xs
xsm
sm
md
lg

"ชัชชาติ" ก้นร้อน! โต้ครหาป้ายรอรถเมล์แพงหูฉี่ ลั่นราคา 2.3-3.2 แสนไม่แพง เพราะ"สร้างไม่ง่าย"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



จากกรณีเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า กทม.โดยสำนักการจราจรและขนส่ง ได้ดำเนินการติดตั้งศาลาที่พักผู้โดยสาร มีจุดเด่นสามารถเลือกติดตั้งได้เหมาะสมกับกายภาพและข้อจำกัดของพื้นที่ที่แตกต่างกัน ไม่กีดขวางและลดผลกระทบต่อผู้ใช้ทางเท้า โดยมีการออกแบบให้มีความเรียบง่าย โปร่งสบาย โดยเบื้องต้นมี 2 รูปแบบคือ Type M ขนาด 2.30 ม. x 3.00 ม. มีจำนวน 3 ที่นั่ง ราคาประมาณหลังละ 230,000 บาท และType L ขนาด 2.30 ม. x 6.00 ม. มีจำนวน 6 ที่นั่ง ราคาประมาณหลังละ 320,000 บาท โดยในปีงบประมาณ 2566 ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ จำนวน 30 หลัง ปีงบประมาณ 2567 ก่อสร้างแล้วเสร็จ จำนวน 60 หลัง อยู่ระหว่างก่อสร้าง 29 หลัง และปีงบประมาณ 2568 ได้รับงบประมาณในการก่อสร้าง 300 หลัง ครอบคลุมพื้นที่ทั่วกรุงเทพมหานคร
.
อย่างไรก็ตาม เมื่อ กทม. มีการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าว กลับถูกวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนในวงกว้าง ว่าศาลาที่พักผู้โดยสาร หรือ ป้ายรถรถประจำทางดังกล่าวมีราคาแพงเกินไป เพราะงบประมาณจำนวน 2-3 แสนบาท ดังกล่าวนั้นสามารถสร้างบ้านอยู่อาศัยของประชาชนอย่างง่าย ๆ ได้ทั้งหลังเลยทีเดียว
.
ช่วงเย็นวันนี้ (8 ก.พ.) เฟซบุ๊กของกรุงเทพมหานคร ได้ออกมาชี้แจงและตอบโต้กรณีดังกล่าว โดยระบุหัวข้อว่า "ผู้ว่าฯ ชัชชาติ แจง 3 ประเด็นเดือด ศาลาที่พักผู้โดยสารฯ ย้ำถือราคากลาง สร้างไม่ง่าย เชิญเอกชนร่วมประมูล ยิ่งดีใจหากได้ราคาต่ำลง" โดยระบุว่า
.
1. กรณีที่คนบอกว่าราคาแพงนั้น เป็นราคากลาง แม้มีการเปิดประมูลก็ไม่ค่อยมีคนเข้ามาประมูลแข่งขัน เพราะการสร้างศาลาที่พักผู้โดยสารในลักษณะดังกล่าวเป็นงานยาก พื้นที่ก็อยู่กระจัดกระจาย นอกจากนี้ค่าก่อสร้างดังกล่าวก็สามารถชี้แจงรายละเอียดได้ไม่ว่าจะเป็นค่าก่อสร้าง หรือฐานราก ดังนั้นถ้ามีใครทำได้ถูกกว่านี้ก็ยินดีให้เข้ามาร่วมประมูล ยิ่ง 6-7 หมื่นบาทยิ่งดี
.
2. ส่วนข้อทักท้วงประเด็นเรื่องความสวยงามนั้น ผู้ว่าฯ กทม. ระบุว่าป้ายรถเมล์ไม่ได้ทำง่าย เพราะต้องไม่เป็นพื้นที่ปิดล้อม คนสัญจรได้สะดวก โดยป้ายรถเมล์ดังกล่าว กทม. ได้ขอให้ ม.นวมินทร์ มาช่วยออกแบบทั้งในแบบ 3 ที่นั่ง และ 6 ที่นั่ง โดยเน้นประโยชน์ใช้สอยและไม่บดบังอาคารพาณิชย์
.
3. ประเด็นเรื่องเอกชน นายชัชชาติระบุว่าในอดีตมีเอกชนมาทำแต่ไม่ได้ฟรี โดยเอกชนจะขอใช้พื้นทางเท้าติดตั้งป้ายโฆษณา ซึ่งตนไม่ต้องการให้ติดป้ายโฆษณาเพิ่มเพราะจะดูเลอะเทอะมากขึ้นไปอีก
.
ทั้งนี้รายละเอียดการชี้แจงของนายชัชชาติ ผู้ว่าฯ กทม. ฉบับเต็มมีดังนี้
.
✍️ ผู้ว่าฯ ชัชชาติ แจง 3 ประเด็นเดือด ศาลาที่พักผู้โดยสารฯ ย้ำถือราคากลาง สร้างไม่ง่าย เชิญเอกชนร่วมประมูล ยิ่งดีใจหากได้ราคาต่ำลง
👨‍🏫 (8 ก.พ. 68) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงศาลาที่พักผู้โดยสารรถประจำทาง ที่เป็นเรื่องดราม่าอยู่ในขณะนี้ ก็ต้องบอกว่าจริงๆแล้ว ป้ายรถเมล์ในกรุงเทพมหานคร มีทั้งหมดอยู่ 5,601 แห่งที่รถเมล์จอด แต่มีเพียง 2,520 แห่งที่เป็นศาลาที่พักผู้โดยสารถาวร มีหลังคาเรียบร้อย จะมีป้ายอีกจำนวน 3,000 กว่าแห่งที่เป็นเต็นท์ชั่วคราวอยู่ ก็มีความจำเป็นที่จะต้องสร้างเพิ่ม เพื่ออำนวยความสะดวกประชาชน เป็นการสร้างเพิ่มเติมทดแทนจุดที่ไม่มีศาลา หรือจุดที่เป็นเต็นท์ชั่วคราว ไม่ได้ไปรื้อของเดิม ที่จะสร้างเพิ่มอย่าคิดว่าทำง่าย ต้องไปรื้อฟุตบาทออก เชื่อมต่อสาธารณูปโภคใต้ดิน ต้องเดินไฟเพิ่ม และทำได้เฉพาะเวลากลางคืน เพื่อไม่ให้กีดขวางการสัญจรของประชาชน
.
📚 ประเด็นแรก คนบอกว่าราคาแพง เรื่องราคาก็เป็นราคากลาง ตรวจสอบได้ และทำตามระเบียบ ขั้นตอนของทางราชการ สามารถชี้แจงได้ว่าก่อสร้างอย่างไร ฐานรากเท่าไหร่ มีการประกาศขึ้นเว็บไซต์ให้คนเข้ามาประมูลแข่งขันกัน ระหว่างขั้นตอน TOR ก็ไม่มีผู้ร้องเรียน เราเปิดกว้าง แต่ปรากฏว่าไม่ค่อยมีคนมาประมูล เพราะว่าเป็นงานยาก พื้นที่อยู่กระจัดกระจายห่างกัน และเราก็ไม่ได้ปิดกั้นอะไร ผู้ประกอบการใดที่เคยทำงานก่อสร้างมูลค่าประมาณล้านบาท ไม่ว่าของราชการหรือเอกชน ก็สามารถประมูลเข้ามาได้ ตอนนี้ก็เพิ่งทำไปได้ไม่กี่แห่ง ถ้าใครบอกว่าทำราคาได้ถูกกว่าแล้วก็เชิญเลยครับ 6-7 หมื่นบาทก็ดีเลยครับ ช่วยประหยัดได้อีก ”ผมยิ่งดีใจ“ เชิญมาร่วมประมูลได้เลยครับ
.
🪟 ประเด็นที่ 2 ที่บอกว่าความสวยงาม จริง ๆ แล้วป้ายรถเมล์ไม่ได้ทำง่าย ๆ คือต้องไม่เป็นพื้นที่ปิดล้อม วีลแชร์ต้องผ่านได้ คนใช้ทางเท้าเดินสะดวก กันแดดกันฝนได้ในระดับหนึ่ง แต่ไม่สามารถปิดกั้นด้านข้างได้ เพราะว่ามันต้องให้วีลแชร์ผ่านได้ ถ้าในเรื่องความสวยงามแล้ว ก็ยังดีกว่าในจุดเดิมที่ไม่มีร่มเงา หรือเป็นเต็นท์ การออกแบบเกิดจาก CITY LAB ที่มหาวิทยาลัยนวมินทร์มาช่วยออกแบบ มีการจัดทำใน 2 รูปแบบ คือ Type M มี 3 ที่นั่ง และ Type L มี 6 ที่นั่ง ปรับใช้ตามความเหมาะสมของขนาดพื้นที่ เน้นประโยชน์ใช้สอย ไม่บดบังอาคารพาณิชย์ ซึ่งป้ายรถเมล์ทั่วประเทศ ก็พยายามออกแบบมาให้เรียบง่ายที่สุด อย่างไรก็ตาม ยินดีรับฟังความคิดเห็นของทุกคน สามารถแนะนำเรื่องการออกแบบมาได้
.
🎯 ประเด็นที่ 3 ที่บอกว่าทำไมไม่ให้เอกชนทำ ซึ่งหลายปีก่อนหน้านี้ มีเอกชนมาทำให้ แต่ก็ไม่ได้ทำให้เราฟรี โดยบริษัทเอกชนมาช่วยปรับปรุงป้ายรถเมล์ที่มีอยู่เดิม จำนวน 350 แห่ง และช่วยบำรุงรักษา 341 แห่ง รวม 691 แห่ง ซึ่งเป็นการปรับปรุงดูแล ไม่ได้เป็นการสร้างเพิ่มขึ้นมาใหม่ เอกชนมาทำให้ แต่ขอแลกกับการใช้พื้นทางเท้าติดตั้งป้ายโฆษณารูปแบบป้ายสี่เหลี่ยม (แท่งไอติม) จำนวน 1,170 ป้ายทั่วกทม. เป็นระยะเวลา 10 ปี ที่บอกว่าทำไมไม่ให้เอกชนทำฟรี ก็ต้องแลกกันกับการติดป้ายโฆษณา เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องเก่าแล้ว ก็ไม่อยากพูดอะไรมันมีที่มาที่ไป ถามว่าจะอยากแค่ให้ไปติดป้ายโฆษณาเพิ่มไหม เราก็ไม่อยากให้ติดเพิ่ม เพราะจะดูเลอะเทอะมากขึ้นไปอีก
.
🎉 ส่วนถ้าคนที่บอกว่าราคาแพงไป ก็มาช่วยกันทำราคาให้ถูกลงยิ่งดีเลยครับ เราไม่ได้ปิดกั้นอะไร แล้วตอนที่เราให้ทำ ประชาพิจารณ์ก็เสนอแนะมาได้เลยครับ แต่ทุกอย่างก็ได้ทำตามระเบียบอยู่แล้ว ศาลาที่พักผู้โดยสารรถประจำทาง เป็นสิ่งที่ตั้งอยู่ในพื้นที่สาธารณะ จะต้องมีความแข็งแรงมั่นคง ถ้าเกิดมันล้มทับคนมันก็มีความผิด มันมีเรื่องปัจจัยเสี่ยงในการทำงาน สุดท้ายนี้ขอขอบคุณที่ช่วยกันแนะนำเข้ามา เพราะฉะนั้นอย่างที่บอกแล้ว ป้ายรถเมล์ทั้งหมดในกรุงเทพมหานคร มีทั้งหมดอยู่ 5,601 แห่ง เป็นป้ายที่เป็นศาลาที่พักฯเพียง 2,520 แห่ง เอกชนรับไปทำ 341 แห่ง ป้ายที่เป็นเต็นท์ชั่วคราว 3,000 แห่ง เราไม่ได้รื้อของเก่าออกไปนะ แต่เราสร้างขึ้นใหม่ ส่วนเรื่องป้ายโกโรโกโส อยู่ที่คนมอง แต่ละคนอาจจะมองไม่เหมือนกัน อาจจะเทียบกับแบบเก่าแบบใหม่ แต่เชื่อว่ามันก็ดีกว่าไม่มี แล้วก็อย่างที่บอกว่าเราไปออกแบบให้มันปิดกั้นไม่ได้ บางทีวีลแชร์ต้องผ่าน ที่นั่งแล้วก็ทำเป็นที่ที่ยาวไม่ได้ เพราะว่าเราก็กลัวคนจะมานอน ก็ต้องทำเป็นที่นั่ง ซึ่งเป็นรูปแบบที่ใช้กันทั่วโลก ทั้งหมดนี้เราก็ชี้แจงให้รับทราบถึงการปรับปรุงศาลาที่พักผู้โดยสารรถประจำทาง
กำลังโหลดความคิดเห็น