“ภาษีศุลกากรทรัมป์” ยังคงตามเขย่าตลาดการเงินทั่วโลกในวันจันทร์ (7 เม.ย.) ต่อเนื่องจากเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยที่ประมุขสหรัฐฯแสดงท่าทียืนกรานแข็งกร้าวว่าแผนการสะท้านเศรษฐกิจโลกของตนนั้นถูกต้องและได้ผล รวมทั้งขู่ว่าต่างชาติจะต้องยอมจ่าย “มโหฬาร” หากจะให้อเมริกายกเลิกมาตรการภาษีซึ่งตัวเขาเองบอกว่าเป็น “ยา” เพื่อแก้ปัญหา ทางด้านจีนเรียกร้องนานาชาติร่วมกันต่อต้านมาตรการภาษีของวอชิงตัน ชี้เป็นการดำเนินการฝ่ายเดียว กีดกันการค้า และข่มเหงรังแกทางเศรษฐกิจ เพื่อสนองประโยชน์ของตัวเองและผลักภาระให้ประเทศอื่น
ในวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (6 เม.ย.) ขณะอยู่บนเครื่องบินประจำตำแหน่ง แอร์ฟอร์ซ วัน เพื่อเดินทางจากฟลอริดากลับสู่ทำเนียบขาว ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของอเมริกา ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่า เขาไม่กังวลที่เงินหลายล้านล้านดอลลาร์ ไหลออกจากตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลก “เพราะบางครั้งคุณก็ต้องใช้ยาเพื่อแก้ปัญหาบางอย่าง”
ทั้งนี้ ตลาดหุ้นพากันร่วงอย่างรุนแรงในการซื้อขายวันพฤหัสบดี (3) และวันศุกร์ (4) สืบเนื่องจากความหวาดผวาว่า มาตรการขึ้นภาษีศุลกากรอย่างแรงเอากับประเทศคู่ค้าแทบทุกรายทั่วโลกที่เขาประกาศออกมาตอนเย็นวันพุธ (2) จะทำให้เกิดสงครามการค้าบานปลายในระดับทั่วโลก อัตราเงินเฟ้อพุ่งพรวด และเศรษฐกิจพากันถดถอยทั่วพื้นพิภพ
ผู้นำสหรัฐฯยังโวว่า ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาได้พูดคุยกับผู้นำหลายประเทศทั้งจากยุโรปและเอเชีย ซึ่งต่างหวังจะโน้มน้าวให้ตนลดภาษีศุลกากรตอบโต้ ที่ใช้กับประเทศของพวกเขา โดยที่ทรัมป์ยืนยันว่า จะไม่มีการตกลงเรื่องดังกล่าวเว้นแต่ประเทศเหล่านั้นยอมจ่ายเงินจำนวนมากให้อเมริกาทุกปี มาตรการ“ภาษีศุลกากรทรัมป์”นี้ ขยักแรกซึ่งเป็นการขึ้นเอากับสินค้านำเข้าจากต่างประเทศแทบทั้งหมดในอัตรา 10% รวดนั้น มีผลบังคับตั้งแต่วันเสาร์ (5) ขณะที่การเก็บในอัตราสูงกว่านั้นจากหลายสิบประเทศลดหลั่นกันไป เช่น จีน 34% และสหภาพยุโรป 20 % นั้น จะมีผลบังคับใช้วันพุธ (9 เม.ย.) นี้
มาตรการภาษีของทรัมป์ถูกประณามจากนานาประเทศ โดยที่จีนได้ประกาศตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีเอากับสินค้าอเมริกันนำเข้าในอัตรา 34% เท่ากัน มีผลบังคับใช้วันพฤหัสฯ (10 ) ซึ่ง หลิง จี้ รัฐมนตรีช่วยพาณิชย์จีน ระบุเมื่อวันอาทิตย์ว่า เพื่อดึงสติให้อเมริกากลับสู่ระบบการค้าพหุภาคี และสำทับว่า ต้นตอปัญหาที่แท้จริงคืออเมริกาเอง
ต่อมาในวันจันทร์ หลิน เจี้ยน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน กล่าวระหว่างการแถลงข่าวตามวาระปกติ โจมตี“ภาษีศุลกากรทรัมป์”อีกคำรบว่า มาตรการดังกล่าวเป็นการดำเนินการตามอำเภอใจฝ่ายเดียว กีดกันการค้า และเป็นการข่มเหงรังแกทางเศรษฐกิจ เพื่อสนองประโยชน์ของตนเองและผลักภาระให้ประเทศอื่น
โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนยังเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ร่วมกันคัดค้านการดำเนินการของอเมริกา รวมทั้งปกป้องระบบการค้าพหุภาคีตามค่านิยมของสหประชาชาติและองค์การการค้าโลก
ท่าทียืนกรานท้าทายไม่มีผ่อนปรนของทรัมป์ บวกกับการประกาศตอบโต้ของจีน กลายเป็นปัจจัยหลักซึ่งทำให้ราคาหุ้นในการซื้อขายวันจันทร์ (7) ของตลาดแถบเอเชียพากันไหลรูดต่อ
นายกรัฐมนตรีชิเกรุ อิชิบะของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นหนึ่งในพันธมิตรใกล้ชิดที่สุดในเอเชียของวอชิงตัน แถลงต่อรัฐสภาเมื่อวันจันทร์ว่า กำลังพยายามทำข้อตกลงกับทรัมป์ แต่อาจต้องใช้เวลา
ทว่าดูเหมือนนักลงทุนรอไม่ไหว ดัชนีนิกเกอิในตลาดโตเกียววันจันทร์ดิ่งลง 7.8% ต่ำที่สุดในรอบ 1 ปีครึ่ง นำโดยหุ้นกลุ่มธนาคาร
แม้แต่ตลาดหุ้นจีนที่ปกติแล้วจะไม่เคลื่อนไหวตามกระแสโลก กลับปรากฏว่า ดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตร่วงไป 7.3% ขณะที่ดัชนีฮั่งเส็งของฮ่องกงตก 13.2% และดัชนีไทเอ็กซ์ของตลาดหุ้นไต้หวันดิ่ง 9.7%
ราคาน้ำมันในตลาดโลกรูดต่อเช่นเดียวกัน โดยราคาน้ำมันในตลาดนิวยอร์กขยับลง 2.03% อยู่ที่ 59.96 ดอลลาร์ และน้ำมันดิบชนิดเบรนท์ในตลาดลอนดอนลดลงเท่ากัน อยู่ที่ 63.55 ดอลลาร์
ด้านตลาดหุ้นยุโรปดิ่งตามเอเชียตั้งแต่เปิดการซื้อขายในวันจันทร์ ขณะที่สัญญาซื้อขายล่วงหน้าในตลาดนิวยอร์กก็พากันร่วงต่อเช่นกัน หลังจากทั้งดัชนีเอสแอนด์พี 500, ดาวโจนส์ และแนสแด็กตกยกเซ็ตเมื่อวันศุกร์ (4) และกลายเป็นวิกฤตการณ์เลวร้ายที่สุดในตลาดนิวยอร์กนับจากช่วงโควิดระบาด
ในยุโรปนั้น พวกรัฐมนตรีสหภาพยุโรป ที่ยังเถียงกันไม่จบว่า จะรับมือภาษีศุลกากรของทรัมป์อย่างไรโดยไม่ทำให้บริษัทและผู้บริโภคยุโรปเจ็บหนักกว่าเดิมนั้น นัดประชุมเพื่อหาแนวทางร่วมกันในวันจันทร์
ส่วนที่อเมริกา ธนาคารเพื่อการลงทุนรายบิ๊ก โกลด์แมน แซคส์ปรับเพิ่มแนวโน้มที่อเมริกาจะเข้าสู่ภาวะถดถอยภายใน 12 เดือนเป็น 45% ขณะที่ แบงก์ยักษ์ใหญ่ เจพี มอร์แกนประเมินว่า ภาษีศุลกากรจะทำให้อัตราเติบโตของสหรัฐฯ ติดลบ 0.3% จากที่คาดไว้ก่อนหน้านี้ว่า จะขยายตัว 1.3%
บิลล์ แอคแมน มหาเศรษฐีและผู้จัดการกองทุนที่เคยรับรองการลงสมัครเลือกตั้งประธานาธิบดีของทรัมป์ ออกมาเรียกร้องทรัมป์ให้พักมาตรการภาษีศุลกากรเพื่อหลีกเลี่ยง “ฤดูหนาวนิวเคลียร์ทางเศรษฐกิจ” พร้อมเตือนว่า ทรัมป์กำลังสูญเสียความเชื่อมั่นในหมู่ผู้นำธุรกิจทั่วโลก
ขณะเดียวกัน ทั้งนักลงทุนและผู้นำทางการเมืองกำลังคิดหนักว่า ภาษีศุลกากรของทรัมป์เป็นส่วนหนึ่งของระบบการค้าถาวรใหม่ หรือเป็นแค่กลยุทธ์การต่อรองเพื่อเอาชนะประเทศอื่นๆ
ทางด้านที่ปรึกษาเศรษฐกิจสำคัญของทรัมป์พร้อมใจออกทีวีเพื่อตอกย้ำว่า มาตรการภาษีเป็นการปรับเปลี่ยนจุดยืนของอเมริกาในระเบียบการค้าโลก
เริ่มจากสกอตต์ เบสเซนต์ รัฐมนตรีคลัง ที่อวดว่า กว่า 50 ประเทศเริ่มต้นเจรจากับอเมริกานับจากที่ทรัมป์ประกาศมาตรการภาษีเมื่อกลางสัปดาห์ที่แล้ว ขณะที่โฮเวิร์ด ลุตนิก รัฐมนตรีพาณิชย์ บอกว่า ภาษีศุลกากรจะบังคับใช้ “อีกหลายวันและหลายสัปดาห์”
ปีเตอร์ นาวาร์โร ที่ปรึกษาด้านการค้าของทำเนียบขาว ย้ำคำพูดของทรัมป์ก่อนหน้านี้ว่า นักลงทุนไม่ควรตื่นตระหนก เนื่องจากแนวทางด้านการค้าของคณะบริหารสหรัฐฯ จะส่งให้ตลาดหุ้นเฟื่องฟูที่สุดแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นก่อน
(ที่มา: รอยเตอร์/เอพี/เอเอฟพี)