xs
xsm
sm
md
lg

รัฐบาลถึงเวลา แก้เกมสหรัฐ ก่อนจีดีพีไทยวูบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



รัฐบาลถึงเวลา แก้เกมสหรัฐ ก่อนจีดีพีไทยวูบ

ยิ่งนานวันเริ่มมีกระแสกดดันมายังรัฐบาลไทยอย่างต่อเนื่อง ภายหลังผู้นำสหรัฐอเมริกาเล่นเกมแรงด้วยการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าประเทศไทยถึง 36% ล่าสุด นายยรรยง ไทยเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานวิจัยเศรษฐกิจและความยั่งยืน ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC) แสดงความคิดเห็นว่า ไทยจะได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและอ้อม สำหรับผลกระทบทางตรง คือ การส่งออกไทยอาจจะลดลงเนื่องสหรัฐฯ หันไปนำเข้าจากประเทศคู่แข่งที่ขายราคาถูกและมีภาษีนำเข้าต่ำกว่าไทย และสหรัฐฯ อาจลดนำเข้าจากทุประเทศ เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐก็ได้รับผลกระทบจากนโยบายนี้ด้วย ทั้งนี้ไทยพึ่งสหรัฐฯ สูงถึง 18% โดยสินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ คอมพิวเตอร์ ผลิตภัณฑ์ยาง โทรศัพท์

นายยรรยง กล่าวว่า ส่วนผลกระทบทางอ้อม ส่งออกไทยกระจุกตัวในประเทศที่ถูกตั้งกำแพงภาษีสูง เนื่องจากประเทศคู่ค้า จีน อาเซียน ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรปในสัดส่วนที่สูงเช่นกัน ดังนั้นการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักของไทยกลุ่มนี้ หรือเกิดการแข่งขันในตลาดส่งออกโลกสูงขึ้น รวมทั้งบางประเทศคู่ค้าอาจหันไปนำเข้าจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเพื่อลดการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ จึงอาจนำเข้าสินค้าไทยน้อยลง นอกจากนี้ ยังเกิดภาวะรอดูไปก่อน หรือ Wait & See ของการลงทุนในไทยจากความไม่แน่นอนของนโยบายภาษีสหรัฐฯ โดยเฉพาะจีน

ทั้งนี้ SCB EIC ประเมินอัตราภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ที่ไทยและประเทศคู่ค้าสหรัฐฯ ทั่วโลกต้องเผชิญจะมีแนวโน้มต่ำกว่าที่ประกาศในวันที่ 2 เมษายน หากประเทศนั้น ๆ สามารถแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมทางการค้ากับสหรัฐฯ ได้ เช่น พยายามลดการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี การประกาศสงครามการค้าของสหรัฐฯ ครั้งนี้จะเป็นความเสี่ยงด้านต่ำสำคัญของเศรษฐกิจไทย จะส่งผลกดดันให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2568 ปรับลดลงจากประมาณการเดิมของ SCB EIC ที่ 2.4% อย่างมีนัยสำคัญ

ดังนั้น ประเทศไทยจึงควรให้ความสำคัญเร่งเจรจาลดผลกระทบครั้งนี้ โดยอาจเน้นจาก 3 ประเด็นหลักของไทย ได้แก่ 1.ลดการเกินดุลการค้ากับสหรัฐ โดยนำเข้าสินค้าบางประเภทจากสหรัฐฯ มากขึ้น หรือ ลดอัตราภาษีนำเข้าบางสินค้าของสหรัฐ 2.ลดมาตรการกีดกันการค้าที่ไม่ใช่ภาษี เช่น เกณฑ์ห้ามนำเข้าสินค้าบางชนิด เกณฑ์มาตรฐานสินค้าเกษตร และ 3.แก้ไขปัญหาอื่น ๆ ที่อาจเป็นประโยชน์ต่อสหรัฐฯ และไทยเองก็ได้ประโยชน์ด้วย เช่น การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา สิทธิเสรีภาพของแรงงาน ตลอดจนการพิจารณาลงทุนเพิ่มเติมในสหรัฐฯ

ด้าน นายศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ขณะนี้ไม่มีประเทศใดที่เจรจากับสหรัฐเมริกา หลังประกาศขึ้นภาษีสำเร็จสักประเทศ ไม่ว่า อินเดีย ญี่ปุ่น เป็นต้น ในส่วนของประเทศไทยก็คิดว่าการเจรจาก่อนจะเป็นทางที่ดีเช่นกัน ทิศทางนโยบายการขึ้นภาษีของสหรัฐ นายพันศักดิ์ วิญญรัตน์ ประธานคณะที่ปรึกษานโยบายนายกรัฐมนตรี ประเมินว่า นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานธิบดีสหรัฐ มีความตั้งใจจะเปลี่ยนโลก เปลี่ยนสถานะของอเมริกาให้ไม่เหมือนเดิม สะท้อนจากการประกาศนโยบายภาษีศุลกากร เมื่อวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา ที่จะเก็บภาษีศุลกากรจากทุกประเทศในโลกทั้ง 180 ประเทศ

“ดังนั้น เวลาเราจะสู้ศึก ต้องรู้เขา รู้เรา ดังนั้น เขาคือสหรัฐที่ตั้งใจจะเปลี่ยนโลกเปลี่ยนประเทศ เปลี่ยนอเมริกา อย่างประเทศอังกฤษ เป็นพันธมิตรมายาวนาน นายทรัมป์ก็ได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 ระหว่างการเยือนอังกฤษแล้วก็ตาม แต่อังกฤษเกินดุลการค้ากับสหรัฐสูง ก็โดนเก็บภาษี 10%เช่นกัน” นายศุภวุฒิ กล่าว

นายศุภวุฒิ มองว่า ถ้ารีบไปเจรจาตามที่หลายฝ่ายแนะนำ ก็เท่ากับให้ของฟรีกับสหรัฐหมด โดยไม่ได้อะไรตอบแทนเลย เพราะฉะนั้น เราควรเก็บกระสุนไว้ก่อน ขณะเดียวกันก่อนหน้าก็ไม่มีใครรู้ได้เลยว่า สรุปแล้วนายทรัมป์จะออกนโยบายแบบไหน จะไปเจรจาก่อนหน้ากับ กระทรวงการคลังสหรัฐ กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐ หรือสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา (USTR) ก่อนก็ไม่มีใครตอบคำถามได้

"ดังนั้น ไทยเราจะเปลืองตัวไปทำไม กลับมาคิดว่าจะรับมืออย่างไรดีกว่า โดยจากการวิเคราะห์ของรัฐบาล สรุปสาเหตุที่สหรัฐขึ้นภาษีว่า 1.การขาดดุลการค้า ทำให้สหรัฐเสียเปรียบ 2.เงินที่ได้มาจากการขึ้นภาษี นายทรัมป์จะนำไปโปะการขาดดุลงบประมาณของสหรัฐ ที่เกิดจากนโยบายการขยายอายุการลดภาษีให้คนรวยในสหรัฐ และ 3.คือต้องการให้เกิดการกลับไปตั้งโรงงานและผลิตสินค้าที่อเมริกา นายทรัมป์คิดที่จะปิดประเทศตัวเองจากโลกภายนอก และอยู่ด้วยตัวเอง ในแนวคิด ผลิตเองใช้เองรวยเอง" นายศุภวุฒิ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น