xs
xsm
sm
md
lg

ชำแหละแนวคิด “รถเก่าแลกรถใหม่” กลยุทธ์(เก่า) แก้ “รถขายไม่ออก” ที่ยังไม่มีเสียงตอบรับจากหมายเลขที่ท่านเรียก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



มีคำถามเกิดขึ้นในทันที เมื่อสื่อต่างประเทศชื่อดังอย่าง “รอยเตอร์” รายงานว่า รัฐบาลไทยกำลังพูดคุยในเบื้องต้นกับบรรดาผู้ผลิตรถยนต์ทั้งหลาย เกี่ยวกับ “โครงการรถเก่าแลกซื้อรถใหม่และกำจัดซากรถเก่า” เพื่อแก้สถานการณ์การจำหน่ายรถยนต์ในประเทศที่ “ติดขัด” และ “ค้างท่อ” อยู่เป็นจำนวนมาก ว่าจะเป็นการแก้ปัญหาได้ตรงจุด หรือไม่อย่างไร

เพราะจะว่าไปนี่ไม่ใช่“แนวคิดใหม่”แต่เคยมีการนำเสนอออกมาก่อนหน้านี้ ภายใต้การผลักดันของ“นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ”เมื่อครั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในปี 2563

แต่แล้ว “บิ๊กโปรเจ็กต์” ที่ถูกตีปี๊บอย่างต่อเนื่องก็มีอันต้องพับฐานลงไป “ตามความคาดหมาย” เพราะนับแต่เริ่มแรกก็เต็มไปด้วย “เสียงคัดค้าน” กันทั้งบ้านทั้งเมือง ด้วยมองว่าเต็มไปด้วยปัญหาที่ไม่สามารถอธิบายให้กระจ่างแจ้งได้ว่า “ทำไปเพื่ออะไร” และ “ใครจะได้ประโยชน์” จากเรื่องนี้ โดยเฉพาะเสียงค้านจากผู้คนในแวดวงอุตสาหกรรมรถยนต์

ที่สำคัญคือสื่อหลายสำนักรายงานตรงกันว่า “บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในขณะนั้น เป็นคนที่ขอให้ชะลอโครงการนี้ออกไปด้วยตัวเอง โดยให้ข้อสังเกตว่า อยากให้นายสุริยะไปพิจารณาข้อดี ข้อเสีย ให้รอบด้าน เพราะหวั่นว่าจะทำให้อุตสาหกรรมรถยนต์เพี้ยนไป หากดูแลเฉพาะรถยนต์รถไฟฟ้า รถยนต์ธรรมดาจะทำอย่างไร

สำหรับเที่ยวนี้ เรื่องดังกล่าวถูกเปิดเผยออกมาโดย “รอยเตอร์” อ้างอิงแหล่งข่าว 2 คนและเจ้าหน้าที่ในภาคอุตสาหกรรม 3 รายว่า รัฐบาลไทยกำลังพูดคุยในเบื้องต้นกับบรรดาผู้ผลิตรถยนต์ทั้งหลาย เกี่ยวกับโครงการรถเก่าแลกซื้อรถใหม่และกำจัดซากรถเก่า ในความพยายามกอบกู้อุตสาหกรรมยานยนต์ ที่กำลังเผชิญวิกฤตครั้งใหญ่หลวงที่สุดในรอบหลายทศวรรษ

รอยเตอร์ระบุชัดว่า กำลังผลิตในศูนย์กลางยานยนต์ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งนี้ ลดลงอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางการไหลบ่าเข้ามาของรถอีวีใหม่ ตามหลังภาวะชะลอตัวในการส่งออกและยอดขายที่อ่อนแอในประเทศ ในขณะที่ภาวะตึงตัวของการปล่อยสินเชื่อ ในช่วงเวลาที่หนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ กำลังส่งผลกระทบอย่างหนักต่อการซื้อรถยนต์

“บรรดาบริษัทยานยนต์ญี่ปุ่น รวมถึงโตโยต้ากำลังหารืออย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับโครงการจัดการกับรถยนต์ที่หมดอายุ ภายใต้ความคิดริเริ่มและการนำของรัฐบาลไทย เพื่อลดอายุของรถยนต์ที่มีแนวโน้มปล่อยมลพิษในระดับสูง” พนักงานโตโยต้าประจำประเทศไทย ระบุในถ้อยแถลงที่ส่งถึงรอยเตอร์” และว่า “ได้มีการหารือเกี่ยวกับกรอบการทำงานและกลไกของมัน ในหมู่อุตสาหกรรมยานยนต์ รัฐบาลและพวกนักวิชาการ”

เจ้าหน้าที่บอกกับรอยเตอร์ว่าการหารือยังอยู่ในขั้นต้นและไม่เคยมีข่าวมาก่อนหน้านี้ โครงการนี้จะได้เห็นผู้บริโภคนำรถเก่ามาแลกเพื่อเป็นส่วนลดสำหรับการซื้อรถยนต์ใหม่ พร้อมด้วยการกำจัดซากรถเก่า

“บรรดาผู้ผลิตรถยนต์กำลังผลักดันโครงการนี้อย่างหนัก เพราะพวกเขาต้องการขายรถยนต์” นายสมพล ธนาดำรงศักดิ์ นายกสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย (TAPMA) บอกกับรอยเตอร์ พร้อมระบุอายุของรถยนต์ที่อยู่ในการพิจารณาสำหรับโครงการนี้ ขั้นต่ำน่าจะอยู่ที่ 10 ปี

นอกาจากนั้น รอยเตอร์ยังรายงานด้วยว่า กำลังผลิตรถยนต์ในไทย ลดลงราวๆ 1 ใน 10 เมื่อปีที่แล้ว แตะระดับต่ำสุดในรอบ 4 ปี โดยยอดขายภายในประเทศและตัวเลขการส่งออก ลดลง 26% และ 8.8% ตามลำดับ ในขณะที่กำลังผลิตในเดือนมกราคม ถือเป็นการลดลงเป็นเดือนที่ 18 ติดต่อกัน และลดลงมากกว่า 24% เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2024

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนราว 10%ของจีดีพี ต้องการกอบกู้ยอดขาย ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจซึมเซา และความปั่นป่วนอันเนื่องจากบรรดาผู้ผลิตรถอีวีสัญชาติจีนทั้งหลาย อย่าง บีวายดีและเกรท วอลล์ มอเตอร์ส ที่อัดฉีดเม็ดเงินกว่า 3,000 ล้านดอลลาร์ เข้าสู่โรงงานต่งๆในไทย

โรงงานเหล่านี้ผลิตรถยนต์ใหม่ๆ ออกมาและหั่นราคาลง ท้าทายความเป็นเจ้าตลาดของบรรดาผู้ผลิตสัญชาติญี่ปุ่นอย่างโตโยต้า และ ฮอนด้า ทำให้โครงการแลกเปลี่ยนรถยนต์เป็นที่น่าดึงดูดใจเพิ่มมากขึ้นสำหรับลูกค้า

อีกมุมหนึ่งที่มีการพูดคุยก็คือการพิจารณาอายุของรถยนต์ในอยู่ในข่ายกำจัดซาก และแหล่งข่าวในรัฐบาล ซึ่งไม่ประสงค์เอ่ยนามบอกกับรอยเตอร์ เชื่อว่าจะมีข่าวดีเร็วๆ นี้

แหล่งข่าวในรัฐบาลและบุคคลรายหนึ่งในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ใกล้ชิดกับประเด็นนี้ เปิดเผยกับรอยเตอร์ว่า โตโยต้า ผู้นำตลาดในไทย กำลังผลักดันอย่างหนักสำหรับข้อเสนอกำจัดซากรถยนต์

“โตโยต้า จะได้ประโยชน์ผ่านบริษัทลูกด้านจัดการรถยนต์หมดอายุ Green Metals” แหล่งข่าวในอุตสาหกรรมรถยนต์ระบุ พร้อมบอกว่าประเด็นต่างๆ ไล่ตั้งแต่การเงิน ไปจนถึงโครงสร้างพื้นฐานการรีไซเคิลและการบริหารจัดการ ยังคงจำเป็นต้องเคาะในรายละเอียด

อย่างไรก็ดี หลังปรากฏเป็นข่าว “นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์” ที่ปรึกษาประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงกระแสข่าวที่เกิดขึ้นว่า จริงๆ เรื่องนี้ทาง ส.อ.ท. เคยเสนอภาครัฐมาหลายปีแล้วเกี่ยวกับการนำรถเก่าที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไป มาแลกซื้อรถใหม่ เพื่อลดปัญหามลภาวะทางอากาศ ไม่ว่าจะเป็นฝุ่นละอองขนาดเล็ก 2.5 หรือ PM2.5 และช่วงเวลานั้นมีจำนวนผู้ใช้รถเก่าที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไป แตะสองล้านกว่าคัน ทั้งรถที่ใช้น้ำมันเบนซินและน้ำมันดีเซล และรถจำพวกเหล่านั้นมีเครื่องยนต์และอะไหล่ที่ค่อนข้างเก่า ดังนั้น หากนำรถเหล่านั้นมาแลกซื้อ เป็นรถใหม่ที่มีเครื่องยนต์ใหม่และประสิทธิภาพดี ก็จะมีส่วนช่วยลดมลพิษทางอากาศได้

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ก็เงียบไปนานพอสมควรและยังไม่มีความคืบหน้า จนปลายปี 2567 ทราบจากข่าวว่าบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด จะเสนอเรื่องนี้ ทว่า ขณะนี้ ยังไม่มีการสรุปผลชัดเจนว่า มาตรการนี้จะมีความเป็นไปได้หรือไม่ เนื่องจากเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงานในภาครัฐ ซึ่งทางรัฐบาลก็จะต้องมีการไปหารือกันภายในหน่วยงานรัฐกันเองก่อน เพราะฉะนั้นจึงยังไม่สามารถให้ข้อมูลรายละเอียดที่ชัดเจนได้

ทั้งนี้ ถ้าหากวิเคราะห์ข้อมูลและคำให้สัมภาษณ์ที่ไล่เรียงเอาไว้ข้างต้น สิ่งที่สรุปได้ก็คือ ค่ายรถยนต์ที่นำเสนอแนวคิดดังกล่าวก็คือ “โตโยต้า” และยังไม่มีความแน่ชัดว่า “ค่ายอื่นๆ” จะเห็นดีเห็นงามด้วยหรือไม่ ที่สำคัญคือ ยังไม่แน่ชัดเช่นกันว่า จะได้รับการตอบรับจากภาครัฐหรือไม่อย่างไร

แต่ที่แน่ๆ คือ มาตรการเร่งด่วนที่ภาคอุตาหกรรมยานยนต์ให้ภาครัฐเร่งดำเนินการก็คือการขอให้เร่งออกมาตรการช่วยเหลือค้ำประกันการปล่อยสินเชื่อซื้อรถกระบะให้เร็วขึ้นจาก 4 เดือนเป็น 2 เดือน

“ผมมองว่า หัวใจหลักปัญหาอยู่ที่การไม่ปล่อยสินเชื่อรถมากกว่า ขอให้รัฐเร่งออกมาตรการให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เป็นผู้ค้ำประกันสินเชื่อรถกระบะ เพื่อกระตุ้นยอดซื้อรถใหม่ ให้เร็วขึ้นจากเดิมระบุว่า 4 เดือน มองว่า ช้าเกินไป ขอเป็นภายใน 2 เดือน เพราะการผลิตรถกระบะ ใช้แรงงานเป็นจำนวนมาก หากแรงงานมีรายได้ก็จะไปจับจ่ายใช้สอย มีกำลังซื้อ และอุตฯยานยนต์มีซัพพายเชนที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก จะได้รับอานิสงส์ทั้งหมด”นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์” ที่ปรึกษาประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าว

นอกจากนี้อยากให้เร่งพิจารณามาตรการที่คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เคยเสนอแนวทางแก้ปัญหาอุตสาหกรรมยานยนต์ตกต่ำไปช่วงปลายปี 67 ที่ขอให้จัดตั้งกองทุนชดเชยการขาดทุนจากรถกระบะที่ถูกยึดวงเงิน 5,000 ล้านบาท หรือเท่าไรก็ได้ ช่วยกระตุ้นยอดขายรถกระบะขึ้นมาก หากมียอดขายรถกระบะเพิ่มขึ้น 100,000 คัน หรือมูลค่า 60,000 ล้านบาท รัฐบาลจะมีรายได้จากการเก็บภาษีสรรพสามิต 1,800 ล้านบาท และภาษีมูลค่าเพิ่ม 4,200 ล้านบาท สูงกว่างบที่นำมาจัดตั้งกองทุนฯ และยังมีรายได้จากส่วนอื่นๆ หากภาวะเศรษฐกิจขยายตัวเติบโตได้ดี”

“การตั้งกองทุนฯ ถือเป็นเรื่องวินๆ ที่เราเลือกรถกระบะ เพราะรถกระบะ ใช้ชิ้นส่วนจากในประเทศสูงถึง 90% และเป็นเครื่องมือทำมาหากินของประชาชน เพราะฉะนั้นการใช้ชิ้นส่วนในประเทศ จะเพิ่มขึ้นอีกเยอะ และการชดเชยผลจากการขาดทุนจากรถถูกยึดให้ไฟแนนท์ เป็นการชดเชยตามจริง แต่ไม่เกินคันละ 50,000 บาท เชื่อว่า จะทำให้กระตุ้นยอดขายได้ เพราะตอนนี้ไฟแนนซ์ไม่กล้าปล่อยกู้ เพราะกลัวยึดรถแล้วขายขาดทุน ถ้ากระตุ้นยอดขายรถกระบะปีหน้าเพิ่มอีก 100,00 คัน มีส่วนช่วยให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปีนี้ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากที่คาดการณ์ไว้ 2.8% เป็น 3.1-3.2%”นายสุรพงษ์กล่าว

ขณะที่เมื่อไปตรวจสอบข้อเท็จจริงจากบรรดาภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ดูเหมือนจะไม่รับรู้ถึงการเคลื่อนไหวเพื่อผลักดันแนวความคิดรถเก่าแลกรถใหม่แต่อย่างใด ไม่ว่าจะเป็น“นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์”เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ที่พูดชัดว่าไม่ทราบเรื่องนี้เลย ไม่รู้ว่าข่าวนี้ออกมาได้อย่างไร ทราบแต่ว่าเรื่องนี้เคยเป็นข้อเสนอจากภาคเอกชน แต่ก็นานแล้ว

เช่นเดียวกับ “นายดนุชา พิชยนันท์”เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ ที่บอกว่า “งงเลย ไม่เคยได้ยินมาก่อนว่ารัฐบาลจะทำโครงการนี้ และถ้าทำก็ต้องดูว่ารถเก่าจะเอาไปไหน ใครจะทำลาย หรือว่าเป็นเรื่องที่เคยมีการเสนอขึ้นมาจากหอการค้าญี่ปุ่นที่พูดกันมานานแล้วว่ารถยนต์ที่ใช้แล้ว 6-7 ปีน่าจะเปลี่ยนใหม่ได้แล้ว”

เอาเป็นว่า คงต้องติดตามกันต่อไปว่า ค่ายรถยนต์ที่เคยใช้ชีวิตสบายๆ ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ต้องกุมขมับหาสารพัดแนวทางมาแก้ไขจะผ่านพ้นสถานการณ์ความยากลำบากไปได้ด้วยวิธีใด
กำลังโหลดความคิดเห็น