ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในวันจันทร์(7เม.ย.) ประกาศกร้าวไม่มีแผนระงับมาตรการรีดภาษีอย่างกว้างขวาง ที่มีกำหนดบังคับใช้ในช่วงปลายสัปดาห์นี้ พร้อมกับขู่เล่นงานสินค้านำเข้าจากจีน เรียกเก็บภาษีรวมแล้วเป็น 104% ในความพยายามสกัดการแก้แค้นจากปักกิ่งและจากมหาอำนาจอื่นๆ
คำเตือนล่าสุดของทรัมป์ มีขึ้น 1 วันหลังจากทำเนียบขาวต้องรุดออกมาปกป้องตนเองอีกรอบ ต่อสงครามการค้าระดับโลกที่กำลังลุกลามบานปลาย แต่กระนั้นประธานาธิบดีรายนี้ยืนกรานว่าเขาจะไม่ยอมอ่อนข้อแก่รัฐบาลชาติต่างๆที่ส่งเสียงเรียกร้องให้บรรเทามาตรการลงโทษทางภาษี ในขณะที่ตลาดต่างๆถูกปกคลุมไปด้วยความวุ่นวายและความสับสน
"เราไม่ได้มองในเรื่องนั้น" ทรัมป์กล่าว เมื่อถูกถามเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการระงับมาตรการรีดภาษีของเขา "เราจะทำแบบครั้งเดียวจบในเรื่องนี้ และไม่มีประธานาธิบดีคนไหนๆจะทำในสิ่งที่ผมกำลังทำ"
ประธานาธิบดีสหรัฐฯเริ่มต้นวันด้วยการวางแนวรอบใหม่ในสิ่งที่เขาเรียกว่ามาตรการรีดภาษีตอบโต้ ซึ่งเขามีแผนกำหนดเล่นงานบางประเทศหลังผ่านเที่ยงคืนในวันพุธ(9เม.ย.) มาตรการรีดภาษีนี้ ซึ่งอาจพุ่งแตะระดับสูงสุด 46% สำหรับบางประเทศ จะมีผลบังคับใช้ไม่กี่วันหลังจาก ทรัมป์ กำหนดมาตรการรีดภาษีขยักแรกขั้นต่ำ 10% กับบรรดาคู่หูทางการค้าของสหรัฐฯเกือบทั้งหมด อันมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันเสาร์(5เม.ย.)
ทรัมป์ ล็อคเป้าเจาะจงเล่นงานจีน ซึ่งแถลงเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ว่าพวกเขาจะเอาคืนสหรัฐฯ ด้วยการกำหนดมาตรการรีดภาษีตอบโต้แบบทัดเทียมกัน 34% กับสินค้านำเข้าจากอเมริกา โดยในทรัสต์โซเชียล สื่อสังคมออนไลน์ของเขาเอง ทางประธานาธิบดีสหรัฐฯขู่ให้ปักกิ่งถอนมาตรการรีดภาษีตอบโต้ ไม่อย่างนั้นจะเจอการรีดภาษีเพิ่มเติม 50% เริ่มตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน นอกจากนี้แล้วเขายังขู่ระงับการเจรจาใดๆด้วย
การยกระดับคำขู่นี้อาจทำให้สหรัฐฯรีดภาษีสินค้านำเข้าจากจีนรวมเป็น 104% แม้สินค้าบางอย่าง มีความเป็นไปได้ว่าอัตราภาษีอาจสูงกว่านั้นมาก สืบเนื่องจากมาตรการรีดภาษีที่ถูกกำหนดเล่นงานตั้งแต่ครั้งที่ทรัมป์ดำรงตำแหน่งสมัยแรก และเมื่อวรวมกันแล้ว มันอาจก่อต้นทุนสูงลิ่วสำหรับผู้นำเข้าทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นด้านเสื้อผ้า โทรศัพท์มือถือ สารเคมีและเครื่องจักรจากจีน ในขณะที่เมื่อปีที่แล้ว พวกผู้บริโภคอเมริกา ซื้อสินค้าจากจีน คิดเป็นมูลค่ากว่า 440,000 ล้านดอลลาร์ จนทำให้ปักกิ่งกลายเป็นแหล่งนำเข้าหลักอันดับ 2 ของสหรัฐฯ รองจากเม็กซิโกเท่านั้น
ประธานธิบดีทรัมป์ ไม่ได้แค่ขีดเส้นตายขู่เล่นงานจีนเท่านั้น เขายังขู่รีดภาษีเพิ่มเติมกับบรรดาคู่ค้าหลักรายอื่นๆของสหรัฐฯ หากว่าชาติต่างๆเหล่านั้นตอบโต้กลับนโยบายของเขาแบบเดียวกัน อย่างไรก็ตามคำเตือนของเขาดูเหมือนจะไม่อาจสกัดเสียงต่อต้านบางส่วน ในนั้นรวมถึงจากสหภาพยุโรป ที่มีรายงานว่าพวกเจ้าหน้าที่กำลังเตรียมการส่งต่อรายการสินค้าต่างๆของสหรัฐฯ ที่จะอยู่ภายใต้มาตรการรีดภาษีตอบโต้เร็วๆนี้
ท่ามกลางสัญญาณความผิดหวังของนักลงทุนต่อมาตรการรีดภาษี มีข่าวลือหลุดออกมาในวันจันทร์(7เม.ย.) บ่งชี้ว่าประธานาธิบดีทรัมป์ อาจระงับสงครามการค้า ความเคลื่อนไหวที่จุดชนวนการดีดตัวขึ้นของตลาดหุ้น อย่างไรก็ตามวอลล์สตรีทดิ่งลงกลับอย่างรวดเร็วอีกครั้ง หลังจากทำเนียบขาวออกมาชี้แจงว่าไม่มีแผนระงับรีดภาษีใดๆ
อย่างไรก็ตามพวกเจ้าหน้าที่รัฐบาลดูเหมือนจะเปิดประตูสำหรับการเจรจา ที่ท้ายที่สุดแล้วอาจนำมาซึ่งการปลดชนวนสงครามการค้า อ้างถึงข้อเท็จจริงที่ว่ามีมากกว่า 50 ชาติ ในนั้นรวมถึง อิสราเอล, ญี่ปุ่น และ เวียดนาม ติดต่อมายังรัฐบาลสหรัฐฯในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา เพื่อขอเจรจาบรรลุข้อตกลง
กระนั้นพวกเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาว ขีดเส้นไว้ในระดับสูงในสิ่งที่ประธานาธิบดีจะเปิดใจยอมรับข้อเสนอนั้นๆ ความเคลื่อนไหวที่แสดงให้เห็นถึงท่าทีที่เปลี่ยนไป หลังจากก่อนหน้านี้ ทรัมป์และเหล่าผู้ช่วยของเขา ส่งสัญญาณในเบื้องต้นว่าพวกเขาจะไม่ต่อรองใดๆเกี่ยวกับมาตรการรีดภาษี
"ถ้าพวกเขามาหาเราพร้อมกับข้อตกลงที่ยอดเยี่ยม ที่มอบความได้เปรียบแก่พวกผู้ผลิตอเมริกาและเกษตรกรอเมริกา ผมมั่นใจว่าเขาจะรับฟัง" เควิน แฮสเซตต์ ผู้อำนวยการสภาเศรษฐกิจแห่งชาติของทำเนียบขาวให้สัมภาษณ์กับฟ็อกซ์นิวส์
ปีเตอร์ นาวาร์โร ที่ปรึกษาระดับอาวุโสด้านการค้าของทำเนียบขาว พูดอย่างเจาะจงว่ามีบางประเทศจำเป็นต้องดำเนินการมากกว่าที่เป็นอยู่ ในการลดระดับเพดานภาษีของตนเอง เพื่อรับประกันการผ่อนปรนจากสหรัฐฯ อ้างถึงความจำเป็นต้องลดการโกงและอุปสรรคทางการค้าอื่นๆที่ไม่ใช่ภาษี ที่กำหนดเล่นงานสินค้าอเมริกาในตลาดโลก
สเตฟาน ไมราน หัวหน้าคณะที่ปรึกษาสภาเศรษฐกิจของทำเนียบขาว บอกว่าสหรัฐฯจะอ้าแขนรับข้อเสนอจากต่างชาติด้วยความยินดี และประธานาธิบดี "พูดอย่างชัดเจนว่า เราต้องการเพิ่มการเข้าถึงตลาดในต่างแดน ที่จะช่วยส่งเสริมการส่งออกของเรา"
(ที่มา:นิวยอร์กไทม์ส)