นักเศรษฐศาสตร์ต่างเห็นตรงกัน หลังประธานาธิบดีสหรัฐฯ รีดภาษีสินค้านำเข้าไปยังสหรัฐฯ กระทบถึงไทยรีดภาษี 36% "สันติธาร เสถียรไทย" แนะตั้งวอร์รูมทีมพิเศษรัฐ-เอกชน ด้าน หน.สำนักเกียรตินาคินภัทร เผยมีทางเลือก "สู้-หมอบ-ทน" ส่วนผู้บริหารสำนักวิจัยซีไอเอ็มบีไทย แนะรับมือจีนสวมสิทธิ์-สินค้าทะลัก หามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ คาด กนง.จ่อลดดอกเบี้ย
วันนี้ (3 เม.ย.) จากกรณีที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา แถลงว่าจะเรียกเก็บภาษีพื้นฐาน 10% กับสินค้าทั้งหมดที่นำเข้าสู่สหรัฐฯ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 5 เม.ย. เพื่อตอบโต้การเก็บภาษีและอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีอื่นๆ ที่ชาติอื่นกำหนดกับสินค้าจากสหรัฐฯ และเรียกเก็บภาษีสูงกว่านั้นกับประเทศอื่นๆ อีกหลายสิบประเทศ โดยสินค้านำเข้าจากจีนจะถูกเรียกเก็บภาษี 34% เพิ่มเติมจากระดับ 20% ส่วนบรรดาพันธมิตรใกล้ชิดของสหรัฐฯ รวมถึงสหภาพยุโรป จะถูกเรียกเก็บภาษี 20% โดยบทลงโทษที่สูงขึ้น จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 เม.ย. ครอบคลุมทั้งหมดราว 60 ประเทศ ซึ่งพบว่าประเทศไทยจะถูกเรียกเก็บภาษี 36% โดยอ้างว่าประเทศไทยเรียกเก็บภาษีและอุปสรรคทางการค้าที่มิใช่ภาษีสูงถึง 72%
นายสันติธาร เสถียรไทย กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของคณะกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก ระบุว่า การประกาศกำแพงภาษีครั้งใหญ่ของสหรัฐฯ เปรียบเสมือนเป็นแผ่นดินไหวช็อกการค้าไปทั้งโลก ทุกประเทศโดนภาษีอย่างน้อย 10% อีก 60 ประเทศโดนภาษีหมัดสวน (reciprocal tariff) ที่ประเทศไทยกระทบถึง 36% สูงกว่าหลายประเทศ มาตรการครั้งนี้อาจจะรุนแรงและซับซ้อน เพราะหลายประเทศอาจเลือกที่จะใช้ไม้แข็งตั้งกำแพงภาษีกลับ สู้กันไปมา ทำให้การค้าโลกโดยรวมทรุดกว่าที่คิด บางประเทศอาจเสี่ยงตกเข้าภาวะเศรษฐกิจถดถอย
เมื่อตลาดอเมริกาจะกลายเป็น เมืองล้อมด้วยกำแพง ที่สินค้าเข้าไม่ได้หรือยากขึ้น ทุกประเทศก็จะคิดคล้ายกัน คือ ส่งออกไปตลาดอื่น การแข่งขันจะเข้มข้นขึ้นทั้งการส่งออกของไทยในตลาดที่สาม และสินค้านำเข้าจากประเทศต่างๆ อาจทะลักเข้ามาในไทยมาขึ้น ส่วนการลงทุนที่ไทยได้จากการหลบเลี่ยงสงครามการค้าระหว่าง จีนและสหรัฐฯ อาจชะงักหรือชะลอ และยังมีความไม่แน่นอนอีกหลายอย่าง ที่จะทำให้ธุรกิจต่างๆ ทั่วโลกต้องหยุดเพื่อรอดู ปรับแผน มีผลลบกับเศรษฐกิจการลงทุนทันที
"สำหรับผมเชื่อว่า นี่คือแผ่นดินไหวทางการค้าโลกที่มีผลกระทบต่อไทยอย่างมาก และมากกว่าที่คนส่วนใหญ่เคยคิดกันแน่นอน ส่วนตัวจึงมองว่าจำเป็นต้องมีวอร์รูมทีมพิเศษ ที่มีทั้งภาครัฐและเอกชนเตรียมรับมือเรื่องนี้ และให้เป็นเรื่องเร่งด่วนพิเศษ ธุรกิจต่างๆ เองก็คงต้องเตรียมรับมือแรงกระแทก และปรับกลยุทธ์หาโอกาสในวิกฤตเช่นกัน เพราะช็อคครั้งนี้อาจไม่ใช่กระแทกระยะสั้น แต่จะมีผลปรับเปลี่ยนเศรษฐกิจการค้าโลกระยะยาวด้วย" นายสันติธาร กล่าว
นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก ระบุว่า งานแรกของรัฐบาลคือต้องไปค้นหาว่าการเรียกเก็บภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ 72% มาจากไหน ทั้งที่ค่าเฉลี่ยภาษีนำเข้าแค่ประมาณ 10% แปลว่าสหรัฐฯ คิดปริมาณของอุปสรรคทางการค้าที่มิใช่ภาษี (Non-Tariff Barrier) เยอะมาก หรือไม่ก็โฟกัสตรงสินค้าที่ไทยคิดภาษีสหรัฐฯ เยอะ เช่น สินค้าเกษตรทั้งหลาย หรือไม่ก็เขียนผิด
ส่วนจากนี้คือเกมเจรจา ไทยน่ามีทางเลือกอยู่สามทาง หรือไม่ก็ผสมผสานของทั้งสามทาง คือ 1. สู้แบบ แคนาดา ยุโรป หรือจีน ซึ่งอาจจะไม่ใช่ทางเลือกที่ดี เพราะไทยพึ่งพาสหรัฐฯ เยอะมาก สหรัฐเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของไทย เกินดุลหลายหมื่นล้านบาทต่อปี แม้ว่ามูลค่าของการเกินดุลจำนวนมาก เป็นสินค้านำเข้าจากจีนที่อาศัยไทยเป็นช่องหลบเลี่ยงก็ตาม
2. เจรจาหาทางลงที่สหรัฐฯ พอใจ (หมอบ) เช่น ปรับลดภาษีที่ไทยเคยเรียกเก็บในอัตราที่สูง ยอมเปิดตลาดที่ปกป้องอยู่ เช่น สินค้าเกษตร ยกเลิกอุปสรรคทางการค้าที่มิใช่ภาษี เช่น การห้ามการนำเข้าเนื้อหมู ค่าตรวจสินค้า และอาจจะต้องนำเสนอทางออกให้สหรัฐฯ เช่น การนำเข้าพลังงาน นำเข้าสินค้าเกษตรเพิ่มเติม นำเข้าสินค้าใหญ่ๆ อย่างเครื่องบิน อาวุธ เครื่องจักร หรือต้องหาทางเพิ่มการลงทุนในสหรัฐฯ และอาจจะต้องเปิดเสรีด้านต่างๆ เช่น บริการทางการเงิน การคุ้มครองสิทธิทางปัญญา ประเด็นสิทธิของแรงงาน
"แน่นอนว่าทางเลือกนี้ นอกจากการเจรจาภายนอกแล้ว ต้องการการเจรจาภายในที่มีประสิทธิภาพ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราควรจะยอมเปิดสินค้าเกษตรแลกกับภาคการส่งออก ใครจะยอมเสียประโยชน์ใครจะได้ประโยชน์และเกมที่ยากที่สุดคือการหาว่าสหรัฐต้องการอะไรจริงๆ เพราะอาจจะไม่ใช่เกมการค้า แต่เป็นเรื่องอื่นอย่างการทหาร ความมั่นคง ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่เราคงต้องอ่านเกมดีๆ และประเมินผลได้ผลเสีย" นายพิพัฒน์ กล่าว
3. ถ้าไทยหาทางออกไม่ได้ ก็คงต้องทน หรือหาแนวร่วมจากประเทศอื่นที่ได้รับผลกระทบเช่นกัน ในการกดดันและเจรจากับสหรัฐฯ เพราะเกมนี้สหรัฐฯ ก็อาจจะเจ็บอยู่ไม่น้อย สุดท้ายอาจจะต้องลดภาษีลงมา ถ้าแรงกดดันในประเทศเพียงพอ แต่การทนและได้แต่หวังแบบไม่มีแผนคงไม่ใช่กลยุทธ์ทางออกที่ดีนัก
นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก ระบุว่า ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ตั้งใจลดการพึ่งพิงจีนและชาติที่ไม่ใช่พันธมิตรโดยแท้ ต้องการให้โรงงานในต่างประเทศย้ายฐานการผลิตกลุ่มชิป เซมิคอนดักเตอร์ โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์และรถยนต์กลับมายังสหรัฐฯ รวมทั้งเตรียมความพร้อมหากเกิดสงคราม เช่นยาและเวชภัณฑ์อื่นๆ อีกทั้งตั้งใจแก้ปัญหาระยะยาว เพราะหากไม่ทำอะไร ประสิทธิภาพการผลิตในสหรัฐฯ จะแย่ลง
ทั้งนี้ ได้เสนอให้ไทยเตรียมแผนรับมือผลกระทบ เช่น การสวมสิทธิจากจีน สินค้าจีนทะลักกระทบภาคการผลิตไทย และหามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ใช่เพียงแจกเงิน แต่ต้องสร้างความเชื่อมั่น สร้างงาน สร้างรายได้ หามาตรการทางการเงินดูแลผู้ได้รับผลกระทบ คาดว่าหากเจรจายากและภาษีเกิดจริง คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อาจลดอัตราดอกเบี้ยลงในรอบวันที่ 30 เม.ย.ที่จะถึงนี้ ส่วน GDP มีโอกาสเติบโตต่ำลง 2% การท่องเที่ยวจะกระทบด้วยเพราะขาดความเชื่อมั่นและกำลังซื้อ