แรงงานและชาวกัมพูชาที่พักอาศัยอยู่ในญี่ปุ่น ออกมารวมตัวกันเรียกร้องรัฐบาลกัมพูชายื่นฟ้องต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ในเรื่องเกาะกูด และร้องขอความยุติธรรมแก่ ลิม กิมยา อดีตส.ส.ฝ่ายค้านที่ถูกยิงเสียชีวิตในไทย โดยพวกผู้ประท้วงเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีฮุน มาเนต ลาออก หากว่าไม่สามารถคลี่คลายประเด็นต่างๆเหล่านี้ได้
เว็บไซต์ข่าวอาร์เอฟพี รายงานว่าเป็นไปตามแผนที่วางเอาไว้ มีชาวกัมพูชามากกว่า 100 คน ส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาว ที่กำลังทำงานหรือใช้ชีวิตในญี่ปุ่น ทั้งใกล้และไกล มารวมตัวกันเพื่อประท้วงเมื่อวันอาทิตย์ที่ 9 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
รายงานข่าวระบุว่าการชุมนุมครั้งนี้ไม่ต่างจากการประท้วงในประเทศอื่นๆ พวกผู้ชุมนุมรวมตัวกันที่สวนสาธารณะฮิบิยะตอนเที่ยงวัน เพื่อแสดงออกต่างๆนานา จากนั้นก็เดินขบวนพร้อมชูป้ายข้อความไปยังใจกลางกรุงโตเกียว เรียกร้องให้รัฐบาลฮุนเซน มาเนต ฟ้องร้องส่วนแบ่งของกัมพูชาในเกาะกูด ผ่านศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ(ไอซีจี)
นอกจากจากนี้แล้วพวกผู้ประท้วงยังเรียกร้องให้พวกเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจับกุม 2 ผู้ต้องสงสัยชาวกัมพูชา Pech Kimsrin และ Ly Rattanak Rasmey ซึ่งเป็นที่ปรึกษของฮุนเซน มาเนต และส่งมอบตัวพวกเขาให้กับเจ้าหน้าที่ของไทย เพื่อเปิดโปงผู้ที่อยู่เบื้องหลังการลอบสังหาร ลิม กิมยา
"เกาะกูดเป็นของเขมร เป็นของเขมร! เรามารวมกันที่นี่เรียกร้องร้องเกาะกูด และรัฐบาลต้องเสาะหาความยุติธรรมให้ลิม กิมยา หาความยุติธรรม" ผู้ประท้วงตะโกน
นาย Moun Yan หนึ่งในผู้ประท้วง บอกว่าเหตุผลที่เขาเข้าร่วมชุมนุม เพราะว่าเขาไม่ต้องการเห็นเกาะกูดมีชะตากรรมแบเดียวกับเกาะโตรล ที่ตกไปเป็นของเวียดนาม เขาบอกว่าเรื่องบูรณภาพแห่งดินแดนเป็นประเด็นระดับชาติ ดังนั้นชาวกัมพูชาควรพร้อมใจกันประท้วงและกดดันรัฐบาลฮุนเซน มาเนต ให้ยื่นประท้วงประเด็นเกาะกูด กับศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ เรียกร้องส่วนแบ่งของกัมพูชา
ผู้ประท้วงรายนี้กล่าวต่อว่า "ถ้ารัฐบาลต้องการเป็นผู้นำที่ดีและแบบอย่างที่ดี ถ้ารัฐบาลต้องการให้ประชาชนยกย่อง ไม่สาปแช่งไม่ต่อต้าน รัฐบาลควรทำในสิ่งที่ถูกต้อง ด้วยการรับหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรีและคลี่คลายประเด็นดินแดน เพื่อประชาชนจะได้รู้สึกสบายใจ ถ้าเรามีผู้นำแล้วไม่สามารถปกป้องประเทศได้ พวกผู้นำก็ควรลาออกไป เพราะว่าประเทศพัฒนาแล้ว เมื่อพวกเขาไม่อาจผลักดันให้ประเทศมีความก้าวหน้า พวกเขาจะลาออกจากตำแหน่งในทันที โดยไม่จำเป็นต้องมีการขับไล่หรือชุมนุมประท้วงใดๆ"
San Sochea ผู้ประท้วงอีกคน วิพากษ์วิจารณ์ ฮุน มาเนต เช่นกัน เกี่ยวกับการไร้ความสามารถในการนำประเทศ ก่อความทุกข์ยากแก่ประชาชนกัมพูชา ละเมิดสิทธิมนุษยชนและบ่อนทำลายร้ายแรงต่อประชาธิปไตย
ขณะที่คนหนุ่มอย่าง Tha Savun เผยว่าเขาเข้าร่วมประท้วง เพราะรู้สึกเจ็บปวดที่พวกผู้นำในพนมเปญ ปฏิบัติอย่างไม่เหมาะสมกับชาวกัมพูชาในประเทศ และแสดงความกังวลว่ารัฐบาลตระกูลฮุน อาจเป็นต้นเหตุของการสูญเสียเกาะกูด เขาเชื่อว่าการสนับสนุนให้รัฐบาลยื่นฟ้องในประเด็นเกาะกูดต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ เป็นกลไกสันติที่จะช่วยยุติข้อพิพาทกับไทย
สำนักข่าวอาร์เอฟเอรายงานว่า ที่ผ่านมา นอกเหนือจากข่มขู่คุกคามและโจมตีนักการเมืองฝ่ายค้าแล้ว รัฐบาลของฮุน มาเนต ยังกล่าวหาพวกฝ่ายค้านว่าใช้ประเด็นเกาะกูด เล่นงานรัฐบาลของเขาเพื่อประโยชน์ทางการเมือง เขาอ้างว่าที่รัฐบาลปิดปากเงียบในประเด็นนี้ คือสัญญาณของความเป็นผู้ใหญ่ในทางการเมืองและรัฐบาลยึดมั่นในหลักฐาน "ไม่นำไฟเข้าบ้านตนเอง"
รายงานข่าวอ้างว่าจนถึงตอนนี้นายกรัฐมนตรีฮุน มาเนต และนายฮุน เซน บิดาของเขา ซึ่งเป็นผู้นำพรรครัฐบาลและประธานวุฒิสภา ยังไม่แสดงจุดยืนอย่างชัดเจนเกี่ยวกับคำกล่าวอ้างของพวกเขาในการควบคุมเกาะกูด ซึ่งสวนทางกับพวกผู้นำไทย พ่อลูกตระกูลชินวัตร ที่ประกาศจุดยืนอย่างชัดเจนว่าเกาะกูดนั้นเป็นของไทย
นอกเหนือจากในญี่ปุ่นแล้ว พวกพลเมืองกัมพูชาที่พำนักอยู่ในต่างแดนที่ไม่พอใจความเป็นผู้นำของ ฮุน มาเนต ทั้งใน ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ สหรัฐฯ แคนาดาและฝรั่งเศส ต่างแถลงแสดงความเป็นหนึ่งเดียวกันและจัดการชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาล ฮุน มาเนต ยื่นฟ้องร้องคดีเกาะกูดต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ และเสาะหาความชอบธรรมแก่ ลิม กิมยา
พวกผู้ชุมนุมเตือว่ากระแสการประท้วงของชาวกัมพูชาจะขยายวงกว้างมากขึ้น ถ้ารัฐบาลเพิกเฉยต่อเสียงเรียกร้องของพวกเขา
(ที่มา:อาร์เอฟเอ)