xs
xsm
sm
md
lg

‘ทรัมป์’กำหนดแผนรีด‘ภาษีตอบโต้’พวกประเทศคู่ค้า คาดโดนกันกว้างขวาง เร่งความตึงเครียดทางการค้าให้ยิ่งขยายตัว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กำหนดเปิดเผยแผนรีดภาษีศุลกากรตอบโต้ (reciprocal tariffs) ฉบับใหม่ที่มีเนื้อหากว้างขวางมาก โดยมุ่งเรียกเก็บจากสินค้านำเข้าของบรรดาชาติคู่ค้าของสหรัฐฯอย่างครอบคลุม ณ ทำเนียบขาว ในวันพุธ (2 เม.ย.) เวลา 16.00 น. ตามเวลาภาคตะวันออกของอเมริกา ซึ่งตรงกับ ตอนตี3 วันพฤหัสบดี (3) เวลาเมืองไทย ท่ามกลางการคาดเดาของนานาชาติเกี่ยวกับขนาดขอบเขตของการโจมตีเล่นงานทางเศรษฐกิจอย่างมโหฬารครั้งนี้ ซึ่งอาจจุดชนวนให้เกิดสงครามการค้าในระดับทั่วโลก

ทรัมป์กำหนดจะประกาศมาตรการสะเทือนโลกคราวนี้ โดยมีพวกเจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสในคณะบริหารของเขาขนาบเคียงข้าง ณ สวนกุหลาบ (โรส การ์เดน) ของทำเนียบขาว ในกรุงวอชิงตัน ในช่วงเย็น ซึ่งก็คือหลังจากตลาดวอลล์สตรีทปิดทำการซื้อขายทางกายภาพแล้ว โดยที่เขาบอกกล่าวเอาไว้ก่อนหน้านี้ การขึ้นภาษีคราวนี้เพื่อยุติสภาพที่อเมริกาถูก “เชือดเนื้อเถือหนัง” โดยถูกเอาเปรียบทั้งจากการรีดภาษีและวิธีการกีดกันการค้าต่างๆ ของพวกชาติคู่ค้าทั้งหลายมายาวนาน และจะได้ก้าวสู่ “ยุคทอง” ครั้งใหม่สำหรับอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ

แต่ขณะที่ ทรัมป์ ยืนยันว่าเขาได้ตัดสินใจแล้วในเรื่องใช้ภาษีศุลกากรตอบโต้เพื่อเล่นงานพวกประเทศซึ่งเอาเปรียบสหรัฐฯอยู่ รวมทั้งถึงกับเรียกวันพุธที่จะประกาศเรื่องนี้ว่า เป็น “วันปลดแอก” (Liberation Day) ทว่าทางทำเนียบขาวกลับยอมรับว่าทรัมป์ยังคงอยู่ระหว่างการพิจารณาตัดสินใจเกี่ยวกับรายละเอียดของมาตรการคราวนี้ ถึงแม้เหลือเวลาก่อนการเปิดเผยแผนไม่ถึง 24 ชั่วโมง

แคโรไลน์ ลีวิตต์ เลขานุการฝ่ายสื่อมวลชนของทำเนียบขาว แถลงว่า ทรัมป์กำลังหารือกับพวกที่ปรึกษาระดับท็อปของเขาในช่วงก่อนหน้าการประกาศ เพื่อ “ทำให้มันมีความสมบูรณ์ เพื่อให้แน่ใจว่านี่คือดีลที่สมบูรณ์แบบ”

เวลาเดียวกัน เธอบอกด้วยว่า การขึ้นภาษีศุลกากรตอบโต้ครั้งนี้จะมีผลบังคับใช้ “ในทันที” ภายหลังการประกาศในวันพุธ ซึ่งหมายความว่าจะไม่มีการชักช้ารั้งรอเพื่อเปิดโอกาสสำหรับการเจรจาต่อรองกับประเทศต่างๆ

ทรัมป์ ซึ่งเป็นมหาเศรษฐีผู้ร่ำรวยจากอสังหาริมทรัพย์ก่อนเข้าสู่วงการเมือง ได้ชื่อว่าเป็นผู้หลงใหลชื่นชอบมาตรการขึ้นภาษีศุลกากร มายาวนาน โดยยืนกรานต่อหน้าพวกผู้เชี่ยวชาญทางเศรษฐกิจทั้งหลายว่า มาตรการเช่นนี้เป็นวิธีการรักษาโรคแบบครอบจักรวาลซึ่งอเมริกาสามารถนำมาใช้ในการแก้ไขปัญหาการขาดดุลการค้าไม่ว่ากับชาติที่เป็นเพื่อนมิตรหรือประเทศซึ่งเป็นปรปักษ์

ถึงแม้ความคิดเช่นนี้ถูกพวกนักวิพากษ์วิจารณ์โจมตีว่า มาตรการนี้เมื่อนำมาใช้ในขอบเขตกว้างขวางแล้ว ไม่เพียงทำให้พวกผู้บริโภคอเมริกันต้องซื้อสินค้าแพงขึ้น เนื่องจากเหล่าผู้นำเข้าย่อมส่งผ่านภาระต้นทุนที่สูงขึ้นมายังลูกค้า แต่ยังอาจเพิ่มความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยซึ่งสร้างความเสียหายหนักหน่วงทั้งในสหรัฐฯและในต่างแดน

ตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกนั้น อยู่ในสภาพปั่นป่วนอลหม่านในช่วงหลายๆ วันทำการก่อนหน้ากำหนดการประกาศในคราวนี้ของทรัมป์ เวลาเดียวกันพวกประเทศซึ่งน่าที่จะตกเป็นเป้าถูกเล่นงานจากสหรัฐฯมากก็ที่สุดก็ออกมาเรียกร้องให้เจรจาหารือกัน ถึงแม้พวกเขาก็แสดงความพรักพร้อมที่จะดำเนินการตอบโต้เอาคืนด้วยเช่นกัน

ขณะที่กำหนดเวลาประกาศแผนการนี้ขยับใกล้เข้ามาเรื่อยๆ สื่อมวลชนในสหรัฐฯก็รายงานข่าวเกี่ยวกับรายละเอียดของมาตรการนี้ไปในทิศทางต่างๆ โดยที่มีบางรายบอกว่าทรัมป์กำลังพิจารณาจะใช้วิธีขึ้นภาษีศุลกากรกับคู่ค้าทุกชาติเท่ากันหมดในอัตรา 20%

แต่ก็มีสื่ออื่นๆ เป็นต้นว่าสำนักข่าวรอยเตอร์ซึ่งอ้างอิงแหล่งข่าวที่เป็นอดีตเจ้าหน้าที่ด้านการค้าในทีมงานทรัมป์ตอนเป็นประธานาธิบดีสมัยแรก ที่ให้ความเห็นว่ามีความเป็นไปได้มากกว่าที่ทรัมป์จะประกาศขึ้นภาษีศุลกากรหลายๆ อัตราโดยพิจารณาแยกไปทีละประเทศ และอัตราที่จะขึ้นก็น่าจะต่ำกว่าที่ระบุกัน

แต่อดีตเจ้าหน้าที่ผู้นี้กล่าวต่อไปว่า ประเทศซึ่งจะต้องเจอภาษีคราวนี้น่าจะมากกว่าประมาณ 15 ประเทศ อย่างที่รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ สกอตต์ เบสเซนต์ ได้เคยพูดเอาไว้ก่อนหน้านี้ โดยที่ในตอนนั้น เบสเซนต์กล่าวว่า คณะบริหารทรัมป์มุ่งโฟกัสที่ 15 ชาติดังกล่าว สืบเนื่องจากประเทศพวกนี้คือผู้ได้เปรียบดุลการค้าสหรัฐฯสูงที่สุด

ในอีกด้านหนึ่ง รอยเตอร์ยังรายงานข่าวโดยอ้าง ส.ส.เควิน เฮิร์น จากรีพับลิกัน เป็นผู้เปิดเผยว่า เมื่อวันอังคาร (3) เบสเซนต์ ได้บอกกับพวก ส.ส.ของพรรครีพับลิกันว่า ภาษีศุลกากรตอบโต้ที่จะประกาศนี้ เป็นตัวแทน “เพดาน” หรืออัตราภาษีศุลกากรสูงสุดที่สหรัฐฯอาจเรียกเก็บจากพวกประเทศคู่ค้า โดยที่อัตรานี้สามารถที่จะลดต่ำลงมาได้ ถ้าหากประเทศนั้นๆ ดำเนินการตามความเรียกร้องต้องการของคณะบริหารทรัมป์

นอกจากนั้น รอยเตอร์ยังอ้างความเห็นของ ไรอัน เมเจอรัส ที่เป็นอดีตเจ้าหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ซึ่งกล่าวว่า การขึ้นภาษีศุลกากรแบบอัตราเดียวใช้บังคับทั่วไปหมด จะสะดวกแก่การนำมาบังคับใช้มากกว่า เมื่อพิจารณาจากลำดับเวลาที่ตึงตัวอย่างมาก รวมทั้งน่าจะทำให้จัดเก็บเงินภาษีได้สูงกว่าอีกด้วย ทว่าภาษีศุลกากรตอบโต้แบบมุ่งใช้กับแต่ละประเทศก็มีข้อดี ตรงที่จะเป็นการตอบโต้กับการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมของแต่ละประเทศได้อย่างถูกต้องเหมาะสมกว่า

“แต่ไม่ว่าจะเป็นทางไหน ผลกระทบจากการประกาศในวันนี้ ก็จะมีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมต่างๆ อย่างกว้างขวางแน่นอน” เป็นความเห็นของ เมเจอรัส ซึ่งปัจจุบันเป็นหุ้นส่วนรายหนึ่งในสำนักงานกฎหมายคิง แอนด์ สะแพลดิง

(ที่มา: เอเอฟพี/รอยเตอร์)
กำลังโหลดความคิดเห็น