xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กจ๋อ” เผยเบื้องหลัง “จ่าเอ็ม” ร้องขอ จนท.คุ้มครองพิเศษ หวั่นโดนฆ่าตัดตอน เตรียมออกหมายแดงล่าตัวคนชี้เป้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ผู้การสืบนครบาล เผย “จ่าเอ็ม” มือยิงอดีต สส.ฝ่ายค้านกัมพูชา ร้องขอเจ้าหน้าที่คุ้มครองพิเศษ หวั่นเกิดอันตรายถูกฆ่าตัดตอน ได้ตัวมาเร็วเพราะ มท.เขมรใช้อำนาจเว้นโทษจำคุกคดีหลบหนีเข้าเมืองผลักดันออกนอประเทศได้ทันที เตรียมออกหมายแดงล่าตัวคนชี้เป้า

วันนี้ (11 ม.ค.) พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผบก.สส.บช.น. เปิดเผยถึงเบื้องหลังการดำเนินการติดตามจับกุมนายเอกลักษณ์ แพน้อย หรือ จ่าเอ็ม มือยิงนายลิม กิมยา อดีต สส.ฝ่ายค้านกัมพูชา ว่า ผบ.ตร.ได้สั่งการ ผบช.น.มอบหมายให้ตนเป็นหัวหน้าชุดสืบสวน โดยการทำงานในครั้งนี้เราระดมนักสืบจากสืบนครบาล และสืบ บก.น.1 และ สน.ชนะสงคราม

ซึ่งจากการสืบสวนทราบว่าคนร้ายหนีออกไปทางภาคตะวันออก โดยใช้ขั้นตอน และวิธีการตบตาเจ้าหน้าที่ชุดสืบสวนอย่างแยบยล ซึ่งการปฏิบัติการนี้เราได้ร่วมบูรณาการ ถือว่าเป็นการหายใจรดต้นคอเพราะคลาดกันเพียงแค่นิดเดียว ก่อนที่ผู้ต้องหาจะหลบหนีออกไปทางช่องทางธรรมชาติ พร้อมขอบคุณทางการกัมพูชาซึ่งถือเป็นความร่วมมือของนักสืบของทั้งสองประเทศ

แต่การปฏิบัติงานในครั้งนี้ที่รวดเร็ว ซึ่งปกติการปฏิบัติงานในประเทศกัมพูชาจะต้องมีระยะเวลาที่นานกว่านี้ แต่ในครั้งนี้ ผบ.ตร.ได้เป็นผู้ประสานงานกับทางการกัมพูชา จนทำให้เกิดความร่วมมือในการส่งตัวผู้ต้องหาได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งเรื่องนี้ถือว่ามีประโยชน์ของการส่งตัวไว เพราะในกระบวนการสอบสวน พยานหลักฐานต่างๆ ไม่หายไป จะทำให้สามารถขยายผลไปโค้นทั้งขบวนการ และเชื่อว่าจะสามารถสาวไปถึงตัวการและต้นตอ

ส่วนที่ผู้ก่อเหตุมีลักษณะย่ามใจ จนถูกจับกุมระหว่างกินข้าวนั้น พล.ต.ต.ธีรเดช กล่าวว่า เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องอำนาจอธิปไตย เพราะหากปกติหากคนร้ายไปอยู่ฝั่งนั้นแล้ว การประสานจะยุ่งยาก และใช้ระยะเวลานานในการจับกุมตัว และตำรวจไทยไม่สามารถเข้าไปจับกุมนอกประเทศได้ ซึ่งครั้งนี้ไม่ใช่ตำรวจไทยที่เป็นผู้จับแต่เป็นตำรวจกัมพูชาที่ดำเนินการจับกุมก่อนส่งตัวให้กับเรา เราเพียงแค่ทำหน้าที่ประสานงาน เพราะที่จริงแล้วผู้ต้องหาต้องถูกดำเนินคดีฐานลักลอบเข้าเมือง แต่ในขั้นตอนตามกฎหมายของกัมพูชา รัฐมนตรีมหาดไทยสามารถยกเว้น และผลักดันออกนอกประเทศได้

อีกทั้ง ผู้ต้องหาใช้เวลาเข้าประเทศ 3-4 ชั่วโมง ก่อนที่ชุดสืบสวนของตำรวจกัมพูชาจะจับกุมตัวไว้ได้ หากปล่อยไว้นานกว่านี้ผู้ต้องหาจะเข้าไปได้ลึก และยากต่อการติดตามจับกุมตัว โดยตอนแรกหมายจับคนชี้เป้ายังไม่ออก ออกเพียงตัวผู้ก่อเหตุ แต่หลังจากดำเนินการจับกุมคนยิงแล้ว หมายจับคนชี้เป้าก็ออก แต่ติดตรงที่คนชี้เป้าไม่ใช่คนไทย แต่ผู้ลงมือเป็นคนไทย ดังนั้นต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยต้องผ่านวิธีการทูต เบื้องต้นต้องทำให้หมายจับที่เพิ่งออกกลายเป็นหมายแดงให้ได้เพื่อใช้ตำรวจสากล

ส่วนผู้ก่อเหตุพูดอะไรหรือไม่หลังจากที่ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัว พล.ต.ต.ธีรเดช กล่าวว่า ยังไม่ได้เปิดปาก ซึ่งในการสอบสวนตามระบบจะต้องเป็นระบบส่วนตัว และมีห้องส่วนตัว แต่ผู้ก่อเหตุได้ร้องขอเจ้าหน้าที่คุ้มครองเป็นพิเศษ เพราะผู้ก่อเหตุร้องขอไว้ตั้งแต่แรก เนื่องจากกังวลเรื่องความปลอดภัยจากการถูกรุมประชาทัณฑ์และทำร้าย วันนี้จึงได้มีมาตรการในการคุ้มครองและรักษาความปลอดภัย ส่วนจะกลัวถูกรุมประชาทัณฑ์เพียงอย่างเดียวหรือกลัวถูกตัดตอนหรือไม่นั้น พล.ต.ต.ธีรเดช ตอบเพียงว่า “เขาพูดแบบนั้น อย่างที่เข้าใจคือเขายังไม่ได้ร้องขอ”

โดยคดีที่เป็นมือปืนรับจ้าง ปกติจะใช้เวลาที่นานกว่านี้ถึง 5-7 วัน แต่วันนี้ยังไม่ถึง ชุดสืบสวนทำได้ถึงขนาดนี้ ถือเป็นการตอบโจทย์ได้อย่างหนึ่ง ซึ่งจะยกเคสนี้เป็นโมเดลหรือไม่นั้น ต้องดูที่ปัจจัย เพราะปัจจัยต่างๆ ในแต่ละเคสไม่เหมือนกัน จึงขอเป็นตัวแทนชุดสืบสวนในการขอบคุณทางการกัมพูชา โดยเฉพาะชุดที่ให้ความร่วมมือในการจับกุมให้กับเรา
กำลังโหลดความคิดเห็น