คณะกรรมการ กสทช. 4 คน เตรียมทำหนังสือให้นายกฯ กราบบังคมทูล "นพ.สรณ" ประธาน กสทช. พ้นจากตำแหน่ง เหตุผลสอบ กมธ.ของวุฒิสภา พบไม่ได้ลาออกหน่วยงานรัฐ หนำซ้ำรับงานอื่นต่อ ไม่ปฏิบัติงานเต็มเวลา ฝ่าฝืน พ.ร.บ.องค์การฯ ต้องพ้นจากตำแหน่ง
วันนี้ (3 เม.ย.) รายงานข่าวแจ้งว่า คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) 4 คน ประกอบด้วย พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ, ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต, รศ.ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย และ รศ.ดร.สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ ได้เตรียมทำหนังสือถึง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อขอได้โปรดดำเนินการเพื่อนำความกราบบังคมทูลทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์ (นพ.) สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ พ้นจากตำแหน่งประธาน กสทช. พร้อมเอกสารสำเนารายงานการสอบหาข้อเท็จจริง กรณีขอความอนุเคราะห์ตรวจสอบคุณสมบัติของ นพ.สรณ โดยคณะกรรมาธิการการเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และการโทรคมนาคม วุฒิสภา
ด้วยข้อเท็จจริงปรากฏว่า นพ.สรณ ประธาน กสทช. มีลักษณะเป็นผู้ที่ขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งกรรมการ กสทช. ตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ พ.ศ. 2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (พระราชบัญญัติองค์กรฯ) ซึ่งคณะกรรมาธิการฯ ได้ตรวจสอบและรายงานผลแล้ว เมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2567 ซึ่ง กสทช. เสียงข้างมากจำนวน 4 คน ได้ร่วมกันพิจารณาแล้วมีความเห็นเป็นเอกฉันท์ จึงเสนอนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติองค์กรฯ ตามมาตรา 5 พิจารณาดำเนินการนำความกราบบังคมทูล เพื่อมีพระบรมราชโองการให้ นพ.สรณ พ้นจากตำแหน่งตามที่กฎหมายบัญญัติ ซึ่งจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าวโดยเคร่งครัด เพื่อมิให้เกิดความเสียหายใดๆ
สำหรับสาระสำคัญของเรื่องดังกล่าว ระบุว่า โดยที่พระราชบัญญัติองค์กรฯ ได้กำหนดบทบัญญัติที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของกรรมการ กสทช. ไว้ตามมาตรา 7 และมาตรา 8 โดยตามมาตรา 7 ข. (12) เป็นหรือเคยเป็นกรรมการ ผู้จัดการ ผู้บริหาร ที่ปรึกษา พนักงาน ผู้ถือหุ้น หรือหุ้นส่วนในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนหรือนิติบุคคลอื่นใดบรรดาที่ประกอบธุรกิจด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ หรือกิจการโทรคมนาคมในระยะเวลาหนึ่งปีก่อนได้รับการเสนอชื่อตามมาตรา 15 และมาตรา 8 บัญญัติว่า กรรมการต้อง (1) ไม่เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ (2) ไม่เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจหรือราชการส่วนท้องถิ่นและไม่เป็นกรรมการหรือที่ปรึกษาของรัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐ (3) ไม่ประกอบอาชีพหรือวิชาชีพอิสระอื่นใดที่มีส่วนได้เสียหรือมีผลประโยชน์ขัดแย้งไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยอ้อมกับการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งกรรมการ
กำหนดขั้นตอนโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ตามมาตรา 18 ที่บัญญัติว่า "ผู้ได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาให้เป็นกรรมการซึ่งยังมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 8 (1) (2) หรือ (3) อยู่ ต้องแสดงหลักฐานว่าได้ลาออกหรือเลิกประกอบอาชีพหรือวิชาชีพดังกล่าวแล้วนั้นต่อประธานวุฒิสภาภายในเวลาที่ประธานวุฒิสภากำหนดซึ่งต้องเป็นเวลาก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ในกรณีที่ไม่ได้แสดงหลักฐานภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ถือว่าผู้นั้นสละสิทธิและให้ดำเนินการสรรรหาใหม่ โดยผู้ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาในครั้งนี้จะเข้ารับการสรรหาในครั้งใหม่ไม่ได้ และให้นำความในมาตรา 16 วรรคห้า มาใช้บังคับโดยอนุโลม
และกำหนดขั้นตอนโปรดเกล้าฯ พ้นจากตำแหน่ง ตามมาตรา 20 (4) และ (5) กำหนดเหตุพ้นจากตำแหน่งของกรรมการ กสทช.ไว้ว่า "(4) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 7" "(5) กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 8" ซึ่งการพ้นจากตำแหน่งกรรมการ กสทช. นั้น ตามมาตรา 20 วรรคสองบัญญัติว่า "การพ้นจากตำแหน่งกรรมการตาม (1) (2) หรือ (3) ให้นำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงทราบ ถ้าเป็นการพ้นจากตำแหน่งตาม (4) หรือ (5) ให้นำความกราบบังคมทูลเพื่อมีพระบรมราชโองการให้พ้นจากตำแหน่ง พระบรมราชโองการดังกล่าวให้มีผลตั้งแต่วันที่ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามหรือวันที่กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืน แล้วแต่กรณี" รวมทั้งกำหนดเงื่อนไขการปฏิบัติงานและผู้รักษาการ ตามมาตรา 26 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ให้ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ และกรรมการ ต้องปฏิบัติหน้าที่เต็มเวลา” และ ตามมาตรา 5 ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
ประธานวุฒิสภาได้มอบหมายให้คณะกรรมาธิการฯ ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง ตามที่มีผู้ร้องเรียน นพ.สรณ ประธาน กสทช. ซึ่งคณะกรรมาธิการฯ ได้ตรวจสอบและสรุปผลอันปรากฎข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติแล้ว เห็นว่า นพ.สรณ มิได้ลาออกจากการเป็นพนักงานหน่วยงานของรัฐในเวลาก่อนที่จะนำชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ แต่งตั้งตามที่ประธานวุฒิสภาได้มีหนังสือแจ้ง และเมื่อได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งแล้วก็ยังมิได้ลาออกและยังคงทำหน้าที่ประกอบวิชาชีพอิสระอื่นอยู่ต่อไป อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายและทำให้เป็นบุคคลที่ขาดคุณสมบัติ ตามพระราชบัญญัติองค์กรฯ มาตรา 8 (2) (3) และเป็นผู้สละสิทธิตามมาตรา 18 ประกอบมาตรา 20 (5) และนอกจากนี้ ยังเป็นการมิได้ปฏิบัติงานเต็มเวลา ตามมาตรา 26 อีกด้วย
กรรมการ กสทช. ผู้ที่กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 8 ต้องพ้นจากตำแหน่งกรรมการ กสทช. ตามพระราชบัญญัติองค์กรฯ มาตรา 20 วรรคสอง โดยให้นำความกราบบังคมทูลเพื่อมีพระบรมราชโองการให้พ้นจากตำแหน่ง พระบรมราชโองการดังกล่าวให้มีผลตั้งแต่วันที่ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามหรือวันที่กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืน แล้วแต่กรณี