xs
xsm
sm
md
lg

“สุริยะ”ลุยสอบอุบัติเหตุ”พระราม 2”งัดพ.ร.บ.จัดซื้อฯฟัน”รับเหมา-ที่ปรึกษา” เล็งรื้อมาตรฐานสัญญาปรับชั้นรับเหมา”ซุปเปอร์พิเศษ”ก่อสร้างในพื้นที่เสี่ยงสูง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



สุริยะ”ลุยสอบอุบัติเหตุพระราม 2 งัดพ.ร.บ.จัดซื้อฯ ฟัน”รับเหมา-ที่ปรึกษา”เร่งหางบจ้าง”สภาวิศวกร”คนกลางรีเช็กการทำงานอีกชั้น ปัดเหตุถี่เพราะเร่งสร้าง-รับเหมาขาดสภาพคล่อง ชี้จ่ายค่า K ช่วยเหลือไปแล้ว เล็งปรับชั้นรับเหมา”ซุปเปอร์พิเศษ”สร้างในพื้นที่เสี่ยงสูง ป้องอธิบดีทล.-ผู้ว่าฯกทพ.ชี้ทำงานตามหน้าที่ ลั่นเม.ย.นี้ ประกาศใช้สมุดพก”ตัดแต้ม-ลดชั้น-แบล็กลิสต์”

วันที่ 17 มีนาคม 2568 เมื่อเวลา 10.00 น. นางแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีนัดหมายนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย กรมทางหลวง (ทล.) กรมทางหลวงชนบท (ทช.) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และกรมบัญชีกลาง หารือเกี่ยวกับมาตรการความปลอดภัยในการก่อสร้างถนนและเส้นทางคมนาคม ที่ห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล หลังเกิดเหตุการณ์คานสะพานถล่ม ในไซต์งานก่อสร้างโครงการทางด่วนพระราม 3 - ดาวคะนอง เมื่อวันที่ 15 มี.ค.2568

นายสุริยะกล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้สั่งการชัดเจนว่า หากตรวจสอบพบความผิดเกิดจากผู้รับเหมาหรือผู้ควบคุมงาน ให้พิจารณาตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ 2560 ว่าด้วยเรื่องการทิ้งงานมาใช้กำกับ ส่วนการใช้มาตรการสมุดพกกับผู้รับเหมา เท่าที่มีการหารือกับนางแพตริเซีย มงคลวนิช อธิบดีกรมบัญชีกลาง ได้รับคำแนะนำว่า สามารถใช้ข้อบังคับตามพ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ 2560 ได้ระหว่างรอมาตรการสมุดพก ซึ่งเรื่องนี้หน่วยงานที่รับผิดชอบต่างๆ มีข้อกังวลว่า ตาม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯดังกล่าว ให้หน่วยงานที่กำกับพิจารณามาตรการลงโทษตามดุลยพินิจ ซึ่งมีความไม่แน่นอนและอาจจะทำให้ถูกฟ้องร้องตามมาได้ในอนาคต อย่างไรก็ตาม จะมีการตรวจสอบให้ชัดเจน หากพบว่าผู้รับเหมากระทำความผิด ก็จะใช้มาตรการสูงสุดในการดำเนินการต่อไป

ส่วนมาตรการสมุดพกผู้รับเหมานั้น ขณะนี้ทางกรมบัญชีกลางได้ทำเสร็จแล้ว อยู่ในขั้นตอนกระทรวงการคลังเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ ซึ่งนายกรัฐมนตรีลงนามเข้าครม.แล้ว จากนั้น จะมีการประกาศกฎกระทรวงต่อไป คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ช่วงปลายเดือน เม.ย. 2568 นี้ ซึ่ง สมุดพกผู้รับเหมา จะมีรายละเอียดชัดเจน กรณีผู้รับเหมาทำงานมีปัญหาแต่ละเรื่อง จะถูกตัดกี่คะแนน ทั้งการเกิดอุบัติเหตุ ล่าช้า เป็นต้น


@สั่งทล.-กทพ.จ้างวิศวกรรมสถานเป็นคนกลางรีเช็คการทำงานของ”ผู้รับเหมา-ที่ปรึกษา”

นายสุริยะกล่าวว่า โครงการก่อสร้าง 2 โครงการ บนถนนพะราม 2 คือ ทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง- วงแหวนรอบนอกฯ และมอเตอร์เวย์ M82 สายบางขุนเทียน-เอกชัย-บ้านแพ้ว ที่เกิดอุบัติเหตุในระหว่างการก่อสร้างนั้น ก่อนหน้านี้เคยเน้นย้ำเรื่องความปลอดภัยไปแล้วแต่ก็ยังเกิดซ้ำๆ กระทรวงคมนาคมเห็นว่าจะต้องเพิ่มมาตรการมากขึ้นเพื่อป้องกัน จึงได้พิจารณาที่จะจ้าง ทางสภาวิศวกร เข้ามาตรวจสอบหรือ Audit กระบวนการก่อสร้างของผู้รับเหมาและที่ปรึกษาอีกชั้นหนึ่ง หากพบมีปัญหาไม่ถูกต้องครบถ้วน ให้รายงานตรงต่อรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม และหน่วยงานเจ้าของโครงการ คือ อธิบดกีรมทางหลวง ผู้ว่าฯกทพ. ซึ่งจะต่างจากเดิมที่ จะเป็นการขอความร่วมมือให้สภาวิศวกรเข้ามาตรวจสอบ มาช่วยดู โดยไม่รับค่าจ้าง ซึ่งก็อาจจะมีเรื่องบุคลากรของสภาวิศวกรที่จะเข้ามาทำงานด้วย จึงคิดว่าจะต้องว่าจ้างจริงจังเพื่อให้ได้มีบุคลากรมาช่วยดูแล ซึ่งกระทรวงจะให้ กรมทางหลวงและกทพ.พิจารณาเรื่องงบประมาณในการว่าจ้างโดยเร็ว

สำหรับการเอาผิดบริษัทที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง ต้องรอสอบสวนก่อน ถ้าพบความผิดจะดำเนินคดีทั้งแพ่งและอาญา และอาจจะถูกยึดใบอนุญาตด้วย


ด้านนายชยธรรม พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ต้องการให้สภาวิศวกรเข้ามา เพราะเป็นคนกลางที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย แต่ที่ผ่านมากรณีมีประเด็นก็จะให้สภาวิศวกรมาช่วยดูแบบฟรีๆ การทำงานคงเต็มประสิทธิภาพไม่ได้ ดังนั้นหากมีการจ้างที่ชัดเจน ก็จะทำให้สามารถจัดทีมวิศวกรเข้ามาทำงานได้อย่างเต็มที่ เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเร่งด่วน ด้านความปลอดภัยของ 2 โครงการนี้ ซึ่งในหลักการของการควบคุมงานต่างกัน คือโครงการมอเตอรเวย์ M82 ของกรมทางหลวง มีสัญญาจ้างผู้รับเหมาก่อสร้าง โดยวิศวกรของกรมทางหลวง ควบคุมการก่อสร้างเอง ส่วน โครงการทางด่วน พระราม 3- ดาวคะนองฯ มีสัญญาจ้างผู้รับเหมาก่อสร้าง และมีสัญญาจ้างที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง โครงสร้างการทำงานมีครอบคลุมแล้ว และมีหน้าที่แต่ละส่วนตามหลักวิศวกรรม แต่เมื่อยังเกิดอุบัติเหตุซ้ำแล้วซ้ำอีก ภายใต้สัญญาปัจจุบัน ทำให้ต้องหาคนกลางที่มีความสามารถด้านวิศวกรรมมาช่วยควบคุมและรีเช็กตามหลักปฎิบัติวิศวกรรมด้านความปลอดภัยทุกขั้นตอน

นายสุริยะกล่าวต่อว่า ส่วนความมั่นใจเรื่องโครงสร้างของงานก่อสร้าง เท่าที่มีการก่อสร้างมาในหลายๆโครงการ ยังไม่พบว่ามีโครงการไหนประสบปัญหานี้เลย ในขั้นตอนการออกแบบจะมีมาตรการกำกับตามหลักวิศวกรรมอยู่แล้ว เพียงแต่ในขั้นตอนการก่อสร้างอาจจะมีปัจจัยอื่นๆ เข้ามาทั้งการควบคุมงานหรือความประมาทเลินเล่อของผู้รับเหมา ก็อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ ส่วนวัสดุก่อสร้างได้มาตรฐานหรือไม่นั้น ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในประเด็นนี้ น่าจะเป็นประเด็นการดำเนินการตามขั้นตอนมากกว่า ซึ่งหน่วยงานมีการกำกับดูแลอยู่แล้วและหวังว่า แบลบ็กลิสต์ได้ ก็จะทำให้ผู้รับเหมากลัวมากขึ้นและทำให้ทำงาน รอบคอบรัดกุมมากขึ้น

@ปัดอุบัติเหตุถี่เพราะเร่งสร้าง-รับเหมาขาดสภาพคล่อง ชี้รัฐจ่ายค่า K ช่วยเหลือแล้ว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ผู้รับเหมาหลายรายมีปัญหาสภาพคล่องจากผลกระทบโควิด- 19 ในขณะที่กระทรวงคมนาคมมีนโยบายสั่งให้เร่งรัดการก่อสร้างให้เสร็จภายในพ.ย. 2568 เป็นปัจจัทำให้เกิดอุบัติเหตุด้วยหรือไม่ นายสุริยะกล่าวว่า ผลกระทบโควิด ได้เยียวยาต่อสัญญาก่อสร้างให้แล้วตามมติครม. ส่วนปัญหาสภาพคล่องซึ่งกระทรวงคมนาคมได้พิจารณาช่วยเหลือค่า K กับผู้รับเหมาที่ทำงานบนถนนพระราม 2 ให้แล้ว จึงไม่ใช่สาเหตุที่จะทำให้การทำงานมีปัญหา และทุกครั้งที่ประชุมร่วมกับผู้รับเหมาเพื่อเร่งรัดการก่อสร้าง ได้เน้นย้ำเรื่องความปลอดภัยเป็นหลัก ต้องทำงานแบบมืออาชีพตามขั้นตอนวิศวกรรม ซึ่งเมื่อได้ช่วยเหลือปัญหาผู้รับเหมาไปแล้วและเน้นย้ำเรื่องความปลอดภัยไปหลายครั้งแต่ไม่ได้ผลยังเกิดอีก ก็ต้องนำเรื่องแบล็กลิสต์มาใช้


@เล็งรื้อมาตรฐานสัญญา -ปรับชั้นผู้รับเหมา”ซุปเปอร์พิเศษ”สร้างในพื้นที่เสี่ยงสูง

ผู้สื่อข่าวถามว่า งานประมูลงานก่อสร้างที่โครงการอยู่ในพื้นที่ชุมชนหรือพื้นที่การจราจรหนาแน่นกับงานก่อสร้างในพื้นที่ปิดหรือนอกเขตเมืองมีความแตกต่างกันหรือไม่ นายสุริยะกล่าวว่า ประเด็นนี้กระทรวงคมนาคมได้หารือในที่ประชุมกับนายกฯวันนี้แล้ว โดยเห็นว่าควรมีการปรับปรุงสัญญาใหม่ จากปัจจุบันที่ใช้สัญญามาตรฐานเดียวกันทั้งหมด ไม่ว่าจะก่อสร้างในพื้นที่ไหน โดยจะเพิ่มเรื่องบทลงโทษ กระบวนการลงโทษ มาตรฐานผู้รับเหมา ในสัญญาก่อสร้างที่อยู่ในพื้นที่ชุมชนหรือบนพื้นที่ที่มีการจราจรหนาแน่นที่มีความเสี่ยงมากกว่า เพราะไม่ใช่เรื่องความปลอดภัยนอย่างเดียวแต่เป็นเรื่องการบริหารการจราจรด้วย ซึ่งอาจจะมีการจัดชั้นผู้รับเหมาเพิ่มไปถึงชั้น “ซุปเปอร์พิเศษ”ที่สูงกว่า”ชั้นพิเศษ”

เช่น ถนนพระราม 2 เป็นพื้นที่ก่อสร้างที่ทำงานยากเพราะต้องจำกัดเวลา และมีรถยนต์ใช้ทางตลอด ผู้รับเหมาต้องมีมาตรฐานสูงพิเศษ

@ทบทวนการซอยสัญญาก่อสร้าง

เมื่อถามว่าอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นสะท้อนความหละหลวมในการทำงานหรือไม่ นายสุริยะชี้แจงว่า ที่ผ่านมา ได้กำชับหน่วยงานที่ต้องก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ให้คำนึงถึงความปลอดภัยแล้ว และในส่วนของกระทรวงเองก็ได้เชิญผู้รับเหมามาหารือถึงมาตรการทางด้านปลอดภัยแล้ว แต่สุดท้ายก็เกิดเหตุการณ์อีก จึงมีการเสนอมาตรการสมุดพกขึ้นมา พอถึงจุดหนึ่งเมื่อมีการเสียชีวิตขึ้น ก็จะให้บริษัทนั้นขึ้นบัญชี จะทำให้เข้ามารับงานของรัฐไม่ได้ ซึ่งอาจจะส่งผลให้บริษัทนั้นล้มละลายก็ได้

ผู้สื่อข่าวถามว่า กระทรวงคมนาคมจะมีการทบทวนการแบ่งสัญญาโครงการต่างๆใหม่หรือไม่ เพราะที่ผ่านมามีการแบ่งสัญญาออกเป็นหลายๆสัญญา จนอาจจะกระทบกับงานที่อาจจะได้ผู้รับเหมาที่ไม่มีประสิทธิภาพนั้น นายสุริยะกล่าวว่า ที่ผ่านมามีการแบ่งงานออกเป็นหลายๆสัญญาจริง อย่างถนนพระราม 2 มีการซอยสัญญาออกเป็น 14 สัญญาทำให้บางสัญญางานไม่เดิน เป็นฟันหลอ จึงได้สั่งการแล้วว่า การแบ่งสัญญาต้องแบ่งเท่าที่จำเป็น ไม่เยอะเกินไป


@ป้อง”อธิบดีกรมทางหลวง-ผู้ว่าฯกทพ.”ทำงานตามหน้าที่แล้ว

ผู้สื่อข่าวถามว่า กระแสสังคมให้กระทรวงคมนาคมรับผิดชอบเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งอธิบดีกรมทางหลวง ผู้ว่ากทพ.นายสุริยะกล่าวว่า อธิบดีหรือผู้ว่าฯนั้น ในการทำโครงการมีสัญญาจ้างผู้รับเหมา กำหนดเงื่อนไขการทำงาน ก็ต้องถามว่า อธิบดีจะมีอำนาจมากกว่าที่กำหนดหรือไม่ ที่ หากผู้รับเหมาทำงานช้าหรือบกพร่องก็ปรับหรือลงโทษตามขอบเขตสัญญา หน่วยงานก็ปรับ ลงโทษตามที่กำหนด แต่สัญญาไม่ได้เขียนว่า หากมีคนเสียชีวิต อธิบดีต้องรับผิดชอบอย่างไร ส่วนผู้รับเหมาก็บอกว่าทำตามเงื่อนไข จึงต้องหามาตรการเพิ่มเติม เป็นสมุดพก กรณีเกิดเหตุรุนแรงก็ตัดคะแนน ลดชั้น แบล็กลิสต์

“เรื่องนี้ ได้อธิบายข้อเท็จจริงให้ทราบแล้วว่า สิ่งที่กระทรวงดำเนินการมาตลอดจนในที่สุดมีเรื่องมาตรการออกมาให้ชัดเจน จะขึ้นบัญชีดำผู้รับเหมา ตรงนั้นก็ทำให้เชื่อว่าสถานการณ์จะดีขึ้นแน่นอน โดยงานก่อสร้างบนถนนพระราม 2 จะต้องเสร็จในสิ้นปีนี้แน่นอน”นายสุริยะกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น