ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ในวันพุธ(9เม.ย.) กลับลำอย่างน่าตกตะลึง ด้วยการเปิดเผยว่าจะปรับลดชั่วคราว มาตรการรีดภาษีหนักหน่วง ที่เขาเพิ่งกำหนดเล่นงานหลายสิบประเทศทั่วโลก แล้วหันไปยกระดับกดดันจีน หลังปักกิ่งเคลื่อนไหวตอบโต้อย่างไม่เกรงกลัวใดๆ
การกลับลำของทรัมป์ เกิดขึ้นไม่ถึง 24 ชั่วโมงหลังจากมาตรการรีดภาษีสูงลิ่วรอบใหม่เริ่มมีผลบังคับใช้กับบรรดาคู่หูการค้าหลักของอเมริกา ในขณะที่มาตรการดังกล่าวก่อความผันผวนอย่างรุนแรงในตลาดการเงิน หนักหน่วงที่สุดนับตั้งแต่ช่วงวันแรกของโรคระบาดใหญ่โควิด-19 กัดเซาะมูลค่าตลาดของตลาดหุ้นไปหลายล้านล้านดอลลาร์ และนำมาซึ่งการดีดตัวขึ้นอย่างไม่มั่นคงของผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ดูเหมือนจะไปเตะตาทรัมป์ กระตุ้นให้ทบทวนพิจารณาใหม่
"เมื่อคืนนี้ ผมเห็นผู้คนรู้สึกไม่สบายใจบ้างเล็กน้อย" ทรัมป์ บอกกับพวกผู้สื่อข่าวหลังจากแถลง "ตลาดพันธบัตร เวลานี้สวยงามมาก"
นับตั้งแต่กลับเข้าสู่ทำเนียบขาวในเดือนมกราคม ทรัมป์ขู่ซ้ำๆในการใช้มาตรการลงโทษต่างๆนานาลงโทษคู่หูทางการค้า แต่บางครั้งก็เพิกถอนมาตรการบางส่วนในนั้นในนาทีสุดท้าย แนวทางชักเข้าชักออกของผู้นำสหรัฐฯ สร้างความงงงวยแก่พวกผู้นำโลกและสร้างความสั่นคลอนแก่บรรดาผู้บริหารธุรกิจทั้งหลาย ที่บอกว่าความไม่แน่นอนดังกล่าว ทำให้พวกเขาประเมินสภาพแวดล้อมของตลาดได้อย่างยากลำบาก
ในกรกลับลำล่าสุด ทรัมป์บอกว่าเขาจะระงับมาตรการรีดภาษีอย่างเจาะจงที่กำหนดเล่นงานประเทศอื่นๆเป็นเวลา 3 เดือน เพื่อให้เวลาพวกเจ้าหน้าที่สหรัฐฯเจรจากับประเทศต่างๆที่ร้องขอปรับลดเพดานมาตรการรีดภาษี
อย่างไรก็ตามเขายังคงเดินหน้ากดดันจีน ผู้จัดหาสินค้านำเข้าสหรัฐฯรายใหญ่ที่สุดอันดับ 2 โดย ทรัมป์ บอกว่าจะปรับเพิ่มภาษีสินค้านำเข้าจากจีน เป็น 125% จากระดับ 104% ที่เพิ่งมีผลบังคับใช้เมื่อช่วงเที่ยงคืนที่ผ่านมา(ตามเวลาท้องถิ่น) โหมกระพือสถานการณ์ลุกลามบานปลายของการเผชิญหน้าเดิมพันสูงระหว่าง 2 ชาติเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก หลังจากทั้ง 2 ประเทศ ต่างปรับขึ้นเพดานภาษีตอบโต้กันไปมาซ้ำแล้วซ้ำเล่าในสัปดาห์ที่แล้ว
ความเคลื่อนไหวของทรัมป์ในการระงับรีดภาษีชั่วคราวอย่างเจาะจงเป็นรายประเทศ ไม่ใช่การละเว้นรีดภาษีทั้งหมด เนื่องจากมาตรการเรียกภาษีศุลกากรพื้นฐาน 10% กับสินค้าเกือบทั้งหมดที่นำเข้าสหรัฐฯ จะยังคงมีผลบังคับใช้ต่อไป จากคำยืนยันของทำเนียบขาว ขณะเดียวกันถ้อยแถลงนี้ดูเหมือนจะไม่มีผลกับภาษีที่เรียกเก็บยานยนต์ เหล็กและอลูมีเนียม ที่บังคับใช้ไปก่อนหน้า
มาตรการรีดภาษีของทรัมป์ โหมกระพือแรงเทขายในตลาดหุ้นต่อเนื่องหลายวัน กัดเซาะมูลค่าตลาดของตลาดหุ้นทั่วโลกไปหลายล้านล้านดอลลาร์ และก่อแรงกดดันแก่พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯและดอลลาร์ ซึ่งเป็นกระดูกสันหลังของระบบการเงินโลก
ในวันพุธ(9เม.ย.) ตลาดหุ้นสหรัฐฯดีดตัวขึ้นขานรับข่าวระงับรีดภาษี โดยเอสแอนด์พีพุ่งทะยานถึง 9.5% ส่วนผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอเมริกาแกว่งตัวลงจากที่ปรับขึ้นก่อนหน้านี้ ขณะที่ดอลลาร์ฟื้นตัวเมื่อเทียบกับสกุลเงินปลอดภัยอื่นๆ
อย่างไรก็ตามพวกนักวิเคราะห์บอกว่าการฟื้นตัวอย่างกะทันหันของราคาหุ้น ไม่อาจทำให้ความเสียหายกลับสู่สภาพเดิมได้ทั้งหมด ผลสำรวจพบว่าความเชื่อมั่นภาคธุรกิจชะลอตัวลงและภาคครัวเรือนลดการใช้จ่าย สืบเนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของมาตรการรีดภาษี
สถาบันการเงินโกลด์แมนแซคส์ ปรับลดคาดการณ์เกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย สู่ระดับ 45% หลังทรัมป์กลับลำระงับรีดภาษี ลดลงจากประมาณการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ที่ 65%
สกอตต์ เบสเซนต์ รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ยักไหล่ต่อคำถามเกี่ยวกับความปั่นป่วนในตลาด และบอกว่าการกลับลำกะทันหันเป็นการตกรางวัลบรรดาชาติต่างๆที่ทำตามคำแนะนำของทรัมป์ ที่ยับยั้งใจจากการตอบโต้ เขาบ่งชี้ด้วยว่า ทรัมป์ ใช้มาตรการรีดภาษี สร้าง "อำนาจการต่อรองในระดับสูงสุดแก่ตนเอง"
"นี่มันเป็นยุทธศาสตร์ของเขาตลอดมา" เบสเซนต์บอกกับพวกผู้สื่อข่าว "และคุณอาจถึงขั้นพูดได้ว่า เขาไล่ต้อนจีนเข้าสู่ในจุดที่แย่ๆ พวกเขาตอบโต้ พวกเขาเปิดโปงตนเองให้โลกเห็นว่า พวกเขาเป็นตัวละครที่เลวร้าย"
เบสเซนต์ บ่งชี้เป็นการส่วนตัวว่าการเจรจาเป็นรายประเทศนั้น อาจเป็นการพูดคุยจัดการในประเด็นความช่วยเหลือต่างประเทศและความร่วมมือทางทหาร เช่นเดียวกับประเด็นต่างๆทางเศรษฐกิจ โดย ทรัมป์ ได้พูดคุยกับพวกผู้นำญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ไปแล้ว และคณะตัวแทนจากเวียดนาม มีกำหนดพบปะกับพวกเจ้าหน้าที่สหรัฐฯในวันพุธ(9เม.ย.)
รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ปฏิเสธแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม ในคำถามที่ว่าจะใช้เวลานานแค่ไหน ในการบรรลุการเจรจากับประเทศต่างๆ มากมายกว่า 75 ชาติทั่วโลก ในขณะที่ ทรัมป์ บอกว่าทางออกหนึ่งๆกับจีนนั้น ก็มีความเป็นไปได้เช่นกัน แต่พวกเจ้าหน้าที่บอกว่าพวกเขาวางลำดับความสำคัญพูดคุยกับประเทศอื่นๆก่อน
(ที่มา:รอยเตอร์)