พ.ต.อ.กฤษณะพงศ์ กัญจน์ชัยกิจ คู่กรณีโจ๊ก แจงกรณีอัยการสั่งฟ้องคดีหมิ่นสุรเชชษฐ์ ชี้ออกหมายจับซ้ำช้อน จนท.ใช้ข้อกฎหมายไม่ชอบธรรม ซัดกำลังกลั่นแกล้ง ขวางรื้อ "ส่วยคาราโอเกะ" ของนายตำรวจคนหนึ่งกับพวก
วันนี้ (1 ก.พ.) จากกรณีที่พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 6 (ปทุมวัน) สั่งฟ้อง พ.ต.อ.กฤษณะพงศ์ กัญจน์ชัยกิจ รองผู้บังคับการกองร้องทุกข์ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ เป็นคดีหมายเลขดำที่ 65/2568 ต่อศาลแขวงปทุมวัน ความอาญา ในคดีที่ พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ หักพาล อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (อดีต รอง ผบ.ตร.) ได้แจ้งความไว้ที่ สน.ปทุมวัน กล่าวหาว่า พ.ต.อ.กฤษณะพงศ์ และพวก นำข้อความอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์และหมิ่นประมาท และได้ออกหมายจับ พ.ต.อ.กฤษณะพงศ์ ซึ่งต่อมา พ.ต.อ.กฤษณะพงศ์ ได้มาแสดงตัวต่อศาล แล้วอัยการส่งฟ้อง ต่อมาขอยื่นประกันตัว ศาลอนุญาตให้ประกันตัวในวงเงิน 30,000 บาท
ล่าสุด พ.ต.อ.กฤษณะพงศ์ ได้ออกหนังสือชี้แจงต่อสื่อมวลชน ระบุว่า ประการที่ 1 ที่มาของการฟ้องร้องคดีและเหตุผลในการรื้อฟื้นคดีส่วยคาราโอเกะ กรณีสืบเนื่องมาจากตนร้องขอให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รื้อฟื้นวนการไต่สวนข้อเท็จจริงของสำนักงาน ป.ป.ช. ขึ้นพิจารณาใหม่ กรณีนายตำรวจคนหนึ่งกับพวก ถูกกล่าวหากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ (ส่วยคาราโอเกะ) โดยตนเป็นพยานในคดีและเห็นว่าคณะอนุกรรมการไต่สวนผู้รับผิดชอบมิได้นำข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคดีมาพิจารณา
ต่อมานายวีระ สมความคิด เชื่อว่ากลุ่มผู้ถูกล่าวหากรรมการ ป.ป.ช. กับพวกในคดีนี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำผิด และได้นำสำเนาสำนาสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการ ป.ป.ช. มาเปรียบเทียบกับสำนวนการสืบสวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการจเรตำรวจ พบว่ามีการละเว้นไม่ดำเนินคดีหรือไต่สวนข้อเท็จจริง เกี่ยวกับการกระทำผิดทางอาญาหลายข้อหา หรือฐานความผิดของนายตำรวจนายหนึ่งที่ถูกผู้ประกอบการคนหนึ่งร้องเรียนกล่าวหาในคดีส่วยคาราโอเกะ
จากการที่ตนเป็นพยานสำคัญและมีข้อมูลเกี่ยวกับข้อเท็จจริงทั้งหมดในคดีส่วยคาราโอเกะ ตนจึงร้องขอให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ทำการตรวจสอบข้อเท็จริงในการสืบสวนของจเรตำรวจ ตั้งแต่ต้นปี 2554 ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่ง พนักงานสอบสวน (สบ.3) กองกำกับการ 3 กองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ ต่อมาเมื่อตนพบพยานหลักฐานที่บ่งชี้ว่าการยุติการไต่สวนอาจไม่เป็นไปตามกฎหมาย ตนจึงใช้สิทธิและอำนาจตามหน้าที่ร้องขอให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติม ตนให้ความร่วมมือกับกระบวนการยุติธรรมมาโดยตลอด และขณะนี้ตนอยู่ในระหว่างการคุ้มครองพยาน แม้ว่าจะถูกดำเนินคดี ตนยินดีเข้าสู่กระบวนการยุติธรรรมโดยไม่มีเจตนาหลบหนี พร้อมให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่
ประการที่ 2 การออกหมายจับซ้ำช้อนและข้อกฎหมายที่ไม่ชอบธรรม มีการออกหมายจับตนถึง 2 ครั้ง ซึ่งเป็นเรื่องที่ผิดปกติอย่างยิ่ง และส่อถึงพฤติกรรมที่ไม่ชอบมาพากลของเจ้าหน้าที่ผู้ดำเนินคดี เนื่องจากตนดำรงยศพันตำรวจเอก มีตำแหน่งหน้าที่ที่ชัดเจน สามามารถติดตามตัวได้ตลอดเวลา อีกทั้งตนมิได้มีพฤติการณ์หลบหนี จึงไม่มีเหตุผลอันสมควรที่ต้องออกหมายจับช้ำช้อน นอกจากนี้ การที่พนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้องคดีหมายเลขดำที่ 65/2568 ต่อศาลแขวงปทุมวัน ซึ่งเป็นคดีอาญา ถือเป็นการดำเนินการที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เนื่องจากพนักงานอัยการฝ่ายคดีศาลแขวง 6 (ปทุมวัน) ไม่มีอำนาจตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ให้กระทำได้ เพราะการกระทำของตนเป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการ ไม่ใช่การกระทำโดยส่วนตัว ตามหลักกฎหมายแล้ว คดีที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ ต้องอยู่ในอำนาจการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตาม พระราชบัญญัติประกอบรัฐธธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ข้อ 28 (2) พนักงานสอบสวนในคดีนี้ มีหน้าที่ต้องขอรับสำนวนคืนกลับมา แล้วนำส่งสำนวนไปยังคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อพิจารณาดำเนินการตามกฎหมาย
ดังนั้น การที่พนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการดำเนินคดีผ่านช่องทางที่ไม่ถูกต้อง อาจเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและกลั่นแกล้งทางกฎหมาย ซึ่งขัดต่อหลักความยุติธรรม การดำเนินคดีในลักษณะนี้สร้างบรรทัดฐานที่ไม่ถูกต้องและอาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐที่ปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต
ประการที่ 3 การกลั่นแกล้งและความพยายามขัดขวางการรื้อฟื้นคดี แม้ว่าตนจะอยู่ในระหว่างการคุ้มครองพยาน แต่กลับถูกดำเนินคดีและถูกฟ้องร้อง ซึ่งอาจเป็นความพยายามกดดันไม่ให้ตนรื้อฟื้นคดีส่วยคาราโอเกะก่อนหน้านี้ ตนเคยถูกกลั่นแกล้งโดยการถูกแต่งตั้งให้ไปฏิบัติหน้าที่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยไม่สมัครใจ ซึ่งส่งผลให้ได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก นอกจากนี้ ยังมีการร้องทุกข์กล่าวโทษตนในข้อหาหมิ่นประมาทและข้อหาอื่น ๆ ที่ไม่มีมูลความจริง การร้องทุกข์กล่าวโทษและการดำเนินคดีโดยนายตำรวจนายหนึ่งอาจเป็นความพยายามในการขัดขวางไม่ให้ตนเปิดโปงความจริงที่เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงและคณะกรรมการ ป.ป.ช. และขัดขวางการรื้อฟื้นคดีส่วยคาราโอเกะ
ประการที่ 4 ความผิดพลาดในการใช้กฎหมาย คดีที่ถูกพนักงานอัยการสั่งฟ้องนี้เกี่ยวข้องกับ พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2554 มาตรา 14 และ ข้อหาหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งเป็นข้อหาที่ไม่สามารถฟ้องร่วมกันได้โดยกฎหมาย การที่พนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการยังคงสั่งฟ้องในทั้งสองข้อหา อาจเข้าข่ายเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
ประการที่ 5 การได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายและแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้อง ตนได้รับการคุ้มครองพยานตามหนังสือจากกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพได้อนุมัติให้คุ้มครองพยานและหนังสือของ ผบก.ปปปป. โดยให้คุ้มครองพยานรายตนที่ได้ปฏิบัติหน้าที่เพื่อขอรื้อฟื้นคดีส่วยคาราโอเกะ โดยกำชับให้ผู้บังคับบัญชาและผู้ที่เกี่ยวข้องให้ความคุ้มครองและให้หลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการร้องเรียนกล่าวโทษข้าราชการและสอบสวนเรื่องราว หรือการร้องเรียนกล่าวโทษข้าราชการกระทำผิดวินัย สรุปได้ว่า "ให้ผู้บังคับบัญชาใช้ดุลยพินิจสั่งการที่สมควร เพื่อคุ้มครองผู้ร้องพยาน หรือบุคคลที่ได้ให้ข้อมูลในการสืบสวนสอบสวน อย่าให้ต้องได้รับภัยหรือความไม่ชอบธรรมซึ่งอาจเนื่องมาจากการร้องเรียน การเป็นพยาน หรือการให้ข้อมูลนั้น" โดยกองบังคับการป้องกันและปราบปรามกระทำการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการได้มีหนังสือแจ้งมายังผู้บังคับบัญชาของตนแล้ว ในวันที่ 16 พ.ค. 2567
หากพิจารณารายละเอียดในหนังสือ ย่อมทราบดีว่าการที่ตนขอรื้อฟื้นคดี "ส่วยคาราโอเกะ" เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายในฐานะข้าราชการตำรวจ การส่งผู้ต้องหาให้พนักงานอัยการเพื่อนำตัวไปฟ้องคดีย่อมยังเป็นการดำเนินคดีผิดช่องทางซึ่งความจริงจะต้องขอรับสำนวนคืนกลับมาแล้วนำส่งสำนวนไปยังคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพราะเป็นเรื่องการวินิจฉัยของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ทำการวินิจฉัยเสียก่อนว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตหรือไม่ หรือหากฝ่ายกฎหมาย ตร. มีความเห็นว่าขบวนการที่ผ่านมาก่อนยังไม่ถูกต้อง ก็อาจมีอำนาจทบทวนความเห็นของพนักงานสอบสวนตามที่ปรากฎพยานหลักฐานใหม่ในภายหลังดังกล่าวได้ เพราะไม่ได้อยู่ในอำนาจของพนักงานอัยการศาลแขวง 6 (ปทุมวัน) มาตั้งแต่ต้นแล้ว
การที่ตนร้องขอให้มีการรื้อฟื้นคดี เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายในฐานะข้าราชการตำรวจ ซึ่งมีหน้าที่รักษากฎหมายและดำเนินการตามอำนาจหน้าที่โดยสุจริต การทำหน้าที่ของตนที่จะดำรงไว้ซึ่งการปฏิบัติหน้าที่ถูกกระทำต่าง ๆ นานา ตนขอยืนยันว่าจะต่อสู้เรื่องนี้ให้ถึงที่สุดและทำความจริงให้ปรากฏว่าตนไม่ได้ทำความผิดตามที่ถูกฟ้อง หากตนไม่อาจหาความยุติธรรมและต่อสู้ได้ ตนคงไม่อาจหาความยุติธรรมหรือต่อสู้ให้กับชาวบ้านหรือประชาชนที่หวังว่าตำรวจจะเป็นที่พึ่งให้กับพวกเขาได้ ตนจึงขอชี้แจงข้อเท็จจริงนี้เพื่อให้สื่อมวลชนและประชาชนได้รับทราบถึงมูลเหตุของคดีและพฤติกรรมที่อาจเป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบ
"กระผมขอขอบคุณบรรดาพี่ ๆ น้อง ๆ และเพื่อน ๆ ที่ต่างแสดงความเป็นห่วงเป็นใยในสถานการณ์ที่กระผมกำลังเผชิญ กระผมขอบอกว่ากระผมมาถึงวันนี้ภูมิใจที่สุดแล้วที่ได้ทำหน้าที่ที่ตำรวจคนหนึ่งจะทำได้ และกระผมจะสู้ต่อไป ความจริง ความถูกต้อง ต้องมีและปรากฏ" พ.ต.อ.กฤษณะพงศ์ กล่าว