xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์” คุ้ย “ไชน่า เรลเวย์-ซินเคอหยวน" เจอเครือข่าย 37 บริษัทมีเอี่ยว ส่ง DSI จัดการต่อ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



คณะกรรมการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาสินค้าและธุรกิจต่างประเทศที่ฝ่าฝืนกฎหมาย ตรวจ 2 บริษัท “ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10-ซิน เคอ หยวน สตีล” ที่เกี่ยวข้องสร้างตึก สตง. ถล่ม พบมีเครือข่ายรวม 37 บริษัท ส่งข้อมูลดีเอสไอสาวต่อแล้ว พร้อมมอบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งข้อมูลที่รับผิดชอบด้วย และขอให้ตรวจสอบ 26 โครงการที่บริษัทนี้และเครือข่ายทำ เพื่อป้องกันความเสียหาย

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาสินค้าและธุรกิจต่างประเทศที่ฝ่าฝืนกฎหมาย ครั้งที่ 4 (2/2568) โดยมีนายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมด้วยผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม เพื่อตรวจสอบนิติบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์อาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถล่ม กรณีมีข้อสงสัยเรื่องนอมินี ว่า จากการตรวจสอบ มีนิติบุคคล 2 รายที่เกี่ยวข้อง คือ บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด มีชาวจีนถือหุ้นสัดส่วน 49% และมีความเชื่อมโยงกับอีก 13 บริษัท และบริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด มีชาวจีนถือหุ้น 80% มีความเชื่อมโยงกับอีก 24 บริษัท รวมทั้งหมดเป็น 37 บริษัท ซึ่งข้อมูลทั้งหมดนี้ ได้ส่งมอบให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เพื่อดำเนินการต่อแล้ว

“อาคารสำนักงาน สตง. ที่ถล่ม ดำเนินการโดยกิจการร่วมค้า ไอทีดี-ซีอาร์อีซี ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด และผลการตรวจสอบ มีวัสดุที่ใช้ก่อสร้างบางส่วนเป็นของบริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด ทำให้สังคมสงสัยว่า ทั้งสองบริษัทนี้เป็นนอมินีหรือไม่ กระทรวงพาณิชย์จึงเข้ามาตรวจสอบ และได้ข้อมูลทั้งหมด และได้ส่งให้ดีเอสไอนำไปตรวจสอบต่อแล้ว”

ทั้งนี้ ที่ประชุมยังมอบให้กรมบัญชีกลาง เข้าตรวจสอบการรับงานของบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด และเครือข่าย ซึ่งที่ตรวจสอบเบื้องต้น พบว่า มีจำนวน 26 โครงการ โดยบางส่วนมีการทิ้งงาน และหากพบความผิดปกติอาจพิจารณาขึ้นบัญชีดำ (Black List) บริษัทที่เกี่ยวข้องต่อไป


นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ดีเอสไอได้รับคดีนี้ เป็นคดีพิเศษแล้ว และทุกหน่วยงานต้องนำข้อมูลทั้งหมดให้ดีเอสไอตรวจสอบ โดยได้มีการดำเนินการ ดังนี้ 1.กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ตรวจสอบ บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด รวมถึงเครือข่าย 13 บริษัท พร้อมป้อนข้อมูลให้ดีเอสไอ 2.สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ตรวจสอบเส้นทางการเงินของบริษัท ผู้ถือหุ้น และผู้เกี่ยวข้อง 3.กรมสรรพากร ตรวจสอบการเสียภาษีของบริษัทและผู้ถือหุ้นทั้งหมด 4.สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ตรวจสอบคุณภาพเหล็กและอุปกรณ์ที่ใช้ก่อสร้าง 5.กรมการจัดหางาน ตรวจสอบใบอนุญาตทำงานของแรงงานต่างด้าว 6.กรมโรงงานอุตสาหกรรม ตรวจสอบโรงงานผลิตเหล็ก 7.กรมที่ดิน ตรวจสอบการถือครองที่ดินของคนไทยและต่างชาติ 8.กรมบัญชีกลาง ตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้าง

นอกจากนี้ ยังขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้า ทั้งกรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงมหาดไทย กรมโยธาธิการ และกระทรวงอุตสาหกรรม เข้าไปตรวจสอบ 26 โครงการ ที่บริษัทรับงาน เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน โดยมูลค่าทั้ง 26 โครงการดังกล่าว ประมาณกว่า 10,000 ล้านบาท และในนี้ มีหนึ่งโครงการมีมูลค่า 9,348 ล้านบาท ที่เหลือเป็นหลักร้อยล้านบาท

สำหรับรายละเอียด 2 บริษัทที่ถูกตรวจสอบ พบว่า บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด จดทะเบียนเมื่อ 10 ส.ค.2561 ทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท สัดส่วนหุ้น ไทย 51% จีน 49% ผลประกอบการปี 2566 ขาดทุนสะสม 208,489,056.67 บาท บริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด จดทะเบียนเมื่อ 23 ก.พ.2554 ทุนจดทะเบียน 1,530 ล้านบาท สัดส่วนหุ้น ไทย 20% จีน 80%

โดยโทษตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 หากพบว่า มีการกระทำผิด จะมีบทลงโทษดังนี้ 1.กรณีคนไทยถือหุ้นแทนชาวต่างชาติ (นอมินี) มีโทษจำคุก ไม่เกิน 3 ปี หรือปรับ 100,000-1,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 2.กรณีคนต่างด้าวดำเนินธุรกิจโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุก ไม่เกิน 3 ปี หรือปรับ 100,000-1,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และ 3.กรณีคนต่างด้าวประกอบธุรกิจต้องห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาต ศาลสามารถสั่งให้เลิกกิจการ หรือเพิกถอนการถือหุ้นได้


กำลังโหลดความคิดเห็น