xs
xsm
sm
md
lg

'แพทองธาร' ตื่นแล้ว แถลงรับมือภาษีสหรัฐ ย้ำทุกคนจะไม่โดดเดี่ยว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



'แพทองธาร' ตื่นแล้ว แถลงรับมือภาษีสหรัฐ ย้ำทุกคนจะไม่โดดเดี่ยว

นับตั้งแต่ผู้นำสหรัฐฯประกาศมาตรการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศไทย 36% ดูเหมือนว่ารัฐบาลจะเด้งรับต่อสถานการณ์นี้ล่าช้าพอสมควร ถ้าเทียบกับผู้นำในภูมิภาคใกล้เคียงกัน ทำให้เริ่มมีเสียงวิจารณ์ว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับการผลักดันร่างกฎหมายกาสิโนมากกว่าปัญหาเศรษฐกิจ

นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคประชาชน ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กแสดงความเห็นว่า นายกฯบอกว่า ไม่ต้องเป็นห่วง แต่ยังงงๆ ว่าใครจะเป็นผู้นำเจรจา นายกฯบอกว่าเป็น อ.พันธุ์ศักดิ์ แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังบอกจะไปเอง ส่วนประธานคณะทำงานของเรื่องนี้ คือ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์บอกโทรหาอเมริกา แต่ยังไม่ติด

"นายกฯบอกว่าเป็น อ.พันธุ์ศักดิ์ แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง บอกจะไปเอง ส่วนประธานคณะทำงานของเรื่องนี้ คือ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์บอกโทรหาอเมริกา แต่ยังไม่ติด ล่าสุด เตรียมตั้งทูตประจำวอชิงตันดีซี เป็นหัวหน้าคณะเจรจา ขอร้องเถอะค่ะ ภาษี 36% จะเริ่ม 9 เมษายนนี้ ช่วยตั้งสติ แล้วสื่อสารให้ชัด คนที่จะเดือดร้อนไม่ใช่แค่ผู้ส่งออก แต่รวมเกษตรกร แรงงานในอุตสาหกรรม sme ที่อยู่ใน supply chain อีกหลายล้านชีวิต ช่วยแสดงให้เห็นหน่อยว่ามุ่งมั่นจริงจัง ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอันดับหนึ่ง"

เช่นเดียวกับ นายสันติธาร เสถียรไทย ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจแห่งอนาคต สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กแสดงความคิดเห็นพร้อมข้อเสนอแนะ โดยระบุว่า สิ่งแรกที่รัฐบาลควรทำทันทีคือ การตั้ง “War Room ด้านการค้าระหว่างประเทศ” ในระดับชาติ มีนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกฯ ที่กำกับเศรษฐกิจเป็นประธาน ดู-สั่ง-ประสานงานข้ามกระทรวงได้เพราะสิ่งที่อเมริกาอาจอยากได้จากไทยอาจไม่ใช่แค่เรื่องสินค้า-ภาษีเท่านั้น แต่เกี่ยวพันกับเศรษฐกิจ การลงทุน การเงิน-ธนาคาร เทคโนโลยี ความมั่นคง และการทูตในระดับโลก

แม้วันนี้การเจรจาอาจจะดูสายไปแล้วในสายตานักวิเคราะห์หลายคนแต่ส่วนตัวมองว่า เป็นไปได้ที่ประตูการเจรจายังไม่ปิดและอาจต้องมีต่อเนื่องอีกหลายรอบและร่วมมือกับประเทศอาเซียนในการเจรจาเป็นกลุ่ม ให้เสียงดังขึ้น และต่อรองได้มากขึ้น นโยบายอเมริกาคราวนี้มาเพื่อให้ประเทศต่างๆ แยกกันต่างเอาตัวรอด แต่เราควรใช้โอกาสนี้พยายามรวมตัวมากขึ้นกว่าเดิม

ส่วนท่าทีล่าสุดจากรัฐบาลนั้นนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ออกแถลงการณ์ เรื่อง ท่าทีของประเทศไทกับนโยบายการค้าของสหรัฐอเมริกา โดยระบุตอนหนึ่งว่า สำหรับสิ่งที่เราจะสื่อสารกับรัฐบาลสหรัฐฯก็คือ ประเทศไทยไม่ใช่แค่ผู้ส่งออกเท่านั้น แต่เราคือพันธมิตรและหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่สหรัฐฯเชื่อถือได้ในระยะยาว โดยขณะนี้ รัฐบาลได้สรุปข้อเสนอเชิงนโยบายต่างๆ เช่นการเพิ่มการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ในด้านพลังงาน อากาศยาน และ สินค้าเกษตร โดยประเทศไทยมีแผนที่จะสร้างความร่วมมือกับภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และกลุ่มอื่นๆ ที่มีส่วนได้เสียสำคัญในระบอบประชาธิปไตยของสหรัฐฯ ซึ่งมีรายละเอียดในนโยบายอีกมาก โดยขอให้มั่นใจว่าข้อเสนอเหล่านี้ ล้วนแต่คำนึงถึงประโยชน์ของประเทศไทยเหนือสิ่งอื่นใด นอกจากนี้ประเทศไทย จะมีการเจรจา เรื่องการส่งเสริมการลงทุนของไทยในสหรัฐฯและลดเงื่อนไขการนำเข้าที่เป็นอุปสรรครวมไปถึงการปราบปราม การสวมสิทธิถิ่นกำเนิดสินค้าที่ใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่านไปยังสหรัฐฯ

"ดิฉันขอให้คำมั่นว่า ทุกท่านไม่ได้โดดเดี่ยว ไม่ได้ต่อสู้เพียงลำพัง รัฐบาลจะมีมาตรการเยียวยาเร่งด่วนในระยะสั้น และระยะยาวเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการทั้ง SME และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ได้รับผลกระทบ โดยการเร่งขยายตลาดส่งออกใหม่ๆ อีกทั้งยังจะเป็นการกระจายความเสี่ยงของภาคธุรกิจไทย ที่เรามุ่งมั่นที่จะเจรจาการค้า ในการเปิดตลาดใหม่ๆ ในตะวันออกกลาง ยุโรป และ อินเดีย โดยจะเร่งเจรจาการค้า FTA ให้เร็วยิ่งขึ้นท้ายนี้ ดิฉันขอเรียนว่าในวันอังคารที่ 8 เมษายนนี้ หลังจากประชุมสรุปกับคณะกรรมการและทุกหน่วยงานอีกครั้งหนึ่ง จะสรุปแนวทางเพื่อผลประโยชน์ของประเทศไทยเป็นสำคัญ"
กำลังโหลดความคิดเห็น