เป็นไปตามคาดหมายกับการที่ ประธานาธิบดี “โดนัลด์ ทรัมป์” ของสหรัฐอเมริกา ที่แถลงเมื่อวันพุธที่ 2 เมษายน ว่าจะเก็บภาษีพื้นฐาน 10% สำหรับสินค้าทั้งหมดที่นำเข้าสหรัฐฯ และบวกเพิ่มสำหรับอีกหลายสิบชาติ รวมถึงคู่ค้าหลักของอเมริกาบางประเทศ โดยไทยโดนเก็บภาษีสูงถึง 36% มากกว่าหลายประเทศในเอเซีย และอีกหลายประเทศทั่วโลก
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า มาตรการรีดภาษีอย่างครอบคลุมครั้งนี้ จะเป็นการตั้งกำแพงใหม่สำหรับสหรัฐอเมริกา ในขณะเดียวกันมีการคาดหมายว่าบรรดาประเทศต่างๆ ที่ถูกขึ้นภาษีการค้าครั้งนี้ จะมีมาตรการตอบโต้ของตนเองออกมา
“นี่คือการประกาศเอกราชของเรา” ทรัมป์ กล่าว ณ กิจกรรมหนึ่ง ณ สวนกุหลาบของทำเนียบขาว เจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวรายหนึ่ง ซึ่งไม่ประสงค์เอ่ยนาม บอกว่าบทลงโทษที่สูงขึ้น จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 เมษายน และจะครอบคลุมทั้งหมด ราวๆ 60 ประเทศ แต่มาตรการรีดภาษีพื้นฐาน 10% จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันเสาร์ (5 เม.ย.)
อย่างไรก็ดี มีปฏิกิริยาออกมาหลังจากนั้นไม่นาน จากนายกรัฐมนตรี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร โดยได้ออกแถลงการณ์แสดงท่าทีของประเทศไทยต่อเรื่องดังกล่าว โดยเธอพร้อมที่จะเจรจากับทางฝ่ายสหรัฐ ขณะเดียวกันยังได้เสนอแนะให้ภาคเอกชนของไทย และภาคราชการไทย แสวงหาตลาดใหม่ๆ แทนที่จะหวังพึ่งพาตลาดสหรัฐเป็นหลัก เพื่อลดความเสี่ยง
โดยในแถลงการณ์ตอนหนึ่งของเธอระบุว่า การประกาศปรับขึ้นภาษีนำเข้าของรัฐบาลสหรัฐฯ ย่อมส่งผลกระทบต่อประเทศคู่ค้าทุกรายอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก โดยเฉพาะต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคสหรัฐฯ ที่อาจไม่สามารถรับกับราคาสินค้าที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและในระดับสูงได้ ดังนั้น ในระยะยาว ผู้ประกอบการส่งออกไทยควรมองหาตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ เพื่อลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาตลาดเดียว ซึ่งรัฐบาลไทยได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในเรื่องนี้ และได้วางมาตรการรองรับในการเยียวยาและบรรเทาผลกระทบที่อาจมีต่อผู้ประกอบการส่งออกของไทยที่มีตลาดสหรัฐฯ เป็นตลาดหลัก
รัฐบาลขอเรียนว่า ไทยได้ส่งสัญญาณความพร้อมที่จะหารือกับรัฐบาลสหรัฐฯ ในโอกาสแรก เพื่อปรับดุลการค้าให้เกิดความเป็นธรรมกับทั้งสองฝ่าย โดยส่งผลกระทบต่อภาคส่วนที่เกี่ยวข้องให้น้อยที่สุด โดยได้มอบหมายให้คณะทำงานนโยบายการค้าสหรัฐอเมริกาที่แต่งตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2568 ก่อนที่ประธานาธิบดีทรัมป์ จะเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ ทำงานร่วมกับภาครัฐและเอกชนในการติดตามและประเมินสถานการณ์ความเคลื่อนไหวต่างๆ อย่างใกล้ชิดและรอบด้าน ตลอดระยะเวลา 3 เดือน เพื่อจัดเตรียม “ข้อเสนอเพื่อปรับดุลการค้ากับสหรัฐฯ ที่มีสาระสำคัญเพียงพอให้สหรัฐฯ มีแรงจูงใจที่จะเข้าสู่กระบวนการเจรจากับไทย” ที่เหมาะสม และส่งผลกระทบต่อเกษตรกร ผู้บริโภค และผู้ประกอบการในภาคส่วนที่เกี่ยวข้องน้อยที่สุด ในขณะเดียวกัน ไทยยังอาจใช้โอกาสนี้ในการปรับโครงสร้างการผลิต ลดต้นทุน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระยะยาวให้กับบางอุตสาหกรรมได้
ก่อนหน้านี้ เธอได้ให้สัมภาษณ์แสดงความมั่นใจถึงมาตรการรองรับ และเยียวยาความเสียหาย พร้อมกับย้ำว่า เราต้องปรับโครงสร้างภาษีนำเข้ากับสหรัฐฯ และตั้งคณะทำงานเรื่องการเจรจาต่อรองกับสหรัฐอเมริกา ในส่วนของการปรับโครงสร้างภาษี เวลาเรานำเข้าไม่ได้เป็นสินค้าที่มากมายอะไร แต่พอเก็บภาษีแพงก็ทำให้ไทยโดนเป็นอันดับต้นๆ 36% ซึ่งก็สูงพอสมควร เราถึงได้มีการเตรียมทั้งแผนระยะสั้น ระยะยาว โดยระยะสั้นต้องดูว่าเราสามารถคุยเจรจาต่อรอง เพื่อช่วยผู้ประกอบการที่ส่งออก จะเยียวยาหรือช่วยอะไรได้บ้าง ขณะนี้กระทรวงการคลังและกระทรวงพาณิชย์ กำลังหาข้อสรุปให้ เพราะตัวเลข 36% เพิ่งออกมา
พร้อมทั้งย้ำว่า มาตรการต่างๆ ได้เตรียมความพร้อมไว้แล้ว ทั้งมาตรการเบื้องต้น และสิ่งที่กำลังจะคุยกันต่อ และที่จริงตัวเลขเฉลี่ยภาษีอยู่ที่ 9% แต่มีจำกัดว่าแต่ละประเภทสินค้าไม่ให้เกินเท่าไหร่ เช่น ข้าวโพดไม่ให้เกินเท่าไร จึงมีการนำตัวเลขนั้นมาเป็นค่าเฉลี่ย ซึ่งเป็นวิธีการคำนวณที่ไม่เคยมี ถึงต้องมาดูว่าสามารถบาลานซ์ อะไรได้บ้าง ซึ่งเมื่อเช้านี้ก็ได้มีการพูดคุยกับนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง หลังมีตัวเลขออกมา แต่จริงๆ แล้ว ก็มีการพูดคุยกันมาสักพักแล้ว โดยเฉพาะเรื่องการตั้งทีมเจรจา จึงไม่ต้องเป็นห่วงในเรื่องนี้ โดยตอนนี้อยู่ในการดูแลของปลัดกระทรวงพาณิชย์ และปลัดกระทรวงการคลัง
ส่วนความรู้สึกของภาคเอกชน โดยนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ยอมรับว่า รู้สึกประหลาดใจกับตัวเลขภาษีดังกล่าว ซึ่งมากกว่าที่คาดการณ์เกือบ 2-3 เท่า จากเดิมที่มีการคาดว่าค่าเฉลี่ยจากการขึ้นภาษีครั้งนี้จะมีส่วนต่างเพียง 11% ซึ่งจะมีผลกระทบราว 7-8 พันล้านดอลลาร์ หรือ คิดเป็น 2-3 แสนล้านบาท ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องเร่งมาหารือเพื่อวางแผน หามาตรการในการรับมือ แก้ไข และบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้น
อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่ากังวล คือผลกระทบทางอ้อม เนื่องจากหลายประเทศถูกปรับขึ้นภาษีในระดับที่สูงมาก เช่น จีน ที่ถูกขึ้นภาษีถึง 54% ขณะที่มีอีกหลายประเทศที่ถูกขึ้นภาษีสูงกว่าไทย ดังนั้น ความน่ากลัวจากนี้ คือ สินค้าราคาถูกที่จะส่งออกไปยังสหรัฐฯ ไปไม่ได้ ไม่ใช่แค่จากจีนเท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายประเทศที่มีสินค้าราคาถูกประเภทเดียวกัน เช่น เวียดนาม และอินเดีย ตรงนี้อาจจะทะลักเข้ามาในประเทศไทย ดังนั้น จึงต้องมาเร่งปรึกษากันว่าจะทำอย่างไรไม่ให้ผลกระทบทางอ้อมตรงนี้เข้ามากระทบกับภาคอุตสาหกรรมของไทยที่กำลังแย่อยู่ในเวลานี้
เมื่อพิจารณาจากผลกระทบและแนวโน้มในอนาคตแล้วถือว่าน่ากังวลเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจของบ้านเรา ที่ถือว่า “ย่ำแย่” อยู่แล้ว จะยิ่งหนักไปกว่าเดิม โดยเฉพาะผลกระทบในเรื่อง “ปากท้อง” เป็นลูกโซ่ และที่สำคัญก็คือ “ความเชื่อมั่น” ที่มีต่อตัวผู้นำคือ นายกรัฐมนตรี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ในเวลานี้ยิ่งตกต่ำลงเรื่อยๆ หลังจากที่เธอเข้ามาบริหารบ้านเมืองมาได้เกินครึ่งปีแล้ว แต่กลายเป็นว่าคนไทยไม่ได้รับรู้ถึงความรู้ความสามารถ ไม่ว่าในสถานการณ์วิกฤต หรือว่าในภาวะปกติ ถูกมองว่าขาดความรู้ความเข้าใจ ทำให้ยิ่งน่าเป็นห่วงขึ้นไปอีก
เมื่อวกกลับมาที่เรื่องเศรษฐกิจ เวลานี้ไทยกำลังเผชิญกับปัญหา ภาวะการขยายตัวที่ต่ำ ตัว “เครื่องยนต์หลัก” ในการขับเคลื่อนเริ่มมีปัญหา เช่น การ “ท่องเที่ยว” ที่ล่าสุดกลายเป็นว่า “ตัวเลขไม่เข้าเป้า” ตามรายงานระบุว่า เริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นมาแล้ว และเมื่อต้องเจอกับมาตรการการขึ้นภาษีนำเข้าตอบโต้จากสหรัฐฯ ซ้ำเติมเข้ามาอีก ทำให้ยิ่งน่าเป็นห่วง เพราะทั้งสองตัวคือ ท่องเที่ยว และการส่งออก เป็น “รายได้หลัก” ที่สุดทางเศรษฐกิจของไทย
มีการคาดการณ์กันว่า หากทางการไทยไม่มีมาตรการในการรับมือที่ดีพอ โอกาสที่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือจีดีพี ในปีนี้ อาจจะมีอัตราขยายตัวต่ำกว่า ร้อยละ 2 ก็เป็นไปได้ หากการเจรจาไม่ได้เกิดขึ้นในเร็ววัน หรือการเจรจาไม่ประสบผลสำเร็จ
ดังนั้น เวลานี้ถือว่าประเทศไทยกำลังเริ่มเจอมรสุมทางเศรษฐกิจลูกใหญ่ เข้าอย่างจัง และถือว่ารับมือยากเสียด้วย เพราะอำนาจการต่อรองของเขามีน้อย หรือแทบจะกลายเป็น “เบี้ยล่าง”เลยก็ว่าได้ ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาจากความเชื่อมั่นในตัวผู้นำประเทศ อย่างน.ส.แพทองธาร ชินวัตร แล้ว ยิ่งทำให้หลายคนมองอย่างหวั่นวิตกว่าจะไปรอดหรือไม่ หากพิจารณาจากวิธีการบริหารงานที่ผ่านมา!!