xs
xsm
sm
md
lg

ลูกชายคนโต อัปเดตอาการ “ชาย เมืองสิงห์” หลังล้มเพราะกล้ามเนื้ออ่อนแรง เริ่มหลงลืม ร่างกายเสื่อมตามวัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



“ตี๋ นฤพนธ์” ลูก “ชาย เมืองสิงห์” เผยอาการป่วยคุณพ่อหลังล้ม สาเหตุเกิดจากกล้ามเนื้ออ่อนแรง แถมตอนนี้มีอาการขี้หลงขี้ลืมร่วมด้วย บอกตอนนี้ครอบครัวพยายามหากิจกรรมให้ทำ เพื่อฟื้นคืนความจำ และให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงดีขึ้น ขอบคุณแฟนเพลงที่ห่วงใย อยากออกงาน แต่ร่างกายยังไม่ไหว

ทำเอาคนในครอบครัวและแฟนเพลงเป็นห่วงไม่น้อย เมื่อศิลปินแห่งชาติ “ชาย เมืองสิงห์” วัย 85 ปี เกิดอาการล้มเนื่องจากกล้ามเนื้ออ่อนแรงเมื่อ 2 วันที่ผ่านมา เป็นเหตุให้ไม่สามารถเดินทางมาร่วมพิธีบวงสรวงไหว้ครูเพลงประจำปี 2568 ได้

ล่าสุด “ตี๋ นฤพนธ์” ลูกชายของศิลปินแห่งชาติ “ชาย เมืองสิงห์” ได้มาร่วมงานพิธีบวงสรวงไหว้ครูเพลง ประจำปี 2568 พร้อมครบรอบวันคล้ายวันเกิดเซียนพระกวีเพลงชั้นครู “อ.พยัพ คำพันธุ์” อายุ 78 ปี ณ ฟรีดอม สตูดิโอ เขตบางบัวทอง จ.นนทบุรี ได้ออกมาอัปเดตอาการป่วยของคุณพ่อว่า เมื่อ 3-4 วันที่ผ่านมาคุณพ่อล้ม จึงทำให้มาร่วมงานในวันนี้ไม่ได้ สาเหตุมาจากกล้ามเนื้ออ่อนแรง

“อัปเดตอาการพ่อชาย เมืองสิงห์ เมื่อ 3- 4 วันที่ผ่านมา พ่อล้ม แต่อาการล้มก็ไม่ได้รุนแรง คือลุกจากที่นอนพอยืนแล้วตั้งหลักไม่ได้ก็ล้มลงไป ขณะที่ล้มไม่มีใครอยู่ในห้องนอนมารู้อีกทีก็คือเขาพยายามลุกขึ้นมา ดูสาเหตุก็มาจากกล้ามเนื้ออ่อนแรง ช่วงที่ผ่านมาตั้งแต่ปีใหม่ไม่ได้ไปไหนเลย ชีวิตประจำวันคือคุณพ่อจะนอนตื่นสายๆ ก็จะลุกขึ้นมาเองมานั่งที่โต๊ะทำงานประจำ ซึ่งจะนั่งๆ นอนๆ อยู่อย่างนี้ทุกวัน

ก็ไม่ได้ออกไปกายภาพเพราะเขาบอกว่าเขาเหนื่อยแล้ว ก็เลยตามใจเอาที่สบายใจ ก็ดูแลเรื่องยาโรงพยาบาลรามาฯ ก็ตรวจเป็นประจำอยู่แล้วคิดว่าไม่มีอะไร แต่พอล้มเบื้องต้นก็เลยเข้ามาดูว่าเกิดจากอะไร ซึ่งตอนนี้ก็ใช้วิธีรักษาด้วยการใช้แพทย์แผนไทยเข้ามาดูแลที่บ้านเพราะไม่ยอมลุกเดินก็ไปนวดแล้วประคบอาการเบื้องต้นก็ร่าเริงขึ้น เมื่อวานนี้ก็ได้คุยกับอ.พยัพ คำพันธุ์ ได้โทรศัพท์คุยเพราะกำหนดการพ่อชายต้องมางานนี้ด้วย ก็บอกเขาว่าพ่อมาไม่ได้โทร.คุยกันก็เสียงหัวเราะดี ความรู้สึกคงจะดีขึ้นคงไม่น่าเป็นห่วงมากครับ กราบขอบคุณแฟนๆ ทุกท่านครับ”

เผยเดือนนี้ล้ม 2 ครั้ง สาเหตุจากกล้ามเนื้ออ่อนแรง
เดือนนี้ 2 ครั้งแล้วครับ พ่อบอกว่าเกิดจากพื้นลื่น ซึ่งเราไปดูพื้นก็ไม่ได้ลื่นเท่าไหร่ ซึ่งเราเข้าใจว่าพ่อเขาน่าจะอ่อนกำลังจริงๆ เมื่อก่อนพ่อกายภาพที่มหิดลตลอด ทีนี้พ่อบอกว่าพ่อเหนื่อยคงไปโดนบังคับให้ทำโน่นทำนี่ ต้องออกกำลังกล้ามเนื้อซึ่งพ่อบอกไม่ทำได้ไหมเราก็บอกว่าเอาตามที่สบายใจ ก็เลยละเว้นตรงนั้นไปก็เลยทำให้เกิดกล้ามเนื้ออ่อนแรง

กระดูกไม่หัก แค่นั่งพับเพียบลงไปคือกำลังขาอ่อน จริงๆ ซีกนึงพ่อใช้งานไม่ได้อยู่แล้ว ซึ่งก็ใช้มือข้างนึงค้ำซึ่งพอลุกขึ้นก็คิดว่าตัวเองไหว ปรากฏไม่ไหวซึ่งพ่อก็รู้ตัวตรงนั้นว่าไม่ไหว จากนี้แกก็ระวังตัวแล้ว ถ้าตื่นก็ต้องโทร.เรียกเข้าไปรับ”

รับตอนนี้มีอาการหลงลืมไปบ้าง เหตุเพราะความแก่ชรา
“ไม่ได้ลุกเดินเลย มันก็เลยเกิดการอ่อนแรงกัน ตอนนี้มีอาการขี้ลืม บางทีคุยฟังกันไม่ค่อยออก ต้องค่อยๆ คุยช้าๆ แล้วก็มีอาการลืมเนื้อเพลง อาการนี้เริ่มหนักพอเวลาพ่อไปงานไปร้องเพลงแล้วก็ลืมต้องคอยถือไมค์อีกตัวหนึ่งแล้วคอยช่วยกัน บางทีงงไปเลยว่าไปถึงท่อนไหนแล้ว อาการนี้เพิ่งเกิดขึ้นประมาณสักปีนึงได้ เมื่อตอนที่ไปอัดรายการไทยพีบีเอส คราวก่อนร้องๆ ไปลืมจนต้องขึ้นกระดานให้ คอนเสิร์ตหลังๆ ที่ศูนย์วัฒนธรรมก็ต้องมีเนื้อร้องวางไว้ข้างหน้า ทั้งที่เพลงนี้เป็นเพลงประจำ

แนวทางรักษาคือ หมอบอกว่าอายุมันเสื่อมสภาพ ร่างกายปีนี้คุณพ่อ 85 แล้วเสื่อมสภาพแล้ว พอเสื่อมสภาพทุกอย่างก็เสื่อมหมด ทำได้แค่นี้หาวิตามินบำรุงเท่านั้นหมอบอกไม่สามารถไปฟื้นฟูเซลล์สมอง เซลล์ของร่างกาย ก็ได้แค่ดูแลกัน”

บอกความจำบางส่วนหายไป แต่ไม่ลืมเรื่องราวในอดีตเมื่อ 30 ปีก่อน
เรื่องเก่าๆ ย้อนยุคไปเมื่อ 20 - 30 ปี ซึ่งลองแกล้งถามพ่อว่า เพลง มาลัยน้ำใจ พ่อแต่งที่ไหน ก็พยายามชวนคุยซึ่งพ่อก็จำได้หมดเลยทั้งสถานที่แล้วพอเรื่องที่ตัวเองทำไมถึงคิดเรื่องนี้อย่างเพลง พ่อลูกอ่อน พ่อวัดโบสถ์ไปเอามาจากไหน พอดีพ่อเป็นเด็กมาที่นี่แล้วเห็นยายคนนึงร้องวัดเอ๋ยวัดโบสถ์ก็ยืนฟังก็เลยเข้าไปคุยกับยายก็เลยเอาข้อมูลมาทำเป็นเพลงพ่อลูกอ่อนซึ่งเรื่องนี้ก็ 40-50 ปี

คือพ่อจำหน้าคน จำชื่อคน บางทีก็จำไม่ได้ มานิตย์ สีเลี้ยง ทำไมพ่อไม่รู้จักก็สนิทกันมาก แต่ตัวเองคุยโทรศัพท์ถามว่าใคร ก็บอกพี่มานิตย์โฟร์เอส เขาก็บอกอ๋อ หลังจากนี้เรื่องการเดินก็พยายามคุยกับเขาบ่อยๆ ก็ลองบอกพ่อออกมาทำรายการมาอัดคลิปกันดีกว่า อัดคลิปเล่าเรื่องเก่าเอาเรื่องที่จำได้อะไรแบบนี้ให้เขาทำเรื่องเพลง ก็ต้องเริ่มดำเนินการเรื่องนี้ แล้วก็ช่วยเรื่องการออกกำลังเรื่องกล้ามเนื้ออ่อนแรง เพราะถ้าเขาออกจากบ้านอารมณ์เขาจะดีมาก ไปงานก็จะคุยไม่หยุด”

ขอบคุณแฟนเพลงที่ยังรักและคิดถึงพ่อชาย เมืองสิงห์ เสมอ
“ตอนนี้ก็มีคนคอยประกบ ก็มีน้องสาวคนเล็กเขาว่างงานให้เขาดูแลอยู่ใกล้ๆ เลย ชีวิตประจำวันของพ่อก็ใช้ชีวิตปกติมากเลยตื่นมาพ่อก็จะนั่งคนเดียวตอนสายๆ ก็เริ่มทานอาหารแล้วก็ดูหนังสักพักนึงดูทีวีพ่อชอบ ดูข่าวสักพักหนึ่งพ่อก็จะบอกว่าข่าวช่วงนี้เดี๋ยวนี้มันร้าย แล้วเขาก็นอนตื่นมาอาบน้ำ ตอนนี้พ่อชอบทานก๋วยเตี๋ยวอย่างเดียว

ขอบคุณแฟนๆ นะครับ คือพ่อก็ยังรักแฟนเพลงทุกท่านยังคิดถึง อยากออกงานแต่ด้วยสภาพแกร้องไม่ค่อยไหว ล่าสุดติดเพลงไว้เพลงนึงก็ยังไม่ได้ร้องเป็นเพลงไหว้ครูซึ่งเคยร้องไว้ที่ตอนละครลิเกงานนี้ด้วย แต่ปรากฏว่าไม่ไหว มันเป็นเพลงที่แกแต่งไว้ในละครมันเป็นเรื่องของในละคร เราต้องร้องใหม่บันทึกใหม่ ก็ตั้งใจจะให้ทันงานไหว้ครูนี้ก็ไม่ทัน ก็ไม่เป็นไรเดี๋ยวมีโอกาสจะพาคุณพ่อมาร้องให้ฟังก็อัปเดตอาการคุณพ่อได้ จากช่องทีวีต่างๆ แล้วก็ขอบคุณแฟนๆ ทุกท่านครับ”

เผยรู้สึกประหลาดใจแม้จะหลงๆ ลืมๆ แต่เวลาแต่งเพลงหรือร้องเพลงจำได้
“ถ้ามีเนื้อสามารถร้องได้ แต่จะบอกพ่อแต่งไม่ได้ พอมาถึงหน้าห้องเขาจะเอาเนื้อมากาง เขาจะไม่เข้าร้องเลย เขาจะไม่เหมือนคนอื่น เขาจะนั่งหน้าห้องให้เปิดดนตรีดังๆ ให้เขาฟังแว่วๆ ไปเรื่อยๆ ให้เขาเริ่มแก้สัมผัสคำไหนไม่โดนจะแก้ตรงนั้นถือว่าแต่งได้ครับ อยู่ในสายเลือดเพียงแต่อารมณ์นึงที่นึกไม่ออก แต่ถ้าสมองมันหลั่งสารแล้วมันมามันมาได้ บางทีคำที่มาหน้าห้องอัดเรานึกไม่ถึงว่าพ่อเอาคำนี้มาใช้ คำมันลึกกว่าที่เราคิด ฉะนั้นไม่แปลกเลยเวลาถามพ่อแต่งเพลงใช้เวลานานไหมซึ่งมันไม่นาน อย่างเพลงชมสวนเพลงแรก เพราะยุคนั้นพ่อเป็นลูกวง นักร้องเด่นก็คือลุงพร ภิรมย์ เวลาจะร้องเพลงต้องให้ลุงพร ภิรมย์เป็นคนแต่ง เพื่อจะแต่งเป็นเพลงแหล่พ่อรู้สึกว่าไม่ใช่ตัวตนก็เลยพยายามทำของตัวเอง ก็แต่งเพลงชมสวน แต่งไปสามหน้ากระดาษ ซึ่งมันยาวเกินไปต้องทอนแกก็ทอนได้หน้างานเลย จนเหลือเวลาแค่ 3 นาที แผ่นเสียงมันเกิน 3 นาทีไม่ได้ ทอนเดี๋ยวนั้นนี่คือเป็นความสามารถของเขา

ก็แปลกใจครับ ซึ่งผมเป็นโปรดิวเซอร์ทำงานด้านดนตรีเจอครูเพลงเยอะ ซึ่งครูเพลงจะมีคุณสมบัติแบบนี้ พ่อจิ๋ว พิจิตร ก่อนจะเสียก็ได้ทำงานร่วมกัน ครูลพ บุรีรัตน์ ครูชลธี ธารทอง ซึ่งผมเคยเจอครู 2 คนนี้คุยกัน ทำเพลงถวายในหลวงแต่งร่วมกัน เขาให้แต่งร่วมกันในห้องอัด เขาไปแบ่งท่อนกันคือทั้งหมดมี 8 ท่อน เขาแบ่งคนละ 4 ท่อน ศิลปิน 8 คน คนละท่อน เขามานั่งคุยกันเขาเรียกกันไอ้แก่ พ่อลพบอกเรามาแข่งเพลงแต่งกันไอ้แก่ ใครแต่งเนื้อน้อยที่สุดแล้วเข้าใจได้ ซึ่งผมก็รอดูว่าพ่อเขาจะแต่งยังไงกัน ซึ่งคำมันน้อยแต่มันบอกเรื่องให้รู้เลยว่าเรื่องนี้ๆ นี่คือความสามารถของครูเพลงรุ่นเก่า ก็อยากได้อยากให้มีเด็กลูกหลานที่สืบสานเพลงลูกทุ่งคงไม่หาย ส่วนหนึ่งที่หายไปเพราะว่าเพลงเก่าคนรุ่นใหม่ไม่รู้จัก ส่วนเพลงรุ่นใหม่มันไม่ได้มีแบบนั้น ไม่ได้มีมนต์เสน่ห์แบบนั้น ถ้ามีครูเพลงที่ชอบแต่งเพลงพยายามออกมาแสดงตัวให้ได้ครับวงการลูกทุ่งต้องการอยู่ครับ”








กำลังโหลดความคิดเห็น