“รศ.ดร.อัทธ์” ชี้ วิธีเดียวที่จะสกัดแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในเมียนมาได้อยู่หมัด คือ“ตัดสัญญาณเน็ต-สัญญาณโทรศัพท์” เหตุด้วยสภาพพื้นที่ซึ่งเป็นฐานปฏิบัติการ ทั้งเมียวดี พญาตองซู และรัฐฉาน เป็นแนวชายแดนที่ห่างไกล ไม่สามารถเชื่อมต่อสัญญาณจากประเทศอื่น “เมื่อโทร.ไม่ออก ก็หลอกใครไม่ได้” ด้าน สมช. ทำหนังสือถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งตัดสัญญาณ ฝ่าย กสทช.เตรียมหารือผู้ให้บริการ ขณะที่ นักวิชาการ ฟันธง มาตรการแก้ปัญหาล่าช้า เพราะผู้ใหญ่กับไทยเทามีเอี่ยว
ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในเมียนมากำลังกลายเป็นประเด็นระหว่างประเทศ โดยรัฐบาลจีนได้กดดันไทยในฐานะประเทศทางผ่านให้เร่งแก้ไขปัญหา ล่าสุดรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการประชุมหารือเพื่อกำหนดมาตรการในการแก้ไขปัญหา โดยรัฐบาลภายใต้การนำของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.)ซึ่งเป็นคู่สัญญาในการขายไฟให้แก่บริษัทเอกชนในเมียนมา ตัดกระแสไฟฟ้าในพื้นที่ 5 จุดซึ่งเป็นที่ตั้งของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องงดส่งน้ำมันไปเมียนมา รวมทั้งตัดอินเตอร์เน็ตที่เชื่อมเครือข่ายสัญญาณในพื้นที่ดังกล่าวด้วย
อย่างไรก็ดี หลายฝ่ายมองว่ามาตรการตัดไฟดูจะไม่สามารถสร้างความสั่นสะเทือนให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์ในเมียนมาได้ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นจะมีมาตรการใดที่สามารถสกัดแก๊งคอลเซ็นเหล่านี้ได้อยู่หมัด !
รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญเรื่องเมียนมา ชี้ว่า การตัดกระแสไฟฟ้า 5 จุด อันได้แก่ 1.บริเวณบ้านพระเจดีย์สามองค์ เมืองพญาตองซู รัฐมอญ 2.บ้านเหมืองแดง-เมืองท่าขี้เหล็ก 3.สะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา-เมืองท่าขี้เหล็ก รัฐฉาน 4.สะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 2 ส่งไปที่เมียวดี และ 5.จุดซื้อขายไฟฟ้า ที่บ้านห้วยม่วง-อำเภอเมียวดี ซึ่งเป็นพื้นที่แนวชายแดนไทย-เมียนมานั้น ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในเมียนมามากนัก แต่จะส่งผลกระทบต่อชาวเมียนมาซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่บริเวณรอบพื้นที่ดังกล่าวมากกว่า เนื่องจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์สามารถซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาว และใช้ไฟฟ้าจากเครื่องปั่นไฟทดแทนได้ ซึ่งการที่ภาคเอกชนในเมียนมาจะซื้อไฟฟ้าจากลาวก็สามารถทำได้ทั้งซื้อจากนักธุรกิจลาวซึ่งเป็นผู้ผลิตใน สปป.ลาวโดยตรง และซื้อจากจีนที่เข้าไปลงทุนผลิตกระแสไฟฟ้าในลาว โดยสายส่งไฟฟ้าจะเชื่อมจากทางแขวงบ่อแก้ว และแขวงหลวงน้ำท่า ประเทศลาว เข้าไปทางท่าขี้เหล็กของเมียนมา โดยไม่ได้ผ่านไทยแต่อย่างใด
“การแก้ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในเมียนมาของรัฐบาลไทยซึ่งมีคำสั่งให้ตัดไฟฟ้านั้นอาจจะไม่ใช่วิธีที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด เพราะแก๊งเหล่านี้สามารถใช้พลังงานไฟฟ้าจากแหล่งอื่น เช่น ซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาว ใช้ไฟฟ้าจากเครื่องปั่นไฟที่ใช้น้ำมัน เครื่องปั่นไฟจากพลังงานน้ำ รวมทั้งไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ซึ่งปัจจุบันสามารถหาซื้อได้ง่ายทั้งที่ส่งไปจากไทยและสั่งมาจากประเทศจีน โดยเข้าไปทางเมืองมูเซ ตอนเหนือของรัฐฉาน ประเทศเมียนมา ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับเมืองรุ่ยลี่ ในมณฑลยูนนานของจีน ตอนนี้ในเมียนมาวางขายโซลาร์เซลกันเกลื่อนเลยเพราะเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยม ” รศ.ดร.อัทธ์ กล่าว
ทั้งนี้ จากข้อมูลพบว่าประเทศเมียนมามีโรงไฟฟ้าหลายแห่ง โดยปัจจุบันสามารถเดินเครื่องโรงไฟฟ้าพลังน้ำได้ 28 แห่ง โรงไฟฟ้าความร้อน 27 แห่ง และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 8 แห่ง มีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 6,371 เมกะวัตต์ และมีโครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้างและพัฒนาอีก 11 โครงการ มีกำลังการผลิตรวม 1,026 เมกะวัตต์ โดยใน 11 โครงการดังกล่าวนั้น มีโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ จำนวน 9 โครงการ โดยอยู่ในกรุงเนปิดอว์ 4 โครงการ, อยู่ที่ภูมิภาคมัณฑะเลย์ 3 โครงการ ,อยู่ในภูมิภาคพะโค 1 โครงการ และอยู่ในรัฐฉานอีก 1 โครงการ คิดเป็นกำลังการผลิตรวมกัน 530 เมกะวัตต์ ส่วนอีก 2 โครงการที่เหลือเป็นโครงการโรงไฟฟ้าไฮบริด (ก๊าซและพลังงานแสงอาทิตย์) โดยอยู่ในภูมิภาคมัณฑะเลย์ 1 โครงการ และอยู่ในมาเกวอีก 1 โครงการ มีกำลังการผลิตรวม 496 เมกะวัตต์
อย่างไรก็ดีในส่วนของเมืองเมียวดี พญาตองซู และท่าขี้เหล็ก ซึ่งเป็นฐานที่มั่นหลักของแก๊งคอนเซ็นเตอร์ในเมียนมานั้นขณะนี้ยังไม่มีโรงไฟฟ้า ที่ผ่านมากระแสไฟฟ้าที่ใช้ส่วนใหญ่จึงถูกส่งไปจากไทยเป็นหลัก เมื่อทางรัฐบาลไทยสั่งตัดไฟที่ถูกส่งไปยังจุดดังกล่าวแก๊งคอลเซ็นเตอร์จึงต้องหาพลังงานไฟฟ้าจากแหล่งอื่นมาทดแทน
ส่วนการงดส่งน้ำมันไปเมียนมานั้น “รศ.ดร.อัทธ์” มองว่า ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์มากนัก เพราะแม้แก๊งคอลเซ็นเตอร์อาจต้องใช้น้ำมันในการปั่นไฟ แต่ก็ยังสามารถซื้อกระแสไฟฟ้าจากลาวได้ แต่ที่หลายฝ่ายอาจนึกไม่ถึงคือการงดส่งน้ำมันไปเมียนมาจะส่งผลกระทบต่อการขนส่งสินค้าจากไทยไปขายในเมียนมา เนื่องจากเมื่อปั๊มต่างๆไม่มีน้ำมันขายหรือหาได้ยาก รถขนส่งสินค้าที่วิ่งจากชายแดนไทยเข้าไปในเมียนมาก็ไปได้ไม่ไกลเพราะไม่มีน้ำมันเติมระหว่างทาง โดยส่วนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือสินค้าที่ขนส่งผ่านด่านชายแดนแม่สอดของไทย
ทั้งนี้แม้เมียนมาจะมีน้ำมันที่นำเข้าจากประเทศอื่นๆแต่น้ำมันดังกล่าวอยู่ในการดูแลของรัฐบาลทหาร เนื่องจากตั้งแต่มีการรัฐประหารในเมียนมาน้ำมันก็กลายเป็นอาวุธทางเศรษฐกิจและอาวุธทางยุทธวิธีของรัฐบาลทหารเมียนมา โดยรัฐบาลจะไม่ปล่อยให้ประชาชนทั่วไปสามารถซื้อหาน้ำมันได้โดยง่ายเพื่อป้องกันไม่ให้กองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เช่น PDF สามารถใช้ยานพาหนะ โดยเฉพาะรถจักรยายนยนต์ ในการบุกโจมตีทหารเมียนมาได้ ซึ่งมาตรการดังกล่าวของรัฐบาลเมียนมาได้ส่งผลให้เกิดวิกฤตด้านพลังงาน เช่น ประชาชนต้องเข้าคิวเติมน้ำมัน โดยเฉพาะปั๊มน้ำมันในมัณฑเลย์ซึ่งเป็นเมืองเศรษฐกิจที่อยู่ภายใต้การดูแลของรัฐบาลทหารเมียนมา
“ พลังงานที่ใช้ในเมียนมานั้นมีทั้งน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และพลังงานหมุนเวียน สำหรับน้ำมันนั้นเมียนมาจะนำเข้าจากหลายประเทศ ทั้งไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ และรัสเซีย จริงๆแล้วเมียนมาไม่ได้คลาดแคลนน้ำมัน แต่รัฐบาลทหารเก็บไว้เป็นยุทธศาสตร์ในการสู้รบ ดังนั้นการที่ไทยงดส่งน้ำมันไปเมียนจึงทำให้รถขนส่งสินค้าจากไทยไปเมียนมาไม่มีน้ำมันเติมด้วยเช่นกัน ” รศ.ดร.อัทธ์ กล่าว
รศ.ดร.อัทธ์ ชี้ว่า การแก้ไขปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในเมียนมาที่ตรงจุดที่สุดก็คือการตัดสัญญาณอินเตอร์เน็ตและตัดสัญญาณโทรศัพท์เนื่องจากหากไทยตัดสัญญาณดังกล่าวในเมียนมาแล้ว แก๊งคอลเซ็นเตอร์ซึ่งส่วนใหญ่มีฐานปฏิบัติการอยู่บริเวณแนวชายแดนไทย-เมียนมาจะไม่สามารถหาสัญญาณอินเตอร์เน็ตและสัญญาณโทรศัพท์จากแหล่งอื่นทดแทนได้ ไม่ว่าจะเป็นจาก จีน ,สปป.ลาว หรืออินเดีย เพราะเป็นจุดที่ห่างไกลเกินกว่าจะเชื่อมต่อสัญญาณได้
“ เท่าที่ทราบนอกจากรัฐบาลจะสั่งตัดไฟ 5 จุด และส่งน้ำมันไปเมียนมาแล้วยังสั่งตัดอินเตอร์เน็ตด้วย ส่วนการตัดสัญญาณโทรศัพท์นั้นไม่รู้ว่ามีการสั่งการในเรื่องนี้หรือไม่ ถ้าค่ายมือถือของไทยตัดสัญญาณโทรศัพท์และสัญญาณอินเตอร์เน็ตที่ส่งไปยังเมียนมาได้ 100% เชื่อว่าแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในเมียนมาอยู่ไม่ได้แน่นอน เพราะถ้าไม่มีสัญญาณเขาก็โทร.ไปหลอกเหยื่อไม่ได้ ส่งข้อความผ่านสื่อออนไลน์ไปหลอกเหยื่อก็ไม่ได้ โดย กสทช.(สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการทรคมนาคมแห่งชาติ)ต้องสั่งการไปยังผู้ให้บริการฯ ” รศ.ดร.อัทธ์ ระบุ
ด้าน นายไผท สิทธิสุนทร ผู้อำนวยการกองความมั่นคงกิจการชายแดนและประเทศรอบบ้าน สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) ระบุว่า ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลและหน่วยงานความมั่นคง มีความกังวลเกี่ยวกับปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ โดยเฉพาะในประเทศเมียนมา และได้ประเมินหลายครั้งเกี่ยวกับธุรกิจผิดกฎหมายบริเวณชายแดนซึ่งจะส่งผลกระทบทั้งปัจจุบันและอนาคต โดยในการประชุม สมช.เมื่อวันที่ 3 ก.พ.2568 ที่ผ่านมา จึงได้มีมติตัดไฟฟ้าในพื้นที่ 5 จุด ใน 3 จังหวัด ที่มีการใช้ไฟฟ้าจากไทยเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมข้ามชาติ ขณะเดียวกันที่ประชุมยังได้มีมติให้ไทยระงับการส่งน้ำมันเชื้อเพลิง และตัดสัญญาณอินเตอร์เน็ต รวมถึงตัดสัญญาณโทรศัพท์ในเมียนด้วย โดยได้ทำหนังสือถึงกระทรวงคมนาคม กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงพลังงานให้เร่งดำเนินการโดยเร็ว และในอนาคตไม่ใช่เฉพาะเมียนมา แต่มีชายแดนด้านอื่น ที่ สมช.จะพิจารณาดำเนินการด้วย รวมถึงจะทบทวนกฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน
ขณะที่ นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. เปิดเผยว่า ในส่วนของการตัดสัญญาณอินเตอร์เน็ตและสัญญาณโทรศัพท์ของไทยที่ส่งเครือข่ายสัญญาณไปในเมียนมานั้น จะต้องหารือกับโอเปอเรเตอร์ ( ผู้ให้บริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต) ว่าซิมค่ายไหนได้เบอร์ไหนไปบ้าง เพื่อตรวจสอบว่าขายให้ใคร และใครเป็นคนจดทะเบียน โดยเบื้องต้นอาจมีการระงับการใช้ และเรียกเข้ามาลงทะเบียนใหม่ ทั้งนี้ ปัจจุบันมีบริษัทในฝั่งเมียนมาที่ใช้สัญญาณอินเทอร์เน็ตจากไทย และจดทะเบียนแล้วประมาณ 15-20 ราย ซึ่งดูจากการใช้สัญญาณก็นับว่าสูงทีเดียว
“การตัดสัญญาณมือถือทำไม่ยาก แค่นำเสาอากาศออกจากเสา และเปลี่ยนเป็นเสาขนาดเล็ก เพื่อยิงสัญญาณใกล้ๆ ให้เพียงพอกับคนในประเทศ ยืนยันว่าการใช้โทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตภายในประเทศจะไม่มีปัญหา แต่หากสัญญาณดรอปไปก็สามารถแจ้งมาได้ ส่วนเรื่องการตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ตนั้นขณะนี้ไม่แน่ชัดว่าอีกฝั่งมีการใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อกระทำความผิดหรือไม่ ทำให้ไม่สามารถปิดสัญญาณได้ ซึ่งนี่คือปัญหาใหญ่ของเรา และเรากำลังหาช่องว่าจะทำอย่างไร โดยขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการทางฝั่งเมียนมาส่งสัญญาณมาให้ดู” นายไตรรัตน์ กล่าว
จากข้อมูลพบว่าปัจจุบันมีผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่มีโครงข่ายเป็นของตนเอง หรือที่เรียกว่าโอเปอเรเตอร์ ในประเทศไทย อยู่ 3 ราย ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS, บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งเกิดจากการควบรวมระหว่างทรูกับดีแทค และบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT ส่วนว่าบริษัทใดส่งเครือข่ายสัญญานไปยังเมียนมาบ้างนั้นอาจไม่ใช่ประเด็นสำคัญ เพราะหากทุกบริษัทตัดสัญญาณโทรศัพท์และสัญญาณอินเตอร์เน็ตที่ส่งไปยังเมียนมาทั้งหมด แก็งคอลเซ็นเตอร์ก็จะไม่สามารถปฏิบัติการหลอกลวงเหยื่อได้อีกต่อไป
อย่างไรก็ดี ในส่วนการขอความร่วมมือจากรัฐบาลทหารเมียนมาและกองกำลังหรือกลุ่มชาติพันธุ์ทที่ดูแลพื้นที่ซึ่งเป็นฐานปฏิบัติการแก๊งคอลเซ็นเตอร์นั้น “รศ.ดร.อัทธ์” มองว่าเป็นเรื่องยาก โดยแต่ละฝ่ายอาจจะรับปากรัฐบาลไทยว่าจะช่วยปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์แต่ไม่ได้ดำเนินการจริง เข้าทำนอง No Action Talk only อีกทั้งเรื่องนี้มีหลายกลุ่มที่ได้ผลประโยชน์ร่วมกัน ทั้ง ชนกลุ่มน้อยที่อยู่ในพื้นที่ กองกำลังต่างๆ อาทิ กองกำลังแห่งชาติกะเหรี่ยง(KNA) กลุ่มจีนเทา และกลุ่มไทยเทา
“ การที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตัดสินใจแก้ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ล่าช้านั้นส่วนหนึ่งก็อาจจะมาจากการที่กลุ่มไทยเทากับคนที่เป็นใหญ่เป็นโตในบ้านเมืองมีความเกี่ยวข้องกัน ซึ่งก็มีทั้งข้าราชการและนักการเมือง เลยทำงานกันแบบลูบหน้าปะจมูก ” รศ.ดร.อัทธ์ กล่าว