xs
xsm
sm
md
lg

ไขข้อข้องใจคดี 'พิรงรอง' ไม่ดราม่า เน้นข้อกฎหมาย ล้ำเส้นเกินไปทั้งที่ไร้อำนาจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ไขข้อข้องใจคดี 'พิรงรอง' ไม่ดราม่า เน้นข้อกฎหมาย ล้ำเส้นเกินไปทั้งที่ไร้อำนาจ

หนึ่งในประเด็นทางสังคมที่มีการพูดถึงกันมากที่สุด คือ คดีความฟ้องร้องระหว่างระหว่าง บริษัททรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด เป็นโจทก์ กับ อาจารย์พิรงรอง รามสูต คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นจำเลย เรื่อง เจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งในยกแรกผลที่ออกมาก็เป็นไปตามที่เห็น ภายหลังจำเลยตกเป็นฝ่ายแพ้คดี แต่ยังได้รับการประกันตัวให้มาต่อสู้คดีต่อไป

คดีที่เกิดขึ้นทำให้กระแสวิจารณ์จากภาคประชาสังคมว่ากรณีอาจจะกลายเป็นบรรทัดฐานที่ทำให้หน่วยงานที่ทำหน้าที่รักษาผลประโยชน์สาธารณะไม่อาจสามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ แต่สำหรับมุมมองทางกฎหมายจากนักวิชาการด้านกฎหมายรุ่นใหญ่อย่าง 'แก้วสรร อติโพธิ' อดีต สว.กทม ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อกรณีไว้อย่างน่าสนใจ

โดยอาจารย์แก้วสรร ระบุว่า ทรูไอดี ทำแพลตฟอร์มที่เรียกว่า OTT (Over The Top) คือมีกล่องสัญญาณรวมเอารายการทั้งปวง ที่ทีวีดิจิทัล หรือเคเบิลทีวี ถ่ายทอดออกมา มารวมไว้เป็นบริการให้เราเปิดเข้าถึงได้ตลอดเวลา ทำให้เราไม่จำต้องเฝ้ารอดูหน้าจอตามเวลาที่ ทีวีเขาถ่ายทอดอีกต่อไป OTT แบบนี้ มีมากมาย มีทั้งที่ขายสมาชิกภาพ เช่น Netflix หรือเข้าถึงได้โดยเสรี เช่น ทรูไอดี

"กิจการแบบ OTT นี้อาศัยอินเทอร์เน็ตเป็นถนนขนส่งข้อมูล ไม่ได้อาศัยคลื่นความถี่ ซึ่งกฎหมายไทยถือเป็นทรัพยากรของชาติ กฎหมาย กสทช.ปัจจุบันจึงยังไม่มีระบบใบอนุญาตมาควบคุมเหมือนทีวี ทำให้เถียงกันมาหลายปีแล้วว่ารัฐควรมีอำนาจควบคุมหรือไม่ อย่างไร ทั้งนี้ อินเทอร์เน็ต เป็นทางหลวงของโลกไปแล้ว ซึ่งจะให้ NETFLIX ที่เป็น OTT ชนิด ข้ามชาติข้ามโลก มาขออนุญาต กสทช.ไทย ก็คงเป็นไปไม่ได้ อย่างเก่งบางรัฐเขาก็ทำได้แค่ห้ามถ่ายทอดรายการที่มีเนื้อหาต้องห้ามเท่านั้น"

"OTT ของทรู มีโฆษณาคอยแทรกตอนเปลี่ยนรายการอยู่ด้วยทุกครั้ง ผู้ร้องอ้างว่าทำอย่างนี้ไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภค อีกทั้ง ในชั้นพิจารณาคำร้องทุกข์ทรูไอดีนี้ ก็ยุติกันตรงจุดนี้เหมือนกันว่า เรายังไม่มีกฎหมายที่จะควบคุมเขา เรื่องก็เลยยุติไป แต่ปรากฏว่าอาจารย์พิรงรอง ไม่ยอมยุติ กลับนำปัญหานี้เข้ามาในอนุกรรมการใบอนุญาตโทรทัศน์ที่ตนเองเป็นประธาน เพื่อผลักดันจัดการกับ ทรูไอดีให้ได้ การตีความกฎหมายทีวี ไปตลบหลังจัดการกับ OTT อย่างนี้ มันมีประเด็นต้องเถียงกันได้อีกมากว่า ทำได้โดยชอบหรือไม่ ซึ่งเรื่องสำคัญอย่างนี้ต้องผ่านมติ กสทช.ก่อน อนุกรรมการที่คุมทีวี ไม่มีอำนาจชี้ขาดเอง เตือนเองได้เลย ตรงจุดนี้นับเป็นพฤติการณ์ล้ำหน้าชัดเจน"

"คดีนี้เป็นตัวอย่างชัดเจนว่า ไม่ว่าคุณจะฝังใจคิดทำเพื่อมวลมหาผู้บริโภค จนเป็นความสุจริตฝังแน่นอยู่ในใจอย่างไรก็ตาม แต่ตำแหน่ง กสทช.ที่คุณเข้ามานั่งนั้น มันมีกรอบกฎหมายรอครอบหัวคุณอยู่เสมอว่า ตัวคุณนั้นไม่มีอำนาจในตัวเอง เรืองแสงด้วยตัวเองไม่ได้ อย่าทำอะไรที่เกินกฎหมาย และต้องเที่ยงตรงเสมอภาคทุกครั้ง" อาจารย์แก้วสรร กล่าวสรุป
กำลังโหลดความคิดเห็น