จากคืนวันจันทร์( 13 ม.ค.) ชาวเน็ตจีนตื่นมาพบกับปรากฏการณ์แปลกหายากพลิกฟ้าพลิกแผ่นดินก็ไม่ปาน โดยกลุ่มผู้ใช้ติ๊กต็อก (TikTok) ในสหรัฐฯ ซึ่งเรียกขานตัวเองว่า “ผู้ลี้ภัยติ๊กต็อก” ตบเท้าเข้ายึดครองพื้นที่ในแอปโซเชียลมีเดียของจีน คือ “เสี่ยวหงซู” (Xiaohongshu)
“แอปมันเทศ” ของจีน กลายเป็น “แอปมันฝรั่ง” !
ชาวเน็ตจีนเล่าถึงปรากฏการณ์ที่ “ผู้ลี้ภัยติ๊กต็อก” จากสหรัฐฯแห่ไปเปิดบัญชีใน “เสี่ยวหงซู” หรือที่ชาวต่างชาติเรียกฉายาว่า “IG จีน” จนดูราวกับว่า “มีแอปใหม่ผุดขึ้นมาแทนที่ เปลี่ยนไปเป็น “แอปมันฝรั่ง”
ทั้งนี้ ในภาษาจีน “เสี่ยวหงซู” (小红书 แปลว่าหนังสือเล่มแดงเล่มน้อย) โดยคำ “เสี่ยว แปลว่า เล็ก, ส่วน “หงซู” เสียงคล้ายๆกับ “หงสู่” (红薯) ที่แปลว่า “มันเทศ” ดังนั้น “เสี่ยวหงสู่” หรือ “มันเทศน้อย” จึงกลายมาเป็นเรียกชื่อเล่นของแอปโซเชียลมีเดียยอดนิยมรายนี้ของจีน เมื่อกลุ่มผู้ใช้ติ๊กต็อกจากอเมริกาแห่อพยพเข้ามายึดพื้นที่ในแอปเสี่ยวหงซู จนดูกลายเป็นแอปใหม่ของพวกฝรั่งตาน้ำข้าว ที่น่าจะเรียกว่า “แอปเสี่ยวหยางอี๋ว์” ซึ่งแปลว่า “มันฝรั่งน้อย”
ชาวเน็ตจีนผู้หนึ่ง บอกว่า “ใครจะคาดคิดถึงว่า ชั่วชีวิตนี้จะได้เห็นชาวอเมริกันแห่แหนกันมาเล่นอินเทอร์เน็ตจีนอย่างมืดฟ้ามัวดินแบบนี้”
เหตุที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่พบได้ยากนี้ เนื่องจากศาลสูงสุดแห่งสหรัฐฯกำลังพิจารณาตัดสินการยื่นอุทธรณ์ของติ๊กต็อก ขอให้ศาลตัดสินคว่ำกฎหมายบังคับให้บริษัทจีนไบต์แดนซ์ซึ่งเป็นเจ้าของแอปติ๊กต็อก ขายกิจการติ๊กต็อกในอเมริกาไม่เช่นนั้นก็จะถูกแบน โดยรัฐบาลสหรัฐฯผลักดันกฎหมายฯฉบับนี้ออกมาเมื่อปีที่แล้ว หากศาลสูงสุดของสหรัฐฯปฏิเสธการยื่นอุทธรณ์ของติ๊กต็อก แอปติ๊กต็อกก็จะถูกแบนทั่วสหรัฐฯในวันที่ 19 ม.ค.นี้
ด้วยแนวโน้มที่ติ๊กต็อกในสหรัฐฯอาจถูกแบน ผู้ใช้ติ๊กต็อกในสหรัฐฯจึงรวมตัวกันเรียกขานตัวเองว่า “ผู้ลี้ภัยติ๊กต็อก” และย้ายไปเปิดบัญชีใน “เสี่ยวหงซู” จนกระทั่งในวันอังคาร(14 ม.ค.) แอปเสี่ยวหงซู พุ่งขึ้นแท่นอันดับหนึ่ง เป็นแอปที่มีผู้โหลดมากที่สุด
ด้านชาวเน็ตจีนก็ให้การต้อนรับเหล่า “ผู้ลี้ภัย TikTok” จากอเมริกากันคึกกัก มีการแลกเปลี่ยนภาษากันสนุกสนาน การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม อีกทั้งมีการล้อเลียนประเด็นขัดแย้งการเมืองระหว่างจีนและสหรัฐฯ การพูดคุยเสียดสีการโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาลทั้งสองฝ่าย การโจรกรรมข้อมูล ฯลฯ