xs
xsm
sm
md
lg

ผวากันทั่วโลก! ‘ทรัมป์’ ระบุภาษีตอบโต้ที่จะเรียกเก็บเร็ววันนี้ จะกระทบ‘ทุกๆประเทศ’ไม่ใช่แค่พวกชาติเกินดุลการค้ามะกัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ กล่าวในวันอาทิตย์ (30 มี.ค.) ว่า การขึ้น “ภาษีศุลกากรตอบโต้” ที่เขาวางแผนจะนำมาบังคับใช้ในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ จะครอบคลุม “ทุกประเทศ” ไม่ใช่เพียงแค่พวกชาติที่ได้เปรียบดุลการค้าสหรัฐฯมากที่สุดเท่านั้น ทั้งนี้ไทยคือ 1 ในประเทศซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มหลังนี้


ทรัมป์ให้สัญญาเอาไว้ตั้งแต่ก่อนหน้านี้ ที่จะเปิดเผยรายละเอียดของการขึ้นภาษีเพื่อตอบโต้เอาคืน (reciprocal tariffs) ประเทศต่างๆ ซึ่งมีการปฏิบัติทางการค้าที่คณะบริหารของเขามองเห็นว่าไม่เป็นธรรม ในวันพุธ (2 เม.ย.) นี้ โดยที่เขาเรียกวันดังกล่าวว่า เป็น “วันปลดแอก” (Liberation Day)

“พวกคุณควรจะเริ่มต้นด้วย (การที่) ทุกๆ ประเทศ (จะถูกจัดเก็บภาษีตอบโต้นี้) ดังนั้น ขอให้ติดตามกันต่อไปว่าจะเกิดอะไรขึ้นมาบ้าง” ทรัมป์ บอกกับพวกผู้สื่อข่าวบนเครื่องบิน “แอร์ฟอร์ซวัน” ประจำตำแหน่งของเขา ขณะเดินทางจากรีสอร์ตหรูส่วนตัวในรัฐฟลอริดา ซึ่งเขาไปพำนักแทบทุกสุดสัปดาห์ กลับมายังทำเนียบขาวในกรุงวอชิงตัน คำพูดของเขาคราวนี้เป็นการทำลายความหวังของชาติต่างๆ จำนวนมากซึ่งยังคิดว่าเขาอาจจะลดขนาดการขึ้นภาษีลงมาบ้างจากที่ได้ข่มขู่เอาไว้ หรือไม่เช่นนั้นเขาก็อาจพุ่งเป้าหมายเน้นเล่นงานที่กลุ่มที่ได้รับการคัดสรรมาเป็นพิเศษ โดยเฉพาะพวกประเทศซึ่งได้เปรียบดุลการค้าสหรัฐฯเรื่อยมา

“ผมไม่เคยได้ยินหรอกข่าวลือที่ว่ามีราวๆ 15 ประเทศ 10 หรือ 15” เขากล่าวเมื่อถูกผู้สื่อข่าวถามว่าชาติใดบ้างที่จะได้รับผลกระทบกระเทือนจากมาตรการที่กำลังจะประกาศออกมาของเขา

“โดยสาระสำคัญแล้ว มันคือทุกๆ ประเทศเลยที่เรากำลังพูดกันอยู่ เรามีการพูดกันถึงทุกๆ ประเทศ ไม่ใช่มีการตัดออก” เขากล่าว โดยไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติม

ก่อนหน้านี้ มีการคาดหมายกันว่า การรีดภาษีของทรัมป์ที่กำลังจะเกิดขึ้นมา จะพุ่งเป้าเล่นงานพวกประเทศคู่ค้าซึ่งมีปริมาณการค้าคิดเป็น 15% ของการค้าทั้งหมดของสหรัฐฯ และเป็นพวกที่ได้เปรียบดุลการค้าสหรัฐฯเรื่อยมา กลุ่มนี้เองที่รัฐมนตรีคลัง สกอตต์ เบสเซนต์ ของสหรัฐฯ ตั้งชื่อเรียกขานว่า “เดอร์ตี้ 15” (Dirty 15 นั่นคือ 15 ชาติที่ชอบเล่นไม่ซื่อ) โดยกล่าวหาว่าทั้งที่ทำการค้ากับสหรัฐฯเป็นปริมาณสูงลิ่ว แต่ยังคงตั้งภาษีศุลกากรอัตราสูงๆ ตลอดจนตั้งกำแพงการค้าที่ไม่ใช่ภาษีศุลกากร เพื่อคอยกีดกันการส่งออกของอเมริกัน

จนถึงเวลานี้ คณะบริหารทรัมป์ยังไม่มีการเปิดเผยรายชื่อ “เดอร์ตี้ 15” นี้ แต่มีการคาดหมายกันว่าพวกชาติซึ่งตกเป็นเป้าหมายเหล่านี้ น่าจะใกล้เคียงกับบัญชีรายชื่อประเทศที่สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (ยูเอสทีอาร์) ระบุอยู่ในประกาศฉบับหนึ่งซึ่งเผยแพร่อยู่ใน รวมเอกสารทางราชการของสหรัฐฯ (Federal Register) เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยที่การเผยแพร่รายชื่อนี้ทางยูเอสทีอาร์ระบุว่า มุ่งชี้แนะให้พวกผู้วิจารณ์แสดงความคิดเห็น โฟกัสไปที่พวกระบบเศรษฐกิจที่ได้เปรียบดุลการค้าสหรัฐฯ

ทั้งนี้ หากดูกันเฉพาะประเทศหรือดินแดนที่เกินดุลการค้าสหรัฐฯมากที่สุดในปีที่แล้ว โดยเรียงลำดับตั้งแต่มากที่สุดไปจนถึงน้อยที่สุด ก็มีดังนี้ จีน, สหภาพยุโรป, เม็กซิโก, เวียดนาม, ไต้หวัน, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, แคนาดา, อินเดีย, ไทย, สวิตเซอร์แลนด์, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย, กัมพูชา, และ แอฟริกาใต้

จากคำพูดบนแอร์ฟอร์ซวันของทรัมป์คราวนี้ แม้ดูเหมือนกับมีการขยายเป้าหมายที่จะเล่นงานให้กว้างขวางออกไป แต่เขาก็ย้ำว่าอัตราภาษีศุลกากรที่เขาจะให้จัดเก็บเพิ่มคราวนี้จะ “ใจกว้าง” กว่าอัตราที่ชาติเหล่านี้จัดเก็บเอากับสหรัฐฯ

“ภาษีศุลกากรนี้จะใจกว้างกว่ามากเลยกับอัตราที่ประเทศเหล่านี้เรียกเก็บจากเรา หมายความว่ามันจะอยู่ในอัตราเมตตามากกว่าที่พวกประเทศเหล่านี้เรียกเก็บจากสหรัฐอเมริกาตลอดระยะเวลาหลายทศวรรษมานี้” เขาบอก

“พวกเขาขโมยไปจากเราอย่างที่ไม่เคยมีประเทศใดๆ ถูกขโมยอย่างนี้มาก่อนเลยในประวัติศาสตร์ และเราก็กำลังจะมีเมตตามากกว่าที่พวกเขาทำกับเราเป็นไหนๆ แต่มันก็เป็นเงินซึ่งเป็นเรื่องเป็นราวทีเดียวสำหรับประเทศนะ” เขาบอก

ทรัมป์นั้นได้ขึ้นภาษีศุลกากรเอากับเหล็กกล้าและอะลูมิเนียมนำเข้าสหรัฐฯไปแล้ว รวมทั้งเพิ่มภาษีซึ่งจัดเก็บจากสินค้านำเข้าจากจีนไปแล้วด้วย

นอกจากนั้น ภาษีศุลกากรซึ่งจะเรียกเก็บจากพวกรถยนต์นำเข้า ก็มีกำหนดจะเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน

ปีเตอร์ นาวาร์โร ที่ปรึกษาระดับสูงด้านการค้าของทรัมป์ บอกว่า ภาษีจากรถยนต์นำเข้านี้อาจจะเก็บได้สูงถึง 100,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี

“แล้วนอกจากนั้น ภาษีศุลกากรตัวอื่นๆ ก็กำลังจะจัดเก็บได้เงินอีกราว 600,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี หรือราวๆ 6 ล้านล้านดอลลาร์ทีเดียวในระยะเวลา 10 ปี” นาวาร์ดรบอกกับรายการ ฟ็อกซ์นิวส์ซันเดย์ ทางทีวีฟ็อกซ์นิวส์

อย่างไรก็ตาม แผนการของทรัมป์ที่จะรีดภาษีศุลกากรแบบตอบโต้อย่างกว้างขวางเช่นนี้ มีความเสี่ยงที่จะบานปลายกลายเป็นสงครามการค้าระดับโลก โดยที่ประเทสอื่นๆ ต่างประกาศออกมาแล้วว่าจะดำเนินการตอบโต้ และพวกนักเศรษฐศาสตร์พากันเตือนว่าความเคลื่อนไหวอย่างใหญ่โตกว้างขวางเช่นนี้ มีความเสี่ยงที่จะกระตุ้นอัตราเงินเฟ้อ และกลายเป็นชนวนทำให้เศรษฐกิจถดถอย

ขณะที่ทรัมป์โต้แย้งด้วยเหตุผลว่า การรีดภาษีเช่นนี้คือหนทางหนึ่งในการหารายได้ของภาครัฐบาลสหรัฐฯ และในการชุบชีวิตฟื้นฟูอุตสาหกรรมการผลิตของสหรัฐฯ

(ที่มา: เอเอฟพี/เอเจนซีส์)
กำลังโหลดความคิดเห็น