ถกเดือดพิมพ์แบบเรียน สกสค. ส่อกีดกันบ.รุ่งศิลป์ เสนอราคาต่ำสุด ไม่ได้สักรายการ
“กมธ.ป.ป.ช. สภาฯ” ถกเดือดโครงการพิมพ์แบบเรียนปี 68 งบฯพันล้าน “ก.บัญชีกลาง” จัดหนัก “องค์การค้าของ สกสค.” เจตนากีดกันแข่งขัน แถมส่อล็อกสเปกกระดาษ ส่อปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ทั้งที่เคยแจ้งว่าขัด กม.จัดซื้อฯ “รุ่งศิลป์ฯ” โอดไม่ได้งานแม้แต่รายการเดียว ทั้งที่เสนอราคาต่ำกว่าอื้อ “องค์การค้าฯ” ขยี้เหตุส่งหนังสือปี 67 ไม่ทัน จนถูกบอกเลิกสัญญา เจองัดหนังสือฝ่ายผลิต องค์การค้าฯ เซ็นยอมรับส่งปกไม่ครบสวน
เมื่อวันที่ 6 มี.ค.68 ที่อาคารรัฐสภา ในการประชุมคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ (กมธ.ป.ป.ช.) สภาผู้แทนราษฎร ที่มี นายฉลาด ขามช่วง สส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธาน กมธ.ป.ป.ช.เป็นประธานในที่ประชุม มีการพิจารณาเรื่องร้องเรียนขอให้ตรวจสอบกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างโครงการจ้างพิมพ์หนังสือแบบเรียนปีการศึกษา 2568 จำนวน 145 รายการ งบประมาณ 1,060 ล้านบาท ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (องค์การค้าของ สกสค.) ที่มีลักษณะกีดกันการแข่งขันอย่างเป็นธรรม ซึ่ง บริษัท รุ่งศิลป์การพิมพ์ (1997) จำกัด (บจ.รุ่งศิลป์ฯ) ที่เป็นผู้ร่วมเสนอราคายื่นร้องเรียนต่อ กมธ.ฯ
ในการประชุมได้เชิญ ผู้แทน บจ.รุ่งศิลป์ฯ หรือโรงพิมพ์รุ่งศิลป์ ในฐานะผู้ร้อง, ผู้แทนองค์การค้าของ สกสค. ในฐานะผู้ถูกร้อง และผู้แทนจากหน่วยงานสังกัดกระทรวงศึกษาธิการที่เกี่ยวข้อง รวมถึง ผู้แทนกรมบัญชีกลาง ในฐานะกำกับดูแลระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เข้าร่วมชี้แจง
นายธีรัจชัย พันธุมาศ สส.พรรคก้าวไกล ในฐานะรองประธาน กมธ.ฯ คนที่ 1 ได้สอบถามถึงประเด็นที่ บจ.รุ่งศิลป์ฯ ได้ร้องเรียนว่า ในขอบเขตงาน (ทีโออาร์) ของโครงการฯ ทั้งครั้งที่เปิดประกวดราคาโดยวิธี e-bidding ซึ่งยกเลิกไปแล้ว และการประกวดราคาโดยวิธีคัดเลือก มีการระบุถึงคุณสมบัติผู้เข้าร่วมเสนอราคาว่า ต้องไม่เป็นผู้ที่ถูกองค์การค้าของ สกสค.บอกเลิกสัญญาในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่ง บจ.รุ่งศิลป์ฯ ระบุว่า ถูก องค์การค้าของ สกสค.บอกเลิกสัญญาบางรายการของโครงการจ้างพิมพ์หนังสือแบบเรียนปีการศึกษา 2567 อย่างไม่เป็นธรรม และมีการเรียกร้องค่าเสียจากทางองค์การค้าของ สกสค. รวมทั้งคดีที่ฟ้องร้องต่อศาลปกครองก็ยังไม่สิ้นสุด จึงมองว่าเป็นการกีดกัน บจ.รุ่งศิลป์ฯ ในแข่งขันโครงการฯ ปี 2568 ซึ่ง บจ.รุ่งศิลป์ฯ ก็ได้ร้องเรียนไปยัง กรมบัญชีกลาง รวมถึงยื่นคำร้องต่อ ศาลปกครองกลาง และอยู่ระหว่างการไต่สวนด้วย
ผู้แทนกรมบัญชีกลาง ชี้แจงว่า กรณีกีดกันนี้ บจ.รุ่งศิลป์ฯ ได้ร้องเรียนมายังกรมฯ 2 ครั้ง คือเมื่อวันที่ 2 ม.ค.68 ขณะมีการประกวดราคาโดยวิธี e-bidding ที่ได้ยกเลิกไปแล้ว ถือว่าคำร้องสิ้นสุด และเมื่อวันที่ 27 ก.พ.68 ช่วงประกวดราคาโดยวิธีการคัดเลือก ซึ่งอยู่ในระหว่างหาข้อมูลประกอบเพื่อพิจารณา จึงยังไม่ได้ตอบกลับข้อร้องเรียนกับทาง บจ.รุ่งศิลป์ฯ อย่างไรก็ตามเมื่อโครงการฯปี 2567 ทาง บจ.รุ่งศิลป์ฯ ก็เคยได้หารือในกรณีถูกกีดกันมาเช่นกัน กรมฯ ก็เคยตอบกลับแล้วว่า การกำหนดคุณสมบัติผู้เสนอราคาว่า ต้องไม่เคยถูกบอกเลิกสัญญา หรือเคยทำให้หน่วยงานเสียหาย ไม่สามารถกำหนดในทีโออาร์ได้ เพราะขัดกับมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ 2560 (พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ)
“โดยหลักการ ไม่ว่าจะประกวดราคาด้วยวิธีการใด หากระบุในทีโออาร์เกี่ยวกับคุณสมบัติการถูกบอกเลิกสัญญา หรือทำให้หน่วยงานเสียหายในลักษณะนี้ ถือเป็นการกีดกันทั้งสิ้น ซึ่งกรมฯ ได้เคยตอบข้อหารือไปหมดแล้วว่าขัดกฎหมาย แต่หน่วยงานจะปรับแก้ไข หรือนำไปดำเนินการอย่างไร กรมฯ ไม่อาจรับรู้ได้ทุกรายการ แต่ยืนยันว่าการระบุคุณสมบัติเช่นนี้ไม่เป็นไปตามระเบียบและกฎหมาย” ผู้แทนกรมบัญชีกลาง ระบุ
ถึงช่วงนี้ นายธีรัจชัย ที่ผลัดทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมกล่าวสรุปว่า “กรณีที่ กรมบัญชีกลาง มีความเห็น หรือเคยเตือนแล้วว่า ขัดต่อกฎหมาย แต่หน่วยงานยังดำเนินการต่ออีก ก็ถือว่าเจตนาที่จะกีดกัน เข้าข่ายการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ” ซึ่งในที่ประชุมไม่มีผู้คัดค้านถ้อยคำดังกล่าว
อย่างไรก็ตามในช่วงนี้ ผู้แทนองค์การค้าของ สกสค. รวมถึงผู้แทนหน่วยงานสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ยังไม่ได้รับเชิญเข้าห้องประชุม
นายนัทธพลพงศ์ จิวัจฉรานุกูล รองกรรมการผู้จัดการ บจ.รุ่งศิลป์ฯ กล่าวต่อประชุมเสริมว่า ในการประกวดราคาโครงการฯ ปี 2568 โดยวิธีการคัดเลือก บริษัทฯก็ได้เข้าร่วมเสนอราคาด้วย และหลังจากมีการประกาศผลการประกวดราคา ปรากฎว่า บริษัทฯ ไม่ได้รับการคัดเลือกแม้แต่รายการเดียว ทั้งที่มีอย่างน้อย 30 จาก 145 รายการ ที่บริษัทฯเสนอราคาต่ำกว่าผู้ชนะการประกวดราคาค่อนข้างมาก จึงเชื่อว่ามีการใช้เงื่อนไขที่ระบุในทีโออาร์ในเรื่องการถูกบอกเลิกสัญญา รวมถึงต้องเป็นผู้ที่ไม่เคยทำให้ องค์การค้าของ สกสค.เสียหาย มากีดกันโดยตัดคะแนน หรือตัดคุณสมบัติบริษัทฯ อย่างไม่เป็นธรรม
“เรายังไม่ทราบเหตุผลที่แท้จริงว่า เหตุใดที่เราซึ่งเสนอราคาต่ำกว่าผู้ชนะในหลายรายการ แล้วแต่ละรายการก็ต่ำกว่าค่อนข้างมาก แต่กลับไม่ได้คัดเลือกเป็นผู้รับจ้างแม้แต่รายการเดียว เพราะประกาศของ องค์การค้าของ สกสค.มีเฉพาะรายชื่อผู้ชนะการประกวดราคา 145 รายการของโครงการฯ แต่ไม่ได้แนบแบบฟอร์มรายละเอียดการให้คะแนนแต่ละรายการตามที่ กรมบัญชีกลาง กำหนด อีกทั้งการประกวดราคาโดยการคัดเลือกครั้งนี้เลือกใช้ข้อ (ค.) ที่ใช้เหตุความจำเป็นเร่งด่วน ทำให้ไม่สามารถอุทธรณ์ผลการประกวดราคาได้ และทำได้เพียงร้องเรียนต่อ กรมบัญชีกลาง รวมถึงอาจจะยื่นฟ้องต่อศาลเท่านั้น“ นายนัทธพลพงศ์ กล่าว
นอกจากนี้ที่ประชุม กมธ.ฯ ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า การที่หน่วยงานใช้เกณฑ์การประเมินค่าประสิทธิภาพต่อราคา (Price Performance) ในการประกวดราคาอาจเปิดช่องให้มีการกำหนดคุณสมบัติส่อไปในทางล็อกสเปกได้ โดยเฉพาะการจัดซื้อจัดจ้างที่มีความซับซ้อนทางเทคนิค อย่างโครงการจัดพิมพ์หนังสือแบบเรียนขององค์การค้าของ สกสค.ในช่วงหลัง ก็มีการกำหนดคุณสมบัติกระดาษ ที่มีข้อร้องเรียนว่า ไปตรงกับคุณสมบัติกระดาษของผู้นำเข้าเพียงรายเดียวในประเทศไทย
ผู้แทนกรมบัญชีกลาง กล่าวตอบว่า เป็นดุลพินิจของแต่ละหน่วยงานที่จะกำหนดใช้เกณฑ์ Price Performance หรือไม่ แต่เมื่อนำมาใช้ หน่วยงานต้องกำหนดเกณฑ์ให้ชัดเจนเพื่อให้มีการแข่งขันในด้านคุณภาพอย่างแท้จริง ซึ่งบางกรณี กรมบัญชีกลาง ก็ไม่อาจล่วงรู้ถึงเหตุผลความจำเป็นจริงๆ
“แต่ถ้าเป็นไปตามที่ กมธ.ระบุว่า กำหนดคุณสมบัติกระดาษแล้วไปตรงกับของรายใดรายหนึ่งในประเทศก็แบบนี้ถือว่า ล็อกสเปก เพราะตามกฎหมายต้องมีผู้ค้าอย่างน้อย 3 ราย” ผู้แทนกรมบัญชีกลาง ระบุ
ขณะที่ ผู้แทนองค์การค้าของ สกสค.ซึ่งเข้าร่วมชี้แจงในช่วงท้าย ได้เน้นประเด็นคุณสมบัติของ บจ.รุ่งศิลป์ฯ ว่า ในการรับจ้างพิมพ์หนังสือแบบเรียนปี 2567 นั้น บจ.รุ่งศิลป์ฯ ส่งหนังสือบางรายการไม่ทันตามกำหนดโดยอ้างว่าได้รับปกหนังสือจากองค์การค้าฯ ไม่ครบ ตามกระบวนการ องค์การค้าฯ ก็จำเป็นต้องบอกเลิกสัญญา และเรียกค่าเสียหายตามสัญญา เนื่องจากในความเป็นจริง องค์การค้าฯ ได้ส่งปกหนังสือให้ตามกำหนด และมีเกินจำนวนสำรองไปด้วย ทาง บจ.รุ่งศิลป์ฯ ก็ลงนามรับปกหนังสือไปเป็นที่เรียบร้อย แต่กลับทำหนังสือโต้แย้งหลังผ่านไปเกินกว่า 20 วันว่า ได้รับปกหนังสือไม่ครบ จึงไม่ถือเป็นความผิดพลาดองค์การค้าฯ แต่เป็นความไม่พร้อมของ บจ.รุ่งศิลป์ฯ เอง อีกทั้ง องค์การค้าฯ ก็ได้สั่งผลิตปกหนังสือเพิ่มกลับไปให้ เพราะต้องการหนังสือให้กับเด็กนักเรียนทันเปิดเทอม นอกจากนี้ บจ.รุ่งศิลป์ฯ ก็ได้ขอขยายระยะเวลาสัญญา เนื่องจากจัดส่งหนังสือได้ไม่ทันตามกำหนดด้วย
ด้าน ผู้แทน บจ.รุ่งศิลป์ฯ ชี้แจงว่า ปกหนังสือทั้งหมดตามรายการที่บริษัทฯ ได้รับว่าจ้างมีจำนวนมาก และแพ็คส่งมาในพาเลท มีการทยอยส่งมาเป็นระยะ คละกันหลายรายการ บริษัทฯ จึงไม่ได้ตรวจนับขณะได้รับจริงๆ ว่าครบถ้วนถูกต้องหรือไม่ ก่อนมาพบภายหลังว่าไม่ครบตามจำนวน และบางส่วนยังชำรุดด้วย เมื่อพบปัญหาก็ได้ทำการโต้แย้งไปยังองค์การค้าของ สกสค. และก็มีผู้รับผิดชอบขององค์การค้าของ สกสค.ลงนามรับทราบว่า ส่งปกหนังสือไม่ครบจริงๆ โดยจะขอนำส่งเอกสารดังกล่าวให้กับ กมธ.ฯ เพื่อรปะกอบการพิจารณากรณีนี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับเอกสารที่ บจ.รุ่งศิลป์ฯ ยื่นเพิ่มเติมให้แก่ กมธ.ฯนั้น เป็นบันทึกข้อความที่ สำนักบริหารการผลิต ฝ่ายการผลิต องค์การค้าของ สกสค. ลงวันที่ 11 เม.ย.67 ลงนามโดย หัวหน้าฝ่ายการผลิต องค์การค้าของ สกสค. ทำถึง บจ.รุ่งศิลป์ฯ เรื่อง ขอยืนยันจะส่งปกเพิ่มให้ครบจำนวนสั่งผลิต โดยระบุข้อความตอนหนึ่งว่า ”ได้มีการตรวจนับปกแต่ละรายการ พบว่าจำนวนใบพิมพ์ในแต่ละพาเลทมีจำนวนน้อยกว่าในใบแจ้งสถานะ องค์การค้าฯ จึงขอแจ้งกับทางบริษัทฯ ว่า ทางองค์การค้าฯ จะติดตาม ประสานงาน นำปกที่ทางบริษัทฯ แจ้งขาดจำนวน ส่งเพิ่มให้ตามจำนวนที่ทางบริษัทฯ แจ้งมา”.