xs
xsm
sm
md
lg

ปิดตำนาน "บอสเต๋" ซิม K4-ตู้เติมเงินเคธี่ฯ ปอศ.รวบข้อหาฉ้อโกง ยึดของกลางกว่า 50 ล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ตำรวจ บก.ปอศ. จับกุม "บอสเต๋-เริงฤดี ลักษณะหุต" เจ้าของซิมเคโฟร์-ตู้เติมเงินเคธี่ปันสุข พร้อมกับหลาน ตามหมายจับศาลอาญา ฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชน หลังมีผู้เสียหายร้องเรียนถูกหลอกลงทุน 61 ราย ความเสียหายกว่า 27 ล้านบาท พบก่อนหน้านี้ กสทช. สั่งหยุดขายหยุดแจกซิม และยี่นเรื่องหลายหน่วยงานเช็กบิล

วันนี้ (27 ก.พ.) ตำรวจกองบังคับปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรม (บก.ปอศ.) กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) แถลงผลการจับกุม น.ส.เริงฤดี ลักษณะหุต หรือบอสเต๋ อายุ 45 ปี กรรมการบริษัท ปันสุข 555 จำกัด และ น.ส.พรพิมล สีลาดเลา อายุ 30 ปี กรรมการบริษัท เคโฟร์ คอมมูนิเคชั่น จำกัด หลานสาวของ น.ส.เริงฤดี ตามหมายจับของศาลอาญา ลงวันที่ 24 ก.พ. 2568 ในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชน และร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พร้อมตรวจยึดของกลางจำนวน 413 รายการ รวมมูลค่าทรัพย์สินประมาณ 50 ล้านบาท

ประกอบด้วย รถยนต์ 11 คัน มีทั้งรถตู้ยี่ห้อโตโยต้า รุ่น อัลพาร์ด 2 คัน รถยนต์บีเอ็มดับเบิ้ลยู 6 คัน รถยนต์ยี่ห้อซูซูกิ รถยนต์ไฟฟ้ายี่ห้อฮาวาล รถยนต์ไฟฟ้ายี่ห้อเนตา ตู้เติมเงินเคธี่ปันสุข 258 ตู้ กระเป๋าแบรนด์เนม 4 ใบ เครื่องประดับ 28 รายการ ที่ดินในพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี 4 แปลง สมุดบัญชีธนาคาร 20 เล่ม สมุดเช็ค 14 เล่ม คอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊ค 20 เครื่อง โทรศัพท์มือถือ 16 เครื่อง เอกสารต่างๆ 42 รายการ และเงินสด 150,000 บาท

เริงฤดี ลักษณะหุต (แฟ้มภาพ)
สืบเนื่องเมื่อเดือน ธ.ค. 2567 ผู้เสียหายจำนวน 61 ราย ได้เข้าร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวน กองกำกับการ 4 บก.ปอศ. เพื่อดำเนินคดีกับบริษัท ปันสุข 555 จำกัด และบริษัท เคโฟร์ คอมมูนิเคชั่น จำกัด ซึ่งมี น.ส.เริงฤดี และ น.ส.พรพิมล เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ มีพฤติกรรมชักชวนประชาชนให้ร่วมลงทุนธุรกิจซิมการ์ดโทรศัพท์มือถือ ที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในนามซิมการ์ดโทรศัพท์ระบบเติมเงิน ชื่อ "Sim K4" และตู้เติมเงินชื่อ "ตู้เคธี่ปันสุข" ให้บริการเติมเงินโทรศัพท์ เติมเงินวอลเล็ต ชำระบิลค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า

โดยเสนอแพ็คเกจ เมื่อลงทุน 50,000 บาท จะได้รับผลตอบแทนสูงสุด 150,000 บาท ภายในระยะเวลา 500 วัน คิดเป็นร้อยละ 219 ต่อปี และมีการขยายศูนย์ตัวแทนจำหน่ายไปยังจังหวัดต่างๆ เพื่อจัดการอบรมสัมมนาชักชวน ซึ่งหากสมาชิกสามารถแนะนำชักชวนดีลเลอร์หรือสมาชิกใหม่จะได้รับส่วนแบ่งสูงสุดถึงร้อยละ 50 ของค่าสมัคร โดยผู้ที่สนใจลงทุนต้องสมัครสมาชิกผ่านเว็บไซต์ และมีรูปแบบการโอนเงินลงทุนผ่านระบบคิวอาร์โค้ด ซึ่งในช่วงแรกผู้ลงทุนได้รับผลตอบแทนจริง ทำให้มีผู้หลงเชื่อร่วมลงทุนเป็นจำนวนมาก


ต่อมาช่วงเดือน ต.ค. 2567 สมาชิกเริ่มไม่ได้รับผลตอบแทนจากการลงทุน จึงได้พยายามติดตามทวงถาม แต่ผู้ต้องหาได้บ่ายเบี่ยงเรื่อยมา ผู้เสียหายจึงได้รวมตัวกันมาร้องทุกข์ดำเนินคดีกับผู้ต้องหา มูลค่าความเสียหายเป็นเงินจำนวน 27,557,701 บาทจากการสืบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน พบว่าการลงทุนดังกล่าวเป็นการลงทุนที่ให้อัตราผลตอบแทนสูงเกินกว่าที่สถาบันการเงินตามกฎหมายพึงจะจ่ายได้ อีกทั้งธุรกิจตู้เติมเงินเคธี่ปันสุขนั้น เมื่อตรวจสอบพบว่าไม่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจระบบชำระเงินจากธนาคารแห่งประเทศไทย จากการตรวจสอบเส้นทางการเงินพบว่ากลุ่มผู้ต้องหาใช้วิธีรับเงินลงทุนและจ่ายผลตอบแทนผ่านระบบเพย์เมนต์เกตเวย์ พบเงินหมุนเวียนในบัญชีบริษัทผู้ต้องหากว่า 400 ล้านบาท นอกจากนี้ยังพบว่า น.ส. เริงฤดี มีการยักย้ายถ่ายโอนแปรสภาพเงินเป็นทรัพย์สินต่างๆ เพื่อหลบเลี่ยงการตรวจสอบ

ต่อมาวันที่ 24 ก.พ. 2568 พนักงานสอบสวนได้รวบรวมพยานหลักฐานยื่นคำร้องต่อศาลอาญาเพื่อออกหมายจับบริษัท เคโฟร์ คอมมูนิเคชั่น จำกัด และบริษัท ปันสุข555 จำกัด ในฐานะนิติบุคคล พร้อมทั้ง น.ส.เริงฤดี และ น.ส.พรพิมล ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจ ในความผิดฐาน ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน และร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน กระทั่งวันที่ 25 ก.พ. 2568 กก.4 บก.ปอศ. ได้เปิดปฏิบัติการ "ตัดวงจรแชร์ลูกโซ่ตู้เติมเงินเคธี่ปันสุข K4" ทำการตรวจค้นจำนวน 4 จุด ในพื้นที่เขตคันนายาวและเขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ ประกอบด้วยบ้านพักอาศัยของผู้ต้องหา และสถานที่ทำการของบริษัท

พบว่าบริษัทผู้ต้องหามีพนักงานประมาณ 15 คน มีห้องจัดสัมมนาสำหรับชักชวนผู้ลงทุน โดยที่บริษัทมีการสต็อกตู้เติมเงินเคธี่ปันสุขซึ่งได้ถูกนำมาใช้ในการจูงใจให้มีการลงทุน เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้ทำการทดสอบเบื้องต้นพบว่าไม่สามารถใช้งานได้จริงตามที่โฆษณา เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้ทำการตรวจยึดพยานเอกสารซึ่งใช้เป็นหลักฐานประกอบการสอบสวน และตรวจยึดทรัพย์สินต่างๆ จากผู้ต้องหารวมมูลค่าประมาณ 50 ล้านบาท พร้อมทั้งจับกุม น.ส.เริงฤดี และ น.ส.พรพิมล ผู้ต้องหาตามหมายจับ นำส่งพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปอศ. ดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป จากการสอบถามผู้ต้องหา ทั้งสองรายให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา


รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า ก่อนหน้านี้ บริษัท เคโฟร์ คอมมูนิเคชั่น จำกัด เป็นผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่หนึ่ง เลขที่ TEL1/2562/009 จากสำนักงาน กสทช. เมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2562 เพื่อให้บริการขายต่อบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบโครงข่ายเสมือน (บริการ MVNO) โดยเช่าเครือข่าย NT Mobile ของบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT และทำการตลาดภายใต้ชื่อ "ซิมเคโฟร์" โดยเริ่มประกอบธุรกิจเมื่อเดือน เม.ย. 2566 ต่อมาได้เปิดตัวตู้เติมเงินที่ชื่อว่า "เคธี่ปันสุข" เมื่อต้นปี 2567 โดยมี น.ส.เริงฤดี ลักษณะหุต หรือบอสเต๋ เป็นประธานกรรมการบริษัท

ต่อมาสำนักงาน กสทช. ได้รับการร้องเรียนว่า มีการลงทุนตู้เติมเงินที่ใช้ชื่อว่า "เคธี่ปันสุข" ให้ผลตอบแทนสูง มีการตั้งกลุ่มไลน์โฆษณาชักชวนให้ลงทุน และแจ้งกับสมาชิกในกลุ่มไลน์ว่าได้รับใบอนุญาตจากสำนักงาน กสทช. เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ลงทุน ทำให้นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. แถลงข่าวเมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2567 ได้ขอให้บริษัท เคโฟร์ฯ ยุติการขายหรือแจกซิมมือถือ เนื่องจากอยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบจากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และจากการตรวจสอบพบว่าบริษัท เคโฟร์ฯ เช่าใช้โครงข่ายของ NT ได้รับการจัดสรรเลขหมาย 331,000 เลขหมาย แต่มีเลขหมายที่ใช้งานจริงประมาณ 46,000 เลขหมาย มีการเติมเงินเฉลี่ยเพียงเลขหมายละ 38 บาท สอดคล้องกับที่บริษัท เคโฟร์ฯ แจ้งสำนักงาน กสทช. ว่ามีรายได้ที่ประมาณปีละ 5 ล้านบาท จ่ายค่าธรรมเนียมใบอนุญาตที่ปีละ 7,000 บาท

สิ่งที่ผิดปกติคือ บริษัท เคโฟร์ฯ ได้เพิ่มทุนจดทะเบียนจาก 5 ล้านบาท เป็น 500 ล้านบาท ภายใน 2 ปี โดยมีการชักชวนประชาชนให้ลงทุนในธุรกิจตู้เติมเงินเคธี่ปันสุข ซึ่งอยู่ในการกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีการเสนอผลตอบแทนระดับสูง ในลักษณะธุรกิจเครือข่าย อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง และจากการลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบศูนย์บริการของเคโฟร์ พบว่ามีการปิดล็อกประตูเข้า-ออก บางแห่งพบว่ามีตู้เติมเงิน แต่มีสภาพที่ไม่พร้อมใช้งาน บางแห่งไม่พบตู้เติมเงินแต่อย่างใด และเมื่อโทร.สอบถามได้รับแจ้งจากผู้ดูแลศูนย์บริการว่ายังคงเปิดให้บริการ และมีการขายซิมการ์ดอยู่ สำนักงาน กสทช. จึงได้ยื่นเรื่องต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เพื่อให้แต่ละหน่วยงานดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป เพราะไม่ต้องการให้เกิดความเสียหาย




กำลังโหลดความคิดเห็น