บอร์ดรฟท.นัด 13 มี.ค.นี้เคาะแก้สัญญาไฮสปีด 3 สนามบิน เร่งส่งอัยการ “จุฬา”ลุ้นเสนอบอร์ดอีอีซีใน เม.ย.คาดชงครม.ได้ในพ.ค. ขณะที่แผน ซี.พี.เร่งเข้าพื้นที่ 2 จุดแรก “อู่ตะเภาใต้รันเวย์” และทับซ้อนรถไฟไทย-จีน ระยะเวลาก่อสร้างทดสอบระบบ 5 ปี
นายจุฬาสุขมานพเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(สกพอ.)หรืออีอีซี เปิดเผยถึงความคืบหน้า การแก้ไขสัญญาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง - สุวรรณภูมิ - อู่ตะเภา) ว่า ขณะนี้รอขั้นตอนที่การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)จะเสนอร่างสัญญาร่วมทุนฯ ให้คณะกรรมการ (บอร์ด)รฟท.พิจารณาอนุมัติ ซึ่งล่าสุด ทราบว่าจะมีการเสนอบอร์ด รฟท.พิจารณาในเดือนมี.ค.2568 และหลังจากนั้น รฟท.จะส่งร่างสัญญาให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจสอบคาดว่าใช้เวลประมาณ1เดือนจากนั้นจะส่งเรื่องกลับมาเสนอบอร์ดอีอีซีเพื่อเห็นชอบร่างสัญญาคาดหมายว่าจะอยู่ภายในเดือนเม.ย. เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขออนุมัติภายในเดือนพ.ค.2568 และเร่งลงนามแก้ไขสัญญาร่วมทุนฯและจะออกหนังสือให้เริ่มงาน(Notice to Proceed: NTP)ต่อไป
@ตั้งคณะทำงานรฟท.กลั่นกรอง ร่างสัญญาฯ พร้อมชงบอร์ด 13 มี.ค.นี้
นายอนันต์ โพธิ์นิ่มแดง รองผู้ว่าฯ รฟท. กล่าวว่า รฟท.เตรียมเสนอร่างสัญญาร่วมทุนฯรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ต่อที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท. พิจารณาอนุมัติในวันที่ 13 มี.ค. 2568 หลังจากก่อนหน้านี้ มีการพิจารณากลั่นกรองจาก คณะทำงานฯที่ผู้ว่าฯรฟท.ตั้งขึ้น แล้ว และเมื่อวันที่ 6 มี.ค. 3568 คณะอนุกรรมการด้านกฎหมายของรฟท.ได้ประชุมเรียบร้อยแล้ว โดยหลังจากผ่านบอร์ดรฟท. จะเร่งส่งเรื่องไปอัยการฯเพื่อตรวจสอบตามขั้นตอนต่อไป
@ซี.พี.เร่งเข้าพื้นที่ 2 จุด“ใต้รันเวย์อู่ตะเภา -ทับซ้อนรถไฟไทย-จีน”
รายงานข่าวจากรฟท. เปิดเผยว่า หากสามารถลงนามแก้ไขสัญญาร่วมทุนฯได้ในเดือนพ.ค. 2568 รฟท.พร้อมออก NTP ให้ บจ.เอเชีย เอราวัน (ซี.พี.) เริ่มงานได้ภายในเดือนมิ.ย. 2568 โดยที่ผ่านมามีการประสานแผนก่อสร้างกันไว้แล้ว โดยซี.พี.จะเริ่มเข้าพื้นที่ก่อสร้าง 2 จุด ที่เป็นงานเร่งด่วนก่อน คือ บริเวณใต้รันเวย์ ที่ 2 สนามบินอู่ตะเภา และบางซื่อ-ดอนเมืองบริเวณที่มี โครงสร้างร่วมกับโครงการรถไฟไทย-จีน(สัญญา4-1)
สำหรับระยะเวลาก่อสร้างและเปิดเดินรถมีระยะเวลาภายใน 5 ปี ทำให้ ทางซี.พี.จะใช้วิธีการก่อสร้างแบบ Full Span Launching Gantries เป็นหลัก ซึ่งเป็นเทคนิคการสร้างสะพานหรือทางยกระดับที่เร็วที่สุด โดยมี โรงหล่อเซกเมนต์รวมประมาณ 3 จุด เช่น ที่บริเวณลาดกระบัง ดังนั้นจะมีการก่อสร้างฐานรากตอม่อรถไฟจากโรงหล่อ เพื่อเป็นเส้นทางส่งต่อชิ้นส่วนเซกเมนต์แต่ละช่วงยาวไม่ต่ำกว่า 30 เมตร เพราะขนส่งทางรถยนต์ไม่ได้ ส่วนช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง อาจจะใช้วิธีก่อสร้างทีละช่วงเซกเมนต์ที่สั้นกว่า เพื่อให้สามารถขนส่งเซ็กเมนต์ทางรถยนต์ได้
ขณะที่ช่วงที่เป็นเส้นทางรถไฟฟ้า แอร์พอร์ตเรลลิงก์ ในปัจจุบัน จากพญาไท-สุวรรณภูมิ นั้น รถไฟความเร็วสูง จะใช้ทางวิ่งร่วมด้วย ซึ่ง ทางซี.พี.อยู่ระหว่างพิจารณาเลือกตู้รถไฟความเร็วสูง (Rolling Stock) โดยหากเลือกชนิดตัวรถกว้างแบบ Wide Body จะต้องมีการตัดชานชลาของสถานีแอร์พอร์ตลิงก์ออก เพื่อให้ขบวนรถวิ่งผ่านไปได้ เนื่องจากชานชลาออกแบบสำหรับขบวนรถของแอร์พอร์ตลงก์ ที่เป็นตัวรถแบบแคบ หรือ Narrow Body
โดยตามแผนงานก่อสร้างและทดสอบระบบจะใช้เวลา 5 ปีเปิดบริการในปี 2572-2573