนื่องมาหลายวันจนแทบไม่มีเวลาพักผ่อน ซึ่งตนก็อยากให้เจ้าหน้าที่ได้มีโอกาสพักผ่อนบ้าง
นอกจากนี้ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงบ่ายวันนี้ที่อาคารลานจอดรถ สถานที่ก่อสร้างอาคาร สตง.ดังกล่าว นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานจัดพิธีสวดพระพุทธมนต์ เพื่อผู้ประสบภัย และผู้สูญหาย ภายในตึกสตง.ที่ถล่มลงมาจากเหตุแผ่นดินไหว โดยมีสมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี (เจ้าคุณธงชัย) เจ้าคณะใหญ่หนกลาง กรรมการมหาเถรสมาคม วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และมีเจ้าคณะกรุงเทพมหานคร เป็นผู้นำคณะสงฆ์กรุงเทพมหานคร จำนวน 103 รูป สวดพระพุทธมนต์ ให้กับผู้ประสบภัยและผู้สูญหาย ที่ยังติดค้างภายใต้ซากอาคาร โดยมีคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ญาติผู้ประสบภัยเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานและผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมพิธี
สำหรับพิธีสวดพระพุทธมนต์ของคณะสงฆ์กรุงเทพมหานคร จำนวน 103 รูป ให้กับผู้ประสบภัยและผู้สูญหาย เป็นระยะเวลา 20 นาทีประกอบไปด้วยบทสวด ปัพพะโตปะมะคาถาถา (ชราและมรณะเปรียบประดุจภูเขาหินที่กลิ้งบดทับสัตว์ทั้งหลาย) บทสวดอริยธนาคาถา (อริยทรัพย์อันประเสริฐ) บทสวดขัดธรรมนิยามะสูตร และบทสวดธัมมนิยามสุตตุง (พระสูตรแสดงความแน่นอนแห่งสภาวะธรรมทั่วไป)