xs
xsm
sm
md
lg

การบินไทยประกาศ งดใช้ "พาวเวอร์แบงก์" ระหว่างเที่ยวบิน มีผล 15 มี.ค.นี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



การบินไทยประกาศกำหนดมาตรการ ไม่อนุญาตให้ใช้พาวเวอร์แบงก์ระหว่างอยู่บนเครื่องบิน มีผล 15 มี.ค. นี้ ขณะที่ก่อนหน้านี้ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ยืนยันยังใช้หลักเกณฑ์ตามมาตรฐานและคำแนะนำของ ICAO แนะตรวจสอบความจุและสภาพแบตเตอรีก่อนเดินทาง

วันนี้ (7 มี.ค.) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ประกาศกำหนดมาตรการการพกพาแบตเตอรีสำรอง หรือ พาวเวอร์แบงก์ (Power Bank) เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสาร เนื่องจากเหตุการณ์เพลิงไหม้ที่เกิดขึ้นกับสายการบินต่างประเทศ ซึ่งมีข้อสันนิษฐานว่าอาจเกี่ยวข้องกับการใช้งานพาวเวอร์แบงก์ระหว่างเที่ยวบิน การบินไทยจึงกำหนดมาตรการด้านความปลอดภัย โดยไม่อนุญาตให้ใช้พาวเวอร์แบงก์ระหว่างอยู่บนเครื่องบิน มีผลตั้งแต่วันที่ 15 มี.ค. 2568 เป็นต้นไป ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวมีขึ้นเพื่อให้มั่นใจในความปลอดภัยสูงสุดของผู้โดยสารและลูกเรือ ขอความร่วมมือผู้โดยสารทุกคนปฏิบัติตามข้อกำหนดดังกล่าวและขออภัยในความไม่สะดวกมา ณ ที่นี้

ก่อนหน้านี้ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ได้โพสต์ข้อความถึงหลักเกณฑ์การนำแบตเตอรี่สำรอง (Power Bank) ขึ้นเครื่องบิน โดยไม่สามารถนำไปในรูปแบบสัมภาระลงทะเบียน (Checked Baggage) เพื่อโหลดใต้ท้องเครื่องบินได้ เนื่องจากในระหว่างการเดินทาง แบตเตอรี่สำรองซึ่งมีส่วนประกอบจากลิเธียม (Lithium) อาจเกิดความร้อนสะสมจนก่อให้เกิดเพลิงไหม้หรือระเบิดได้ ซึ่งหากเกิดเพลิงลุกไหม้ในพื้นที่เก็บสัมภาระใต้ท้องเครื่องบิน จะทำให้ยากต่อการควบคุมเหตุการณ์ แต่หากพกพาแบตเตอรี่สำรองขึ้นในห้องโดยสาร เมื่อเกิดเพลิงไหม้แบตเตอรี่สำรอง ลูกเรือที่ได้รับการฝึกฝนตามมาตรฐานที่กำหนด จะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที
ผู้โดยสารจะต้องนำแบตเตอรี่สำรองไปในรูปแบบสัมภาระติดตัวขึ้นเครื่อง (Carry On Baggage) โดยองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization) หรือไอเคโอ (ICAO) และสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (International Air Transport Association) หรือ ไอเอทีเอ (IATA) ได้กำหนดขนาดความจุของแบตเตอรี่สำรองที่นำติดตัวขึ้นเครื่องได้ คือ หากแบตเตอรี่สำรองมีขนาดความจุ ไม่เกิน 100 Wh (Watt-Hour) หรือ 20,000 mAh (milli ampere-hour) ผู้โดยสารสามารถนำติดตัวขึ้นเครื่องได้คนละไม่เกิน 20 ชิ้น หากขนาดความจุเกิน 100 Wh (Watt-Hour) หรือ 20,000 mAh แต่ไม่เกิน 160 Wh (Watt-Hour) หรือ 32,000 ผู้โดยสารสามารถนำติดตัวขึ้นเครื่องได้คนละไม่เกิน 2 ชิ้น

แต่ถ้าขนาดความจุเกิน 160 Wh (Watt-Hour) หรือ 32,000 mAh จะไม่สามารถนำขึ้นเครื่องบินได้ในทุกกรณี

ปัจจุบันมีเหตุการณ์แบตเตอรี่สำรองลุกไหม้บนห้องโดยสารเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ทำให้สายการบินบางประเทศ เช่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ออกกฎระเบียบเพิ่มเติม เช่น การห้ามชาร์จแบตเตอรี่บนเครื่องบิน และไม่ให้เก็บแบตเตอรี่สำรองบนพื้นที่เก็บสัมภาระเหนือศีรษะ อย่างไรก็ตาม กพท. และสายการบินของไทย ยังใช้หลักเกณฑ์ตามมาตรฐานและคำแนะนำของ ICAO ทั้งนี้ CAAT แนะนำให้ผู้โดยสารตรวจสอบขนาดความจุของแบตเตอรี่สำรองและสภาพของแบตเตอรี่สำรองให้เป็นไปตามมาตรฐานก่อนการเดินทาง เพื่อความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยทุกเที่ยวบิน






กำลังโหลดความคิดเห็น