พวกเจ้าหน้าที่ของสหประชาชาติ ซึ่งลงพื้นที่สำรวจความเสียหายจากแผ่นดินไหวในพม่า เรียกร้องประชาคมนานาชาติในวันอังคาร(1เม.ย.) ให้ยกระดับความช่วยเหลือก่อนฤดูฝนมาถึง ที่อาจซ้ำเติมสถานการณ์ที่เข้าขั้นหายนะอยู่ก่อนแล้ว ด้วยยอดผู้เสียชีวิตเวลานี้พุ่งแตะ 2,719 คนและคาดหมายว่าจะเกิน 3,000 นาย ในไม่ช้า
มาร์โคลุยจิ คอร์ซี รักษาการผู้ประสานงานฝ่ายมนุษยธรรมและหัวหน้าสำนักงานประจำสหประชาชาติในพม่า กล่าวหลังจากลงพื้นที่เกิดเหตุเป็นเวลา 2 วัน ว่าน้ำดื่ม สุขอนามัย อาหาร ที่พักพิงและยา คือสิ่งจำเป็นสำคัญที่สุดในตอนนี้ ตามหลังเกิดความเสียหายอย่างกว้างขวางต่ออาคารจำนวนมาก ท้องถนนและสะพานหลายแห่ง
"แน่นอนว่า เรายังคงมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ในการเข้าถึงผู้คนในพม่า ที่ต้องการความช่วยเหลือ" สเตฟาน ดูจาร์ริช โฆษกของสหประชาชาติระบุ "และเราต้องลงมืออย่างรวดเร็ว เพื่อมอบการบรรเทาทุกข์ ก่อนหน้าฤดูมรสุมจะมาถึง ซึ่งแน่นอนว่า มันจะทำให้วิกฤตอันน่ากลัวนี้เลวร้ายลงไปอีก"
สงครามกลางเมืองในพม่า ทำให้ประชาชนมากกว่า 3 ล้านคนต้องไร้ถิ่นฐานตั้งแต่ก่อนหน้าแผ่นดินไหว ในขณะที่ จูเลีย บิชอป ทูตพิเศษด้านพม่าของสหประชาชาติ เรียกร้องทุกฝ่ายหยุดยิงในทันที เปิดทางให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเข้าถึง และรับประกันความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม
กลุ่มความช่วยเหลือต่างๆในพม่า เตือนว่าประตูของการค้นพบผู้รอดชีวิตนั้น แคบลงไปทุกที
พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้ปกครองทหารของพม่า บอกว่ายอดผู้เสียชีวิตจากแผ่นดินไหวระดับ 7.7 เมื่อวันศุกร์(28มี.ค.) แตะระดับ 2,719 คน จนถึงเช้าวันอังคาร(1เม.ย.) ท่ามกลางความคาดหมายว่าจะพุ่งผ่านหลัก 3,000 คน ในขณะที่พบผู้ได้รับบาดเจ็บแล้ว 4,521 รายและอีก 441 คนสูญหาย "ในหมู่ผู้สูญหาย สันนิษฐานว่าส่วนใหญ่เสียชีวิตแล้ว มีโอกาสน้อยมากที่พวกเขาจะมีชีวิตอยู่"
แผ่นดินไหว ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเวลาตอนกลางวันของวันศุกร์(28มี.ค.) ถือเป็นครั้งรุนแรงที่สุดที่สั่นสะเทือนพม่าในรอบกว่า 100 ปี มันทำให้เจดีย์โบราณหักโค่นและอาคารสมัยใหม่ทั้งหลายก็ไม่ต่างกัน นอกจากนี้แล้วมันยังก่อความเสียหายอย่างหนักในมัณฑะเลย์ เมืองอันดับ 2 ของพม่า และกรุงเนปีดอว์
หน่วยงานต่างๆของสหประชาชาติเผยว่าโรงพยาบาลล้นไปด้วยผู้ได้รับบาดเจ็บ และความพยายามกู้ได้ถูกเหนี่ยวรั้งจากความเสียหายทางโครงสร้างพื้นฐานและสงครามกลางเมือง โดยที่พวกกบฏกล่าวหากองทัพยังคงเดินหน้าปฏิบัติการโจมตีทางอากาศ แม้กระทั่งหลังเกิดแผ่นดินไหว และแม้กระทั่งพันธมิตรกบฏหลักกลุ่มหนึ่งในวันอังคาร(1เม.ย.) ได้ประกาศหยุดยิงแต่เพียงฝ่ายเดียว เพื่อช่วยเหลือความพยายามกู้ภัยก็ตาม
ในไทย รอยเตอร์รายงานว่ายอดผู้เสียชีวิตจากแผ่นดินไหวเพิ่มเป็น 21 คนในวันอังคาร(1เม.ย.) และอาคารหลายร้อยแห่งได้รับความเสียหาย เวลานี้ทีมกู้ภัยยังคงเดินหน้าค้นหาผู้รอดชีวิตที่ติดอยู่ใต้ซากหักพังของอาคารสูงที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างแห่งหนึ่ง ในกรุงเทพฯ ซึ่งพังถล่มลงมาระหว่างเกิดแผ่นดินไหว แต่ยอมรับว่าเวลาของพวกเขาเหลือน้อยแล้ว
รอยเตอร์รายงานว่าภูมิภาคแถบนี้ต้องเผชิญกับอาฟเตอร์ช็อคไปแล้วอย่างน้อย 5 ครั้ง
จูเลีย รีส์ จากองค์กรยูนิเซฟ เปิดเผยวาเธอได้เห็นหลายชุมชนในพม่า พังราบเป็นหน้ากลอง "และแน่นอนว่า วิกฤตินี้ยังคลี่ออกมาไม่หมด การสั่นสะเทือนยังคงเกิดขึ้นไม่หยุด ปฏิบัติการค้นหาและกู้ภัยยังเดินหน้า ร่างไร้วิญญาณถูกดึงออกมาจากซากหักพังอย่างต่อเนื่อง" เธอระบุในถ้อยแถลง "ดิฉันขอพูดให้ชัด ความต้องการความช่วยเหลือนั้นมหาศาล มันเพิ่มขึ้นในทุกชั่วโมง ประตูแห่งการตอบสนองปกป้องชีวิตกำลังปิดตัวลง"
สำนักงานด้านมนุษยธรรมของสหประชาชาติ เผยว่าในพื้นที่มัณฑะเลย์ มีเด็ก 50 คนและครู 2 คน เสียชีวิต หลังอาคารของโรงเรียนเด็กก่อนวัยเรียนพังถล่ม อย่างไรก็ตามพอมีข่าวดีที่หาได้ยากมากๆอยู่บ้าง เมื่อหญิงชราวัย 63 ปี ซึ่งติดอยู่ใต้ซากนานกว่า 91 ชั่วโมง ถูกดึงออกมาจากซากหักพังของอาคารหลังหนึ่งในกรุงเนปีดอว์ ในวันอังคาร1เม.ย.) ในปฏิบัติการร่วมระหว่างหน่วยดับเพลิงพม่า กับคณะทำงานจากอินเดีย จีนและรัสเซีย
สงครามกลางเมืองของพม่าได้ก่อความยุ่งยากซับซ้อนแก่ความพยายามเข้าถึงพวกผู้ได้รับบบาดเจ็บ ในนั้นรวมถึงควบคุมอินเตอร์เน็ตและเครือข่ายโทรคมนาคมอย่างเข้มงวด
พันธมิตรสามภราดรภาพ (Three Brotherhood Alliance) ของ 3 กลุ่มกบฏหลักที่กำลังทำสงครามกับคณะรัฐประหาร ประกาศในวันอังคาร(1เม.ย. หยุดยิงฝ่ายเดียวเป็นเวลา 1 เดือน เปิดทางให้ความพยายามช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเร่งด่วน สามารถดำเนินการได้อย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
ในถ้อยแถลงในคืนวันอังคาร(1เม.ย.) สำนักข่าว MRTV สื่อมวลชนที่ควบคุมโดยรัฐ อ้างคำกล่าวของ พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย บอกว่ากองทัพได้ระงับปฏิบัติการจู่โจมแล้ว แต่กองทัพชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์บางส่วน ซึ่งเขาไม่เจาะจง กำลังวางแผนฉวยโอกาสจากภัยพิบัติเลวร้ายนี้
"กองทัพทราบว่าพวกเขากำลังรวมตัว ฝึกฝนและเตรียมการสำหรับโจมตี" ถ้อยแถลงระบุ อ้างคำกล่าวของอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ในงานระดมทุนสำหรับเหยื่อแผ่นดินไหว "เรามองมันว่าเป็นการโจมตีเรา และจะตอบโต้อย่างสาสม"
ในกรุงเทพฯ รอยเตอร์รายงานว่าทีมกู้ภัยยังคงพยายามค้นหาสัญญาณชีพในซากหักพังของอาคารสูงที่ยังสร้างไม่เสร็จและพังถล่มลงมา อย่างไรก็ตามพวกเขายอมรับว่า 4 วันหลังจากแผ่นดินไหว โอกาสพบผู้รอดชีวิตเหลือน้อยลงทุกขณะ
เวลานี้ยืนยันผู้เสียชีวิตแล้ว 14 รายในบริเวณที่ตั้งของอาคารสูงที่พังถล่มดังกล่าว และที่อื่นๆในกรุงเทพฯอีก 7 ราย ตามรายงานของรอยเตอร์ พร้อมระบุว่ารัฐบาลกำลังสืบสวนเหตุพังถล่มและผลการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าตัวอย่างเหล็กบางชนิดจากไซต์ก่อสร้าง ไม่ได้มาตรฐาน
คาดหมายว่ายังมีอีก 70 คน ที่ติดอยู่ใต้ซากหักพัง และ 12 คนในนั้น พบตำแหน่งที่อยู่แล้วผ่านการใช้เครื่องสแกน อย่างไรก็ตามการเข้าถึงพวกเขานั้นมีเศษซากขนาดใหญ่ขวางทางอยู่
(ที่มา:รอยเตอร์)