นายกฯ สั่งยุติธรรม-พาณิชย์ ดูเรื่องนอมินีทุนจีนทั้งหมด หลังเหตุสลดโครงการตึก สตง.ถล่ม เล็งให้ดีเอสไอเข้าไปดำเนินการ ด้าน รมช.พาณิชย์ เผยผู้รับจ้างก่อสร้างตึก สตง. พบเกี่ยวพันกับอีก 13 บริษัท
วันนี้ (1 เม.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รมช.พาณิชย์ กล่าวถึงกรณีโครงการก่อสร้างอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ถล่มลงมา เมื่อวันที่ 28 มี.ค. และมีการตั้งข้อสังเกตว่า มีการใช้นอมินีคนไทยถือหุ้น บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด จำนวน 51% ว่า ได้ให้กรรมการชุดใหญ่ ประกอบด้วย รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) กรมสรรพากร ลงไปตรวจสอบโดยใช้อำนาจที่มีอยู่อย่างเต็มที่ ให้ดำเนินการเรื่องนี้และสรุปภายใน 7 วัน ซึ่งในวันนี้ เวลา 13.30 น. จะมีการประชุม
โดยเบื้องต้นพบว่า บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) เกี่ยวพันกับบริษัทอื่นๆ อีกประมาณ 13 บริษัท และทั้งหมดทำงานและรับงานที่ไหนบ้าง จะตรวจสอบและดำเนินการอย่างเข้มข้นตามกฎหมายที่มีอยู่ทุกฉบับ ส่วนสำนักงานบริษัทที่ปิดเงียบเหมือนไม่มีคนอยู่นั้น มีวิธีการดำเนินการในด้านอื่นอยู่ โดยเฉพาะกรมสรรพากร กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) บก.ปอศ. มีวิธีการดำเนินการตามกฏหมาย ที่สามารถลงไปสืบสวนสอบสวนได้โดยไม่จำเป็นต้องพบตัว หรือแม้ว่าจะหลบก็สามารถสรุปได้ว่าบริษัทนี้เป็นนอมินีหรือไม่ รับงานที่ใดบ้าง แล้วเสร็จที่ไหนบ้าง ยังอยู่ระหว่างดำเนินการ เบื้องต้นมีคนไทยถือหุ้น แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าเป็นนอมิหรือไม่ ต้องให้มีข้อเท็จจริงที่สมบูรณ์ก่อน
เมื่อถามว่า หากพบการกระทำผิดเป็นไปได้หรือไม่ที่จะแบล็คลิสต์บริษัทที่เกี่ยวข้อง นายนภินทร กล่าวว่า ดำเนินการตามกฏหมายที่มีอยู่ ทุกข้อหา ทุกฉบับ และ 4 บริษัทที่อยู่ในตึกเดียวกันจะต้องมีการตรวจสอบหมด ส่วนจะมีการสุ่มตรวจบริษัทที่เกี่ยวข้องกับบริษัทดังกล่าว และบริษัทที่เข้าข่ายมีคนไทยเป็นนอมินีอื่นๆ อีกหรือไม่ ได้พยายามทำงานอย่างเต็มที่ในการตรวจสอบ แต่บริษัทมีจำนวนมากกว่า 2 หมื่นบริษัท และตอนนี้เราพูดคุยกับกรมที่ดิน แลกเปลี่ยนข้อมูลกัน กรมที่ดินมีข้อมูลว่าผู้ถือครองมีบริษัทที่ใดบ้าง แต่เขาไม่รู้ว่าผู้ถือครองบริษัทไปเปลี่ยนหุ้นทีหลังหรือไม่ ขณะนี้เรากำลังเชื่อมโยงข้อมูลกับกรมที่ดิน ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงแบบเรียลไทม์ว่าบริษัทไหนถือครองที่ดินและโอนกรรมสิทธิ์ถือหุ้นอย่างไร และใช้อำนาจทุกอย่างที่คณะกรรมการซึ่งนายกรัฐมนตรีตั้งขึ้นมาดำเนินการสืบสวนสอบสวนเพื่อไม่ให้นอมินีนั้นทำให้เกิดความเสียหายต่อประเทศ
ด้าน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม กล่าวว่า น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้กระทรวงยุติธรรมร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ ไปดูเรื่องนอมินีทั้งหมด ซึ่งไม่ใช่เฉพาะเคสนี้ แต่จะดูธุรกิจทั้งหมด ที่คนต่างด้าวดำเนินการ ส่วนกรณี บริษัท ไชน่าเรลเวย์ นัมเบอร์ 10 นั้น ดีเอสไอจะมีการประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อตรวจสอบ เพราะมีบริษัทเครือข่ายเดียวกันกว่า 24 บริษัทว่ามีการกระทำผิดหรือไม่ ทั้งเรื่องการเสียภาษีที่เกี่ยวกับกรมสรรพากร รวมถึงการตรวจสอบในเชิงลึก
โดยมี 3 ประเด็นที่จะเข้าข่ายความผิด ได้แก่ ประเด็นที่ 1 การประกอบธุรกิจบุคคลต่างด้าวที่ใช้นอมินี เท่าที่ดูจากงบการเงินที่เผยแพร่กันอยู่ของบริษัทดังกล่าว ขาดทุนมาตลอด และไม่มีการเสียภาษี อีกทั้งมีการนำเงินของบริษัทไปให้กรรมการกู้จำนวน 2,000 ล้านบาท แม้อำนาจที่แท้จริงจะให้ต่างชาติ 49% คนไทย 51% แต่หากมองในลักษณะมีอำนาจครอบงำ จะเห็นในเรื่องของการบริหาร ดังนั้นจึงต้องเข้าไปดู ประกอบกับการตรวจสอบสถานที่เดียวกัน กลุ่มคนเดียวกัน มีบริษัทในลักษณะนี้ 10 บริษัท ซึ่งต้องดูว่ามีการกระทำใดที่เป็นความผิดใน พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจบุคคลต่างด้าว และเข้าข่ายที่จะให้ดีเอสไอเข้าไปดำเนินการหรือไม่
ประเด็นที่ 2 หากสินค้าไม่ได้มาตรฐานอุตสาหกรรม ดีเอสไอมีอำนาจในการสอบสวน และประเด็นที่ 3 การจัดซื้อจัดจ้าง ที่เรียกว่าฮั้วประมูล หากเกินกว่า 30 ล้านบาทขึ้นไป ดีเอสไอก็มีอำนาจเข้าไปตรวจสอบ เพราะเบื้องต้นเห็นว่าต่ำกว่าราคากลางเพียง 1% เท่านั้น ปกติการประมูลที่ไม่มีการแข่งขัน ควรต่ำกว่า 10-15%