xs
xsm
sm
md
lg

กลุ่มผู้เลี้ยงสุกรร้องนายกฯ ค้านนำเข้าเนื้อหมู-เครื่องใน หลังสหรัฐฯ กดดันทางการค้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ยื่นหนังสือถึงนายกฯ คัดค้านการนำเข้าสุกรและเครื่องในสุกรจากสหรัฐฯ เพื่อต่อรองกรณีที่สหรัฐฯ กดดันทางการค้าขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากไทย เสนอทางแก้ นำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และกากถั่วเหลืองแทน จากผลผลิตในประเทศไม่เพียงพอ ชี้ลดมูลค่าการขาดดุลการค้าได้ถึง 8.4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ

วันนี้ (8 เม.ย.) ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล ตรงข้ามทำเนียบรัฐบาล สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ และเครือข่ายผู้เลี้ยงสุกร รวมตัวกันเพื่อยื่นหนังสือถึง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ 3 รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง เพื่อยื่นหนังสือข้อเสนอเพื่อแก้ปัญหาตามประกาศคำสั่งกำหนดภาษีนำเข้าต่างตอบแทนของสหรัฐอเมริกากับประเทศไทย เพื่อไม่ให้รัฐบาลเสนอให้นำเข้าสินค้าเนื้อสุกรและชิ้นส่วนเครื่องในจากสหรัฐอเมริกา ที่จะสร้างปัญหาให้กับผู้เลี้ยงสุกรของไทย หลังจากเผชิญปัญหาโรคอหิวาแอฟริกาในสุกรในช่วงปี 2563-2565 และปัญหาการลักลอบนำเข้าสินค้าสุกรอย่างมากในช่วงปี 2564 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็น 2 วิกฤตการณ์ที่รุนแรงที่สุดสำหรับอุตสาหกรรมสุกรไทย โดยขอให้นำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และกากถั่วเหลือง ที่ผลผลิตในประเทศไม่เพียงพอ ที่สามารถลดมูลค่าการขาดดุลการค้าของสหรัฐกับไทยได้ถึง 84,000 ล้านบาทโดยไม่กระทบกับเกษตรกรผู้เพาะปลูกพืชผลทางการเกษตรที่เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ ซึ่งจะเป็นการลดแรงกดดันในการเพิ่มภาษีนำเข้าต่างตอบแทนที่สหรัฐอเมริกาประกาศใช้กับประเทศไทยสูงถึง 36 เปอร์เซ็นต์ ที่จะสามารถลดลงสู่อัตราปกติได้ เพื่อไม่ให้กระทบการส่งออกของไทยไปสหรัฐ กับทุกกลุ่มอุตสาหกรรม โดยมีนายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และนายโสภัชย์ ชวาลกุล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์

นายสิทธพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า สาระสำคัญในการยื่นหนังสือ เพื่อขอคัดค้านการเปิดให้นำเข้าสุกรจากสหรัฐอเมริกาเข้ามายังประเทศไทย เพราะมองว่าจะเป็นการทำลายคนเลี้ยงไทย หลังสหรัฐฯ กดดันไทยด้วยการประกาศขึ้นภาษี ขณะเดียวกัน ขอคัดค้านการนำเข้าสุกรจากสหรัฐอเมริกา เพราะปัจจุบันประเทศไทยมีการเลี้ยงสุกรที่เพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศอยู่แล้ว แม้ปัจจุบันต้นทุนการเลี้ยงสุกรไทยสูงกว่าสหรัฐฯ เนื่องจากต้นทุนอาหารสัตว์ไทยสูงกว่า แต่มีคุณภาพและปลอดภัยสูงกว่า เพราะอาหารสัตว์ของสหรัฐฯ อาจมีสารเร่งเนื้อแเดงจนส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค หากรับประทานสะสมทุกวัน ฉะนั้นหากมีการนำเข้าสุกรจากสหรัฐ จะทำให้ผู้เลี้ยงสุกรไทยกว่า 200,000 รายได้รับผลกระทบ และทำให้ระบบผู้เลี้ยงสุกรไทยได้รับผลกระทบด้วย

ทั้งนี้ เพื่อให้รัฐบาลทำงานง่ายขึ้น หลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ใช้อำนาจตามกฎหมาย เพื่อแก้ปัญหาการขาดดุลของสหรัฐฯ โดยหวังลดการขาดดุลทางการค้ากับนานาประเทศ ฉะนั้นแค่เราหันมาซื้อสินค้าเขามากขึ้น การใช้มาตรการทางภาษีศุลกากร ก็น่าจะปรับมาในอัตราปกติได้ โดยเราอาจจะเปลี่ยนแหล่งกำเนิดพืชอาหารสัตว์ มาซื้อจากสหรัฐฯ มากขึ้น ก็จะทำให้การเจรจาของรัฐบาลไทยยิ่งขึ้น ซึ่งสมาคมฯ ได้ศึกษาข้อกฎหมายในการประกาศดังกล่าว ที่เป็นการเร่งแก้ปัญหาการขาดดุลทางการค้าของประเทศของสหรัฐฯ ซึ่งข้อเสนอในการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าวสาลี กากถั่วเหลือง และ DDGS เพิ่มในลักษณะเปลี่ยนถิ่นกำเนิดของการนำเข้าเป็นสหรัฐอเมริกา ที่สามารถเพิ่มมูลค่าทางการค้าให้กับสหรัฐฯ ในการส่งสินค้ามายังประเทศไทยได้เป็นจำนวนถึง 84,000 ล้านบาท หรือ 2,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี ตามข้อเสนอของสมาพันธ์ปศุสัตว์และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำฯ ฉบับลงวันที่ 25 ก.พ. 2568

"การแก้ปัญหาดังกล่าว จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องไม่สร้างผลกระทบให้กับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมใดๆ ในประเทศ โดยประเภทสินค้าที่สมาพันธ์ปศุสัตว์และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ได้นำเสนอจะไม่เป็นการสร้างผลกระทบให้กับเกษตรกรผู้เพาะปลูกพืช เพราะเป็นการนำเข้าในจำนวนที่ผลผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศเท่านั้น การยื่นข้อเสนอของสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ มีแนวทางแก้ปัญหาการเกินดุลกับสหรัฐฯ ตามแนวทางเดียวกับสมาพันธ์ปศุสัตว์และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำฯ โดยขอให้รัฐบาลละเว้นการพิจารณาที่จะนำเข้าสินค้าสุกร ทั้งเนื้อสุกรและเครื่องในเข้ามายังประเทศไทย ที่จะสร้างปัญหาให้กับผู้เลี้ยงสุกรของไทย หลังจากเผชิญปัญหาโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ในช่วงปี 2563-2565 และปัญหาการลักลอบนำเข้าสินค้าสุกร อย่างมากในช่วงปี 2564 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็น 2 วิกฤตการณ์ที่รุนแรงที่สุดสำหรับอุตสาหกรรมสุกรไทย สินค้าสุกรของประเทศไทย เป็นอุตสาหกรรมอาหารโปรตีนหลักของประเทศ ที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาล ตั้งแต่รองรับพืชผลทางการเกษตรวัตถุดิบอาหารสัตว์ อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ เวชภัณฑ์สุกร และธุรกิจที่เกี่ยวข้องอย่างมากมาย มีมูลค่าทางเศรษฐกิจต่อปีทั้งระบบกว่า 3 แสนล้านบาทต่อปี" นายสิทธพันธ์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น