กรณีแผ่นดินไหวสะเทือนกรุงเทพฯ พบประชาชนยังไม่ได้รับ SMS แจ้งเตือนภัยพิบัดใดๆ จากภาครัฐ ขณะที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยส่งหนังสือขอ กสทช. ส่งข้อความสั้นถึงประชาชน แต่ก็เงียบกริบ ส่วนผู้นำฝ่ายค้านจี้รัฐบาล ต้องสร้างช่องทางสื่อสารประชาชนชัดเจน
วันนี้ (28 มี.ค.) รายงานข่าวแจ้งว่า จากกรณีที่เกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาด 8.2 แมกนิจูด ที่ประเทศเมียนมา เมื่อเวลา 13.20 น. แรงสั่นสะเทือนรู้สึกได้ถึงกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และพบว่ามีอาคารโครงการก่อสร้างสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถล่มที่เขตจตุจักร กรุงเทพฯ รวมทั้งมีอาคารที่พักอาศัย และคอนโดมิเนียมหลายแห่งได้รับความเสียหาย แต่กลับพบว่าทางราชการไม่มีการแจ้งเตือนประชาชนแต่อย่างใด กลายเป็นที่เคลือบแคลงสงสัยว่าหน่วยงานที่ทำหน้าที่เตือนภัยพิบัติ อย่าง ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ทำไมถึงไม่มีการเคลื่อนไหวใดๆ เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้น
ต่อมามีการเผยแพร่เอกสารในราชการกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง ลงนามโดย นายภาสกร บุญญลักษณ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ถึงเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ขอส่งข้อความสั้น (SMS) ถึงประชาชน ระบุว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยขอส่งข้อความสั้น (SMS) ไปยังผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ดำเนินการส่งข้อความถึงประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ ระบุว่า "ตามที่เกิดแผ่นดินไหวบนบก เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 เวลา 13.20 น. ขนาด 8.2 ความลึก 10 กิโลเมตร จุดศูนย์กลางอยู่ที่เมียนมา ปัจจุบันได้รับการประสานจากกองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา แจ้งว่าประชาชนสามารถเข้าอาคารและที่พักอาศัยได้ สอบถามโทร 1784" ระบุชื่อผู้ส่ง DDPM จำนวน 1 ครั้ง
ปรากฎว่าถึงขณะนี้ประชาชนยังคงไม่ได้รับ SMS เตือนภัย จากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแต่อย่างใด
นอกจากนี้ บัญชีไลน์ LINE ALERT บัญชีทางการแจ้งเตือนภัยพิบัติร้ายแรง ที่ไลน์ ประเทศไทย (LINE Thailand) ร่วมมือกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยฯ และกรมอุตุนิยมวิทยาฯ ทำหน้าที่อัปเดตข้อมูลและแจ้งเตือน มาตั้งแต่เดือน ต.ค. 2565 ซึ่งปัจจุบันยังคงมีกรมควบคุมมลพิษแจ้งเตือนสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่ต่างๆ พบว่าในช่วงเหตุการณ์แผ่นดินไหว กลับไม่มีการแจ้งเตือนใดๆ กระทั่งเวลา 16.45 น. เพิ่งจะส่งข้อความว่า "ปภ. แจ้งประชาชนเข้าอาคารและที่พักอาศัยได้" โดยสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร และเวลา 17.17 น. ส่งข้อความว่า "แจ้งสถานการณ์ แผ่นดินไหว กทม." โดยสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร ที่พบว่ามีแต่การแจ้งเตือนเรื่องรถไฟฟ้าปิดให้บริการ และสภาพการจราจร
ด้านเฟซบุ๊ก "พรรคเพื่อไทย" โพสต์ข้อความเมื่อเวลาประมาณ 15.53 น. หัวข้อ "ด่วน! นายกฯ สั่งประกาศพื้นที่ฉุกเฉินในกรุงเทพฯ หลังแผ่นดินไหวรุนแรงตึกถล่มเสียหาย" ในตอนหนึ่งระบุว่า "กระทรวงดีอี ส่ง SMS ผ่าน Cell Broadcast เตือนภัยกับประชาชนเป็นระยะ และการปฏิบัติตัว" ปรากฎว่าประชาชนยังไม่ได้รับ SMS ใดๆ จากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยมีชาวเน็ตต่างสอบถามว่า ระบบจะแจ้งเตือนภัยตอนไหน, SMS เตือนไม่มีอยู่จริง ด่วนตอนไหนควรออกมาแถลงตั้งแต่หลังเกิดเหตุไม่เกิน 1 ชั่วโมง ทำงานช้ามาก, SMS Alert แจ้งเตือนประชาชนไม่มีเลย, ไม่มีใครที่รู้จักได้รับ SMS เลย ส่งให้ใคร ฯลฯ
นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาชน และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ที่สำคัญที่สุดคือการสร้างช่องทางสื่อสารที่ชัดเจนจากรัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่เฉพาะจุดที่มีเหตุตึกถล่ม เพราะยังมีหลายจุดที่พบว่ามีอาคารร้าว ประชาชนก็อยากทราบข้อมูลข่าวสารที่ตรงกันจากรัฐบาล ว่าจะต้องติดต่อทางใด รวมถึงคนมีหน่วยงานที่ออกมาแถลงความคืบหน้าของสถานการณ์ เหตุการณ์นี้สะท้อนว่ายังไม่มีการเตรียมตัวที่ดีเพียงพอ โดยเฉพาะระบบแจ้งเตือนภัย ที่ประชาชนเคยเรียกร้องมาก่อนหน้านี้ แต่สิ่งสำคัญที่สุดตอนนี้คือการช่วยเหลือผู้รอดชีวิต และแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้า
"ถึงแม้นายกฯ จะแจ้งข่าวว่า ได้สั่งการให้มีการแจ้งเตือนทาง SMS แล้ว แต่ตอนนี้ก็ยังไม่ได้รับ เครื่องโทรศัพท์ของตัวเองก็ยังไม่ได้รับจริงๆ ถ้าเป็นระบบเตือนภัยที่ได้มาตรฐานจากต่างประเทศ หรือ Cell Broadcast อย่างไรโทรศัพท์ก็ต้องดังไม่ว่าจะปิดเสียงหรือปิดแจ้งเตือนอยู่ ซึ่งจะมีประโยชน์ให้ประชาชนได้รับทราบแนวปฏิบัติที่ตรงกัน เพราะที่ผ่านมาเราต้องไปรอรับข่าวสารจาก Social Media ซึ่งอาจทำให้เกิดความสูญเสียมากกว่าที่ควรจะเป็น" นายณัฐพงษ์ กล่าว