MGROnline–“อ.ปานเทพ – ณวัฒน์” นำทีมมิสแกรนด์77จังหวัด ทวงคืนความยุติธรรมให้ “แตงโม นิดา”จี้ดีเอสไอรับคดีเป็นคดีพิเศษภายใน1เดือน ด้านหัวหน้าชุดสอบสวนเตรียมออกเลขสำนวนสิ้น ม.ค.นี้ ขณะ “ทวี สอดส่อง” ย้ำพร้อมคืนความยุติธรรมในทุกเรื่องที่ประชาชนเรียกร้อง
วันนี้ (20 ม.ค.) เวลา 16.30 น. ห้องประชุม ชั้น 2 อาคารเอ ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ นายสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ ที่ปรึกษา รมว.ยุติธรรม พร้อมด้วย พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พ.ต.ต.ณฐพล ดิษยธรรม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม ดีเอสไอ รับเรื่องจาก นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต , พ.อ.นพ.ธวัชชัย กาญจนรินทร์ หรือ อาจารย์หมอธวัชชัย อดีตอาจารย์และแพทย์ศัลยกรรม โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า , นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม และ นายณวัฒน์ อิศรไกรศีล โดยมีสาวงามจากเวทีกองประกวด MISS GRAND THAILAND 2025 ทั้ง 77 จังหวัด เดินทางมาร่วมเรียกร้องให้ ดีเอสไอ ตรวจสอบการเสียชีวิตของ น.ส.ภัทรธิดา (นิดา) พัชรวีระพงษ์ หรือแตงโม เพื่อขอให้รับเป็นคดีพิเศษ
นายณวัฒน์ กล่าวว่า สืบเนื่องจากอุบัติเหตุคดีแตงโมตกเรือ ซึ่งเป็นคดีที่สนใจของประชาชนทั้งประเทศ พบข้อสงสัยหลายประการ ไม่สอดคล้องกับคำให้การและหลักฐานที่ปรากฏ มีทั้งพฤติกรรมบุคคลแวดล้อมปราศจากหลักฐานอ้างสรุปว่าเป็นอุบัติเหตุ รวมถึงสภาพศพยังมีข้อพิรุธ มิได้อยู่ในสำนวน และหลักฐานทางวิทยาศาสตร์จากผู้เชี่ยวชาญหลายคนถูกตัดจากการเป็นพยาน นอกจากนี้ ยังมีข้อสงสัยอีกมากมายจากการสำรวจทางโพลล์ไม่น้อยกว่า 90% เชื่อว่าเป็นฆาตรกรรมอำพราง
"ในสังคมไทย ต้องยอมรับว่ามีการใช้อำนาจบารมีและเงินบิดเบือนข้อเท็จจริง โดยวันนี้ตัวแทนมิสแกรนด์ไทยแลนด์ 77 จังหวัดและภาคประชาชนให้ ดีเอสไอ ช่วยรับเรื่องเป็นเลขสืบสวน เพื่อให้สังคมไทยได้ข้อสรุปที่แท้จริง และเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับผู้เสียชีวิต ตนยังเชื่อมั่นในดีเอสไอในกระบวนการยุติธรรม"
ด้าน นายอัจฉริยะ เปิดเผยว่า ตนร้องมายังกระทรวงยุติธรรม 2 ส่วน 1.ร้องเรียนไปยัง รมว.ยุติธรรม เรื่องการแก้ไขคำฟ้อง ตามกฎหมาย สามารถทำได้ หากศาลยังไม่มีคำพิพากษาชั้นต้น 2.ร้องเรียนดีเอสไอ เอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐและบุคคลที่เกี่ยวข้องที่ส่อไม่สุจริต มีคนบนเรือด้วย โดยตนจะทำคดีแตงโมเป็นคดีสุดท้าย เพราะเบื่อความยุติธรรมของประเทศไทย ตำรวจไม่รับใช้ประชาชนและคดีอัปยศที่สุดเพราะตำรวจตั้งธงตั้งแต่แรก ทั้งนี้ ตนเชื่อว่าการรับเลขสืบสวนของดีเอสไอใช้เวลาไม่นานเพราะมีหลักฐานหมดแล้วเพื่อจะดำเนินการสืบสวนตามอำนาจหน้าที่
ส่วนทาง นายแพทย์ธวัชชัย เผยว่า คดีแตงโม อย่างน้อยสุดก็ต้องเอาผิดกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ การนำข้อมูลอันเป็นเท็จฯ สู่ระบบคอมพิวเตอร์ รวมทั้ง ขอบคุณมิสแกรนด์ที่ช่วยจำลองเหตุการณ์ว่าการปัสสาวะท้ายเรือไม่สามารถทำได้ รวมถึง การถ่ายภาพท้ายเรือของแตงโมไม่สามารถทำได้ทางเทคนิคกายภาพ และต้องมีคนรับผิดชอบในคดี
นายสมบูรณ์ เผยว่า กระทรวงยุติธรรมและดีเอสไอ ยินดีดำเนินการตามกระบวนการ โดยคดีดังกล่าวเกิดขึ้น 2-3 ปีมาแล้ว มีการฟ้องร้องตามขั้นตอนถึงชั้นศาล มีจำเลย 2 คนยอมรับสารภาพแล้ว อีก 4 คนจะสืบพยานครั้งสุดท้าย 29 ม.ค.68 และศาลจะนัดฟังคำพิพากษา อย่างไรก็ตาม การมาร้องขอความเป็นธรรมภาคประชาชนยังคงสามารถทำได้ หากเข้าข่ายคดีพิเศษในข้อหาอื่น ส่วนการรับเป็นคดีพิเศษมี 3 ขั้นตอน 1.รวบรวมข้อเท็จจริง 2.การสืบสวนคดี และ 3.หากมีหลักฐานชัดเจนก็รับเป็นคดีพิเศษ แต่ถ้าเป็นคดีประชาชนสนใจหรือกระทบต่อกระบวนการยุติธรรม อธิบดีดีเอสไอ เสนอเรื่องต่อคณะกรรมการพิจารณาคดีพิเศษได้เช่นกัน ทั้งนี้ คดีดังกล่าวยังอยู่ในขั้นต้นเป็นการรวบรวมพยานหลักฐานข้อเท็จจริง
พ.ต.ต.ยุทธนา ระบุว่า การดำเนินการต้องขึ้นอยู่กับพยานหลักฐาน และภายใต้กรอบกฎหมายอำนาจหน้าที่ของดีเอสไอ ส่วนการรื้อฟื้นคดีจะทำได้หรือไม่ ต้องพิจารณาก่อนว่าจำเลยหรือแพะเป็นผู้ร้องขอว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ต้องมีกระบวนการ เช่น พยานหลักฐานเท็จหรือเบิกความเท็จ ซึ่งเจ้าหน้าที่พร้อมปฏิบัติงานเต็มที่และคาดว่าภายในสิ้นเดือน ม.ค.68 พร้อมรับเป็นเลขสืบสวนคดี
พ.ต.ต.ณัฐพล ระบุว่า ตนรับผิดชอบสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงในคดีแตงโม จะเน้นนิติวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการรวบรวมพยานหลักฐาน โดยดีเอสไอมีมาตรการในการทำงาน และวันนี้เป็นจุดเริ่มต้นหลังได้ร่วมสังเกตการณ์ จากนี้จะรวบรวมข้อเท็จจริงทั้งหมด
ต่อมา พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม เดินทางมาให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมหลังกลับจากภารกิจ ว่า กระบวนการพิจารณารับเป็นเลขสืบสวนนั้น กระทรวงยุติธรรม มีหน่วยงานดีเอสไอรับผิดชอบดูแลคดีที่สลับซับซ้อน แต่ต้องอยู่ในเงื่อนไขกฎหมาย แต่มีส่วนหนึ่งอยู่ในขั้นตอนพิจารณาศาลแล้ว สำหรับ พ.ร.บ.การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ. 2526 คดีต้องเป็นคดีเด็ดขาดแล้ว ส่วนหากเป็นคดีระหว่างพิจารณาของศาล ถ้ายังมีประเด็นก็อยู่ในอำนาจของอัยการ หรือ การกล่าวหาบุคคลใหม่ที่ไม่อยู่ในสำนวนมาก่อนตรงนี้ก็จะมีอำนาจสืบสวนเป็นคดีใหม่ได้
"ทั้งนี้ ในคดีที่มีผู้เสียชีวิต มี 3 หลัก ประกอบด้วย หลักที่ 1 หลักเทคนิคในการสืบสวนสอบสวน ขึ้นอยู่กับผู้รวบรวมหลักฐาน 2.หลักการตรวจพิสูจน์ และ 3.หลักโดยชอบด้วยกฎหมาย ในการตรวจพิสูจน์เคสแบบนี้ ถ้าดีเอสไอจะตรวจสอบ ก็อยากให้มีผู้เชี่ยวชาญที่ขึ้นบัญชีไว้กับศาล ซึ่งจะมีแพทย์นิติเวชบ้าง จะช่วยเป็นส่วนหนึ่งขององค์ประกอบ พร้อมย้ำว่าเรื่องนี้ไม่มีใครเสียหน้า เป็นเรื่องที่ประชาชนสนใจ และหน้าที่ของกระบวนการยุติธรรม คือ ต้องทำความจริงให้ปรากฏ อย่างไรก็ตาม กรณีการจะรับไว้เป็นคดีพิเศษ หรือเพื่อสอบสวนใหม่นั้น ถ้ามีคนกระทำผิดใหม่ อันนี้สอบสวนได้ แต่ต้องมีการกล่าวหา พร้อมยืนยันว่า หลักการสอบสวนอยู่ที่พยานหลักฐาน เจ้าพนักงานต้องมีความกล้าหาญ ไม่มีอคติ หากพยานหลักฐานเชื่อมโยงถึงใครก็ทำตามพยานหลักฐาน"