xs
xsm
sm
md
lg

พร้อมเข้าชื่อถอด 'สุชาติ' พ้นเก้าอี้ประธาน ป.ป.ช.'ประชาชน' ไม่ได้เอาคืนคดี 112

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



พร้อมเข้าชื่อถอด 'สุชาติ' พ้นเก้าอี้ประธาน ป.ป.ช.'ประชาชน' ไม่ได้เอาคืนคดี 112

แม้ว่ากระแสเรื่องคลิปการพบกันระหว่างนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา และนายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบกปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จะจางลงไปแล้ว แต่สำหรับพรรคประชาชน ไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะมีรายงานว่าส.ส.ของพรรคจะมีการเข้าชื่อตามรัฐธรรมนูญ 236 เพื่อยื่นให้ศาลฎีกาไต่สวน

นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน เปิดเผยว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นเรื่องจริง ซึ่งพรรคประชาชนมีมติพรรคแล้ว ตอนนี้จึงอยู่ในขั้นตอนการรวบรวมรายชื่อ โดยยืนยันว่าไม่ใช่การเอาคืนกรณีป.ป.ช.เรียก 44 สส.อดีตพรรคก้าวไกล รับทราบข้อกล่าวหาคดีร่วมลงชื่อแก้ไขมาตรา112 ของประมวลกฎหมายอาญา เป็นการปฏิบัติหน้าที่ของส.ส. ในการที่เราเข้าชื่อตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น และต้องชี้แจงอย่างตรงไปมา ว่า ในข้อร้องเรียนที่จะมีการเปิดเผยในสัปดาห์หน้า ไม่ได้มีแค่คลิปวิดีโอ ระหว่างนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา และนายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข ประธาน ป.ป.ช. ตามที่ปรากฏ แต่ยังมีข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในส่วนอื่นด้วย ซึ่งพรรคประชาชนเราได้รวบรวมข้อมูลมาอย่างต่อเนื่อง

“ถึงแม้ไม่มีคดี 44 ส.ส. ก็เป็นสิ่งที่เราต้องทำ เพราะมีหลักฐาน และไม่ใช่แค่พรรคประชาชนทำได้เท่านั้น แต่เป็นสิทธิ์ของสมาชิกรัฐสภาทุกคนทุกฝ่าย ดังนั้น ถ้ามี สส.พรรคอื่น และ สว. เห็นตรงกันว่า ปัญหาทุจริตเป็นเรื่องสำคัญ ก็ใช้กลไกนี้ ในการตรวจสอบ และสามารถร่วมลงชื่อสนับสนุนได้ ย้ำว่า เราไม่ได้คิดถึงผลกระทบต่อคดี หรือหากพรุ่งนี้ คดี44ส.ส.ถูกยกไปหมด เราก็ยังยืนยันในการทำหน้าที่ตรวจสอบ” นายพริษฐ์ กล่าว

สำหรับรัฐธรรมนูญ มาตรา 236 บัญญัติว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือสมาชิกของทั้งสองสภาจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาหรือประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าสองหมื่นคน มีสิทธิเข้าชื่อกล่าวหาว่ากรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติผู้ใดกระทำการตามมาตรา 234 (1) (มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง) โดยยื่นต่อประธานรัฐสภาพร้อมด้วยหลักฐานตามสมควร หากประธานรัฐสภาเห็นว่ามีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการกระทำตามที่ถูกกล่าวหา ให้ประธานรัฐสภาเสนอเรื่องไปยังประธานศาลฎีกาเพื่อตั้งคณะผู้ไต่สวนอิสระจากผู้ซึ่งมีความเป็นกลางทางการเมืองและมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ เพื่อไต่สวนหาข้อเท็จจริง
กำลังโหลดความคิดเห็น