xs
xsm
sm
md
lg

“มนพร” สั่งเร่งชง ครม.ยกเลิกมติโอน 3 สนามบิน แก้ปัญหาตั้งงบปรับปรุง ”อุดรธานี”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



“มนพร” เร่ง ทย. สรุปรายละเอียดชงครม.ขอยกเลิกมติโอน 3 สนามบิน “กระบี่-อุดร -บุรีรัมย์”ให้ทอท.หลังผลศึกษายันไม่เหมาะสม ชี้ต้องเร่งหวั่นกระทบงบปี 69 ที่เตรียมพัฒนาปรับปรุงสนามบินอุดรธานี ยกระดับบริการ

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากที่ได้พิจารณาและมีการศึกษาข้อดี ข้อเสียในการโอนท่าอากาศยาน 3 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานอุดรธานีท่าอากาศยานบุรีรัมย์และท่าอากาศยานกระบี่ของกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ให้ บริษัทท่าอากาศยานไทยจำกัด (มหาชน)หรือทอท.(AOT) เข้าบริหารจัดการ โดยพบว่า ไม่เหมาะสมและมีผลกระทบในหลายเรื่อง ซึ่งเรื่องนี้จะต้องมีการเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพื่อยกเลิกมติครม.ปี 2565 โดยเร็ว เพราะเรื่องนี้ ส่งผลกระทบต่อการบริหารงานของทย. ที่ไม่สามารถของบประมาณสำหรับ ซ่อมบำรุงรักษา ท่าอากาศยานทั้ง 3 แห่งได้และมีผลให้กระทบต่อให้บริการประชาชน

“ขณะนี้กระทรวงคมนาคมมีนโยบายชัดเจนแล้ว ที่ไม่โอน 3 สนามบินให้ทอท. โดยยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นตัวตั้ง ดังนั้น ทย.และทอท.ต้องเร่งสรุป ทำเรื่องเสนอครม.ขอยกเลิกมติ เพราะหากยิ่งช้าจะยิ่งกระทบต่อการให้บริการ เช่น สนามบินอุดรธานี ไม่ได้รับจัดสรรงบประมาณซ่อมแซมปรับปรุงหลายปีแล้ว เพราะติดเรื่องการโอนสนามบิน ตอนนี้อาคารผู้โดยสารมีสภาพเก่า ทย.มีแผนพัฒนาขยายขีดความสามารถ สร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่และปรับปรุงอาคารหลังเก่า ในปี 2569 เพื่อให้บริการและมีความปลอดภัยตามมาตรฐานการบินตลอดเวลา แต่อาจไม่ได้รับงบประมาณ เพราะมีเรื่องโอนให้ทอท.ค้างอยู่”

รมช.คมนาคมกล่าวว่า สนามบินของทย.ถือเป็นทรัพย์สินของรัฐ ซึ่งผลการศึกษาชี้ว่า ไม่เหมาะสมที่จะโอนสนามบินทั้ง 3 แห่งและสนามบินภูมิภาคของทย.ให้ทอท. ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนเช่น ทอท.ยังมีภาระการลงทุนพัฒนาสนามบินของตนเอง และยังขาดด้านบุคลากร ส่วน ทย. มีภารกิจต้องพัฒนาสนามบินภูมิภาค ให้มีประสิทธิภาพรองรับสายการบินให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งตนจึงให้นโยบายทย.ปรับปรุงคุณภาพการบริการผู้โดยสารให้มีความปลอดภัย สะดวก สบาย เพิ่มความปลอดภัยในพื้นที่ โดยทย.มีบุคลากรที่มีความชำนาญด้านบริการอยู่แล้ว ส่วนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ที่ยังมีปัญหาการก่อสร้างล่าช้า ผู้รับเหมาทิ้งงาน ได้เร่งรัดให้แก้ปัญหาเพื่อให้งานแล้วเสร็จตามเป้าหมายแล้ว ซึ่งในระหว่างดำเนินการปรับปรุงพื้นที่จะเข้มงวดเรื่องความปลอดภัยมากขึ้นด้วย

ปัจจุบัน สนามบินภูมิภาค มีเที่ยวบินประจำ และเที่ยวบินเช่าเหมาลำใช้บริการอยู่ค่อนข้างมาก ช่วงที่ผ่านมามีผู้โดยสาร และนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น ซึ่งทำให้มีการใช้จ่ายทั้งภายในสนามบินและมีการท่องเที่ยวในจังหวัดที่อยู่ใกล้เคียงสนามบินด้วย ซึ่งจะมีการพัฒนาสนามบินภูมิภาคของทย.ภายใต้แนวคิด “สนามบินมีชีวิต"สร้างกิจกรรมภายในสนามบินและให้ ทย.ร่วมมือกับจังหวัดและท่องเที่ยวจังหวัด ร่วมมือกัน ในการพัฒนาโครงข่ายการท่องเที่ยว พัฒนาระบบขนส่งสาธารณะเชื่อมโยงสนามบิน เพื่อเพิ่มห่วงโซ่ในการท่องเที่ยว ช่วยกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น

@ตั้งงบปี 69 เร่งปรับปรุงสนามบินอุดรธานี

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม ระบุว่า จากมติครม. เมื่อวันที่30ส.ค. 2565 เห็นชอบหลักการ ให้ทอท.เข้าบริหารสนามบิน 3 แห่งของทย. ทำให้การพัฒนาสนามบินของ ทย.ต้องหยุดชะงัก เช่น สนามบินกระบี่ มีแนวคิดจะเปิด PPP บริหารจัดการเพื่อเพิ่มรายได้ และยกระดับคุณภาพบริการ แต่ไม่สามารถขับเคลื่อน เพาะเกรงว่าสัญญาจะผูกพันไปถึงทอท.หลังรับโอน ส่วนสนามบินอุดรธานี ไม่ได้รับงบประมาณพัฒนาปรับปรุง มาตั้งแต่ปี 2561 ช่วงแรกที่มีแนวคิดการโอนสนามบิน เพราะสำนักงบเห็นว่า จะมีการโอนให้ทอท. ทำให้ปัจจุบันสนามบินมีสภาพเก่าเพราะไม่ได้รับงบปรับปรุงทั้งที่ มีผู้โดยสารมากที่สุดในภาคอีสาน

ทั้งนี้ หลักการในการเสนอขอยกเลิกมติครม.เรื่องโอนสนามบิน 3 แห่งนั้น สามารถทำเรื่องชี้แจงรายละเอียดเหตุผลอ้างอิงตามความเห็นของกระทรวงการคลัง 6 ข้อ ที่ให้ศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการเปรียบเทียบกรณีทย.ดำเนินการกับกรณีทอท.ดำเนินการ ว่า ไม่ส่งผลดีต่อ ทย.และทอท.อย่างไร เช่น ทอท.มีแผนพัฒนาและลงทุนสนามบินทั้ง 6 แห่ง อีกทั้งยังจะการลงทุนสนามบินสุวรรณภูมิ ขยายอาคารทิศตะวันออก อาคารด้านทิศใต้ สนามบินดอนเมืองระยะที่ 3 รวมถึงโครงการสนามบินอันดามันและสนามบินล้านนา ประกอบกับสถานการณ์ในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว ส่วนทย.มีแผนยกระดับสนามบินกระบี่ อุดรธานี บุรีรัมย์ ตามนโยบายสนับสนุนฮับการบิน

“ตอนนี้ ทย.ต้องเร่งประสานกับทอท.และสรุปความเห็นประกอบกันเพื่อนำเสนอกระทรวงคมนาคมพิจารณานำเสนอครม.ขอยกเลิกมติปี 2560 เพื่อให้ทั้งทอท.และทย.ดำเนินงานตามภาระหน้าที่ตามปกติ”


@สนามบินภูมิภาค”เที่ยวบิน-ผู้โดยสาร”แนวโน้มฟื้นตัว

สำหรับสนามบินกระบี่ ถือว่าเป็นสนามบินหลักที่มีกำไรมากที่สุด ปี 67 มีกำไร 180 ล้านบาทต่อปี สนามบินอุดรธานี มีกำไรเกือบ 30 ล้านลาท ส่วนบุรีรัมย์ ยังขาดทุน ภาพรวมยังสามารถบริหารจัดการได้ ผ่านกองทุนท่าอากาศยาน ซึ่งคาดว่าปี 2568 จะมีรายได้รวมประมาณ 834 ล้านบาท รายจ่ายประมาณ 1,068 ล้านบาท ขาดทุนประมาณ 200 ล้านบาท ซึ่งกองทุนฯมีเงินสะสมประมาณ 300 ล้านบาทอุดหนุน ส่วนปี 2569 คาดการณ์รายได้จะเพิ่มกว่า 1,000 ล้านบาท ตามแนวโน้มปริมาณเที่ยวบินและจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น เฉลี่ย 5-6%

โดยปีงบประมาณ 2569 ทย.เสนอของบประมาณ 6,000 ล้านบาท ซึ่งจะมีภารกิจสำคัญได้แก่ การปรับปรุงซ่อมแซมสนามบินหลายแห่ง ที่ออกแบบไว้นานและค่อนข้างเก่า เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานการบินใหม่ ขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization : ICAO) เช่น ต้องมีการปรับปรุงรันเวย์ เพิ่มความแข็งแรง และกลบร่องน้ำตรงกลาง ปรับสโลบด้านข้าง เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น