เผยหลักฐานในอดีต ทักษิณและครอบครัว ไม่ได้มีทรัพย์สิน 60,000 ล้านตามที่โม้ไว้ แต่ทั้งครอบครัวมีแค่ 21,069 ล้าน บุญยอด สุขถิ่นไทย ระบุ เคยโฟนอินโกหกคนเสื้อแดงมาแล้ว ยังโกหกซ้ำบนเวทีหาเสียง อบจ. อีก
วันนี้ (21 ม.ค.) กรณีที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวบนเวทีปราศรัยที่จังหวัดมหาสารคามเมื่อวานนี้ (20 ม.ค.) ว่า โกงพ่อมึงสิ ผมเข้ามาการเมืองเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ตอนนั้นประกาศทรัพย์สินทั้งที่ ป.ป.ช.ไม่บังคับ ผมประกาศมีทรัพย์สินกว่า 60,000 ล้าน เพราะทำธุรกิจมา สร้างเนื้อสร้างตัวมา วันนี้โดนยึดไป 46,000 ล้าน ยังไม่ร้องสักคำเลย ทั้งๆ ที่เป็นเงินที่ทำมาหากินแท้ๆ คำก็โกง สองคำก็โกง ก็มึงตั้งคณะกรรมการเฮงซวยมาสอบกู ตอนที่กูรวย มึงยังเพิ่งขอตังค์พ่อใช้อยู่เลย วันนี้ผมไม่เดือดร้อน แม้มีเงิน 700 บาท กับลำไพ่วันละ 300 บาท ก็ไม่เดือดร้อน เพราะความสุขคือการทำให้บ้านเมือง และพี่น้องพ้นทุกข์
นายบุญยอด สุขถิ่นไทยเอ็กเซ็กคิวทีฟโปรดิวเซอร์ แนวหน้าออนไลน์ และอดีต สส.กทม. โพสต์ข้อความระบุว่า "หลักฐานในอดีต ทักษิณและครอบครัว ไม่ได้มีทรัพย์สิน 60,000 ล้าน (ทั้งครอบครัว 21,069 ล้าน) เคยโฟนอินโกหกคนเสื้อแดงมาแล้ว ยังโกหกซ้ำบนเวทีหาเสียง อบจ. อีก" พร้อมกับนำรายงานข่าวจากสำนักข่าวอิศรา ที่เปิดเผยราชกิจจานุเบกษาดูผลตรวจสอบทรัพย์สินนายทักษิณ ยุคดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี สมัยรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ที่พบว่าทั้งครอบครัวมีแค่ 21,069 ล้านบาท ซึ่งก่อนหน้านี้นายทักษิณเคยโฟนอินบนเวทีคนเสื้อแดง และนายพานทองแท้ ชินวัตร ลูกชายโพสต์เฟซบุ๊ก ว่าก่อนเข้าสู่ตำแหน่งมีทรัพย์สิน 6 หมื่นล้านบาทตอนรับตำแหน่งทางการเมืองยุคพรรคพลังธรรม
รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า เมื่อวันที่ 26 ก.พ. 2553 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีมติเสียงข้างมากให้ยึดทรัพย์ของนายทักษิณและครอบครัว ที่ได้จากการขายหุ้นและเงินปันผล รวมทั้งสิ้น 46,373 ล้านบาท ให้ตกเป็นของแผ่นดิน เนื่องจากเป็นทรัพย์สินที่ได้มาโดยไม่สมควร สืบเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่อันเป็นการร่ำรวยผิดปกติ และเป็นการกระทำที่ขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม หลังอัยการสูงสุดได้ยื่นฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์ของนายทักษิณและครอบครัว 76,261.6 ล้านบาท ตกเป็นของแผ่นดิน
เพราะในขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นายทักษิณได้ใช้อำนาจเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือ รวม 5 กรณี ทำให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ เช่น กรณีแปลงค่าสัมปทานเป็นค่าภาษีสรรพสามิต และการปรับลดส่วนแบ่งค่าสัมปทานโทรศัพท์ระบบเติมเงิน แต่ศาลให้ยึดเฉพาะเงินค่าขายหุ้นชินคอร์ปฯ ส่วนที่เพิ่มขึ้นหลังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเงินปันผล และคืนส่วนที่เหลือ 30,247 ล้านบาท เพราะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เงินที่มีอยู่แต่เดิม