อิหร่านคงไม่มีทางเลือกอื่น ยกเว้นแต่มีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครอง หากถูกโจมตีโดยสหรัฐฯและบรรดาพันธมิตร จากคำเตือนของที่ปรึกษารายหนึ่งของผู้นำสูงสุดเตหะรานในวันจันทร์(31มี.ค.) หนึ่งวันหลังจากมีคำขู่มาจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของอเมริกา
ความเห็นนี้มีขึ้นไม่กี่ชั่วโมงหลังจากตัวของ อยาตอลเลาะห์ อาลี คอเมเนอี ผู้นำสูงสุดของอิหร่านเอง ประกาศกร้าวว่าจะตอบโต้กลับ หากว่าผู้นำสหรัฐฯทำตามคำขู่ทิ้งบอมบ์เล่นงานสาธารณรัฐอิสลามแห่งนี้ หากว่าเตหะรานไม่ยอมเห็นพ้องในข้อตกลงควบคุมโครงการนิวเคลียร์
"เราไม่ได้มุ่งหน้าสู่อาวุธนิวเคลียร์ แค่ถ้าคุณทำอะไรผิดๆในประเด็นนิวเคลียร์อิหร่าน คุณจะบีบให้อิหร่านมุ่งหน้าสู่สิ่งนั้น เพราะว่าเราจำเป็นต้องปกป้องตนเอง" อาลี ลาริจารี ที่ปรึกษาของคอเมเนอีให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์แห่งรัฐ "อิหร่านไม่ต้องการทำสิ่งนี้ แต่เราคงไม่มีทางเลือกอื่น" เขาระบุ "ถ้า ณ จุดๆหนึ่งที่สหรัฐฯมุ่งหน้าสู่การทิ้งบอมบ์ด้วยตนเองหรือผ่านอิสราเอล เท่ากับคุณจะบีบอิหร่านให้ตัดสินใจที่ต่างออกไป"
ระหว่างให้สัมภาษณ์ในวันเสาร์(29มี.ค.) ทรัมป์บอกว่า "จะทิ้งบอมบ์ใส่อิหร่าน หากว่าไม่เห็นพ้องกับข้อตกลงนิวเคลียร์ใหม่" ตามรายงานของเอ็นบีซีนิวส์ พร้อมระบุว่าผู้นำสหรัฐฯยังขู่ลงโทษเตหะราน ในสิ่งที่เรียกว่า "รีดภาษีรอง"
คำพูดล่าสุดของทรัมป์เป็นตัวแทนของการยกระดับวาทกรรมเดือดดาลขึ้น แต่ไม่เป็นที่ชัดเจนว่าเขาขู่ใช้เครื่องบินสหรัฐฯทิ้งบอมบ์ใส่อิหร่านเพียงลำพังหรือบางทีอาจปฏิบัติการร่วมกับประเทศอื่น ในนั้นมีความเป็นไปได้ว่าจะเป็น อิสราเอล ศัตรูตัวฉกาจของเตหะราน
"พวกเขาขู่ทำในสิ่งที่ชั่วร้าย" คอเมเนอี กล่าวเนื่องในวันอีดิลฟิฏร์ เทศกาลฉลองละศีลอดของมุสลิม "ถ้าพวกเขลงมือ แน่นอนว่าพวกเขาจะต้องเจอกับการโจมตีตอบโต้อย่างหนักหน่วง"
กระทรวงการต่างประเทศอิหร่านในวันจันทร์(31มี.ค.) ได้เรียกอุปทูตของสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นตัวแทนผลประโยชน์ของวอชิงตันในอิหร่านเข้าพบ ตามหลังคำขู่ของประธานาธิบดีสหรัฐฯ
ส่วนนายพลอาไมราลี ฮาจิซาเดห์ ผู้บัญชาการกองทัพอากาศแห่งกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลามของอิหร่าน เตือนว่า "อเมริกามีฐานทัพอย่างน้อย 10 แห่งในภูมิภาค รอบๆอิหร่าน และพวกเขามีทหาร 50,000 นาย บางคนในห้องกระจกไม่ควรขว้างหินใส่คนอื่นๆ" ฮาจิซาเดห์ ผู้รับผิดชอบโครงการขีปนาวุธของอิหร่าน ขู่ผ่านสถานีโทรทัศน์แห่งรัฐในวันจันทร์(31มี.ค.)
นับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งในเดือนมกราคม ทรัมป์กลับมาใช้นโยบาย "กดดันขั้นสูงสุด เข้าใส่อิหร่านอีกรอบ ซึ่งภายใต้นโยบายนี้ ครั้งดำรงตำแหน่งสมัยแรก พบเห็นสหรัฐฯถอนตัวออกจากข้อตกลงประวัติศาสตร์เกี่ยวกับโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน และกลับมาคว่ำบาตรเตหะราน
บรรดาชาติตะวันตก ในนั้นรวมถึงสหรัฐฯ กล่าวหาอิหร่านมาช้านานว่ากำลังเสาะหาอาวุธนิวเคลียร์ คำกล่าวหาที่เตหะรานปฏิเสธและยืนยันว่าความเคลื่อนไหวเสริมสมรรถนะยูเรเนียมของพวกเขา มีวัตถุประสงค์ทางสันติแต่เพียงอย่างเดียว
ข้อตกลงนิวเคลียร์ปี 2015 ระหว่างอิหร่านกับบรรดาชาติมหาอำนาจ กำหนดให้เตหะรานจำกัดความทะเยอทะยานทางนิวเคลียร์แลกกับการปลดมาตรการคว่ำบาตร
เมื่อวันที่ 7 มีนาคม ทรัมป์เผยว่าเขาเขียนหนังสือถึง คอเมเนอี เรียกร้องให้เจรจานิวเคลียร์ และเตือนเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของการใช้ปฏิบัติการทางทหาร หากว่าเตหะรานปฏิเสธ จดหมายดังกล่าวส่งถึงอิหร่านในวันที่ 12 มีนาคม ผ่านทาง อันวาร์ การ์ราช ที่ปรึกษาประธานาธิบดีสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
ในวันพฤหัสบดี(27มี.ค.) อับบาส อารากชี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอิหร่าน บอกว่าอิหร่านได้ตอบกลับหนังสือดังกล่าวผ่านคนกลางอย่างโอมาน แต่ไม่เปิดเผยรายละเอียดของเนื้อหา
อารากชี เน้นย้ำว่าอิหร่านจะไม่เจรจาโดยตรงภายใต้แรงกดดันขั้นสูงสุดและคำขู่ใช้ปฏิบัติการทางทหาร อย่างไรก็ตามรัฐมนตรีรายนี้เปิดประตูสำหรับการเจรจาทางอ้อม
รายงานข่าวของเอ็นบีซี ระบุว่า ทรัมป์ เผยด้วยว่าพวกเจ้าหน้าที่สหรัฐฯและอิหร่าน กำลังพูดคุยกัน แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติม ในขณะที่ประธานาธิบดีมาซู เปเซชเคียน แห่งอิหร่าน บอกในวันอาทิตย์(30มี.ค.) ว่าคอเมเนอี ผู้นำสูงสุด ซึ่งเป็นคนตัดสินใจขั้นสุดท้ายในนโยบายสำคัญๆของรัฐ ได้อนุญาตให้พูดคุยทางอ้อมกับสหรัฐฯ
ที่ผ่านมา โอมาน ทำหน้าที่เป็นคนกลางระหว่างอิหร่านกับสหรัฐน เนื่องจากเตหะรานกับวอชิงตันตัดขาดความสัมพันธ์กัน หลังจากเหตุปฏิวัติอิสลามในปี 1979
(ที่มา:เอเอฟพี)