xs
xsm
sm
md
lg

“ทักษิณ-เพื่อไทย” ทุบค่าไฟฟ้า อย่าแค่เกมไล่ “พีระพันธุ์” สอท.รุกรัฐฯเร่งหาแหล่งพลังงานถูก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


ทักษิณ ชินวัตร
คอการเมืองต่างมองไปในทิศทางเดียวกันว่า การลั่นทุบค่าไฟฟ้าลดมาเหลือ 3.70 บาทต่อหน่วย ของ “พ่อนายกฯ” นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นการส่งสัญญาณอยากไล่นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ที่ยึดเก้าอี้รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ออกไปให้พ้นจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล แม้ว่านายทักษิณ และนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะยืนยันว่าไม่มีอะไร ยังคุยกันรู้เรื่อง ก็ตามที


ยิ่งเมื่อดูปฏิกิริยาจากฟากฝั่งนายพีระพันธุ์ ที่ไม่ตอบคำถามใด ๆ ในเรื่องที่เกิดขึ้น ก็เห็นชัดถึงอารมณ์บ่จอยกับท่าทีที่นายทักษิณ เข้ามายุ่ง บวกกับกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงความง่อนแง่นของนายพีระพันธุ์ ที่ว่า“นายทุนพลังงาน”ที่เคยหนุนหลังตอนนี้ถอนการสนับสนุนเสียแล้ว คงถึงเวลานับถอยหลังพรรครทสช.ถูกเขี่ยทิ้ง

อย่างที่ นายเทพไท เสนพงศ์อดีต สส.นครศรีธรรมราช ตั้งข้อสังเกตว่าการประกาศลดค่าไฟของนายทักษิณในครั้งนี้ มีนัยทางการเมือง ไม่ใช่เป็นการพูดขึ้นมาลอย ๆ เป็นเกมการเมืองที่ต้องจับตานายทักษิณชิงคืนกระทรวงพลังงาน เขี่ยทิ้ง รทสช. เพราะที่ผ่านมาพรรคเพื่อไทย ไม่ได้จริงจังในการแก้ปัญหาค่าไฟฟ้าแพงที่มีมานมนาน แต่จู่ ๆ ก็ว่าจะทุบค่าไฟลงเหลือ 3.70 บาทต่อหน่วย

นายเทพไทมองว่า ที่ผ่านมานายพีระพันธุ์ ได้ปรับโครงสร้างและควบคุมราคาพลังงาน จนผลสำรวจของนิด้าโพล พบว่า คะแนนนิยมของนายพีระพันธุ์ และพรรครทสช. เพิ่มขึ้น ทำให้นายทักษิณต้องออกมาพูดเรื่องการลดค่าไฟฟ้า เพื่อแย่งชิงคะแนนนิยม และในอนาคต อาจปรับพรรครทสช.ออกจากการร่วมรัฐบาล หรือพรรคเพื่อไทยจะยึดกระทรวงพลังงานคืน ก็อาจเป็นไปได้สูง เพราะกลุ่มทุนพลังงาน ที่มีความสนิทสนมเป็นพิเศษกับนายทักษิณ ได้ถอนตัวจากการสนับสนุนพรรครทสช.

ทั้งนี้ เมื่อช่วงต้นปี 2568 นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน โพสต์เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2568 ว่าปี 2567 ถือเป็นปีที่เหนื่อยมาก ต้องทำงานแข่งกับเวลา พร้อมอวดความสำเร็จในการตรึงค่าไฟฟ้าที่หน่วยละ 4.18 บาท และตรึงค่าไฟฟ้ากลุ่มที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกินเดือนละ 300 หน่วย ไว้ที่ 3.99 ตลอดปี 2567 สำหรับปี 2568 ช่วงเดือนม.ค.-เม.ย. 2568 ค่าไฟฟ้าอยู่ที่หน่วยละ 4.15 บาท ด้วยการสนับสนุนของท่านนายกฯ เศรษฐา และท่านนายกฯ แพทองธาร

ทางด้าน นางสาวแพทองธาร ชินวัตรนายกรัฐมนตรี ที่พักหลังเริ่มถนัดเล่นไปตามบท บอกตัวเลขค่าไฟฟ้า 3.70 บาทต่อหน่วย ถือเป็นเป้าหมายที่อยากจะทำให้ได้ ส่วนจะทำได้จริงเมื่อไหร่ คำตอบ คือ“ต้องค่อยเป็นค่อยไป ต้องใช้เวลา”มีโอกาสเป็นไปได้ ต้องหารือกันกันหลายฝ่ายจะตัดส่วนไหนที่ไม่จำเป็นออกไป เพื่อให้ค่าไฟฟ้าลดลง

ขณะที่นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน อย่าง ศ.ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฟันธงว่า เป้าหมายจะลดค่าไฟลงดังกล่าวเป็นไปได้ยาก หากต้องการทำจริงก็ต้องนำเงินมาช่วยอุดหนุน ซึ่งการปรับลดที่ผ่านมาก็ให้กฟผ.แบกรับภาระอยู่กว่าแสนล้านบาท หากจะลดลงอีกก็คงเพิ่มการอุดหนุนมากขึ้น เพราะราคานำเข้าก๊าซแอลเอ็นจีเวลานี้ก็ไม่ได้ลดลงมากนัก

อย่าลืมว่าหนี้ที่ติดค้าง กฟผ.เอาไว้ หากต้องทยอยใช้เมื่อไหร่ ค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บจากผู้ใช้ไฟก็จะพุ่งขึ้นทันที อาจขึ้นไปถึงหน่วยละไม่ต่ำกว่า 6 บาท ตามที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เคยคำนวณออกมา

ส่วนกรณีที่ภาครัฐจะเจรจาปรับเปลี่ยนสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่เพื่อลดค่าพร้อมจ่าย ศ.ดร.พรายพล ตั้งคำถามว่าเอกชนจะยินยอมหรือไม่ เพราะบริษัทเอกชนส่วนใหญ่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีผลกระทบต่อผู้ถือหุ้น คงไม่ใช่เรื่องง่ายนัก หรือหากยอมก็ไม่ได้ช่วยให้ค่าไฟฟ้าลดลงมากมาย น่าจะอยู่ที่ประมาณ 5-10 สต.ต่อหน่วยเท่านั้น

ถึงที่สุดแล้ว การกดค่าไฟฟ้าลง จะเป็นแค่เกมการเมืองดังที่คอการเมืองวิพากษ์วิจารณ์กันหรือไม่ พรรคเพื่อไทยการละครที่กำลังแสดงให้เห็นว่า จะสามารถลดค่าไฟได้เยอะกว่าที่นายพีระพันธุ์ทำมาตลอด และทำให้เห็นว่าเจรจากับผู้มีส่วนได้เสียในธุรกิจไฟฟ้าเพื่อกดราคาค่าไฟลงได้ ยังต้องติดตาม

และค่าไฟฟ้าจะทุบลงได้จริงหรือไม่ ยังไม่แน่ แต่ที่ถูกทุบทันทีคือ ราคาหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าดิ่งยกแผง จากความกังวลของนักลงทุนต่อกระแสข่าวปรับลดค่าไฟฟ้า

นายสุวัฒน์ สินสาฎกรองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานธุรกิจหลักทรัพย์ลูกค้าสถาบัน บล.บียอนด์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าประเด็นที่นายทักษิณ ชินวัตร ออกมาพูดว่า อยากได้ค่าไฟฟ้าต่ำกว่า 3.7บาท/kWh ส่งผลให้ราคาหุ้นบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC และ บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM ดิ่งทันที เพราะทั้งสองบริษัทมีกำไรจากธุรกิจ Small Power Producer (SPP) ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าที่ราคาขายไฟฟ้าอ้างอิงกับราคาไฟฟ้าภาครัฐ แต่ต้นทุนอ้างอิงราคาก๊าซฯ ที่เกิดขึ้นจริง ดังนั้น หากรัฐลดราคาค่าไฟฟ้าลงเหลือ 3.5-3.7 บาท/kWh จริง นั่นจะทำให้ SPPs เช่น GPSC และ BGRIM ขาดทุนได้

ทั้งนี้ หากใช้ราคาต้นทุนพลังงานปัจจุบัน โดยเฉพาะราคาก๊าซที่รวมทั้งการผลิตในประเทศ (2/3) และการนำเข้า คาดว่าค่าไฟฟ้าจะอยู่ที่ราว 3.9 บาท/kWh โดยไม่ต้องคิดค่าก๊าซที่ต้องแบกรับสำหรับการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (EGAT) ที่ยังคงแบกรับภาระค่าก๊าซสะสมราว 100,000 ล้านบาท ดังนั้น ค่าไฟฟ้าที่เป็นไปได้ คือ 3.9 บาท/kWh และภาครัฐควรมีนโยบายที่ชัดเจนในการแก้ปัญหาภาระค่าก๊าซที่ยังคงแบกรับโดย EGAT ต่อไป และต้องยอมรับว่า หุ้นโรงไฟฟ้าไทยปัจจุบัน นอกจาก renewable แล้ว SPPs กลายเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงมากที่สุดในตลาดหุ้นไทย เพราะโดนผลกระทบการแทรกแซงจากภาครัฐมากที่สุด

บล.เมย์แบงก์ (ประเทศไทย)มองประเด็นดังกล่าวว่ายังคงต้องติดตามรายละเอียดในทางปฏิบัติว่าจะมีผลกับกลุ่มใดบ้าง เนื่องจากหากค่าไฟลดมาที่ 3.70 บาท/หน่วยได้จริง ถือเป็นระดับที่ต่ำกว่าค่าไฟฐานที่ 3.78 บาท/หน่วย ปัจจัยดังกล่าวสร้างผลกระทบต่อ Sentiment ลบในระยะสั้นต่อกลุ่มโรงไฟฟ้า SPP โดยเฉพาะ GPSC และ BGRIM แต่อีกด้านหนึ่งหากอัตราค่าไฟลดลงมีผลดีกับผู้ประกอบการภาคเอกชนในกลุ่มที่เป็นผู้ใช้ไฟด้วย

พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค
ประเด็นค่าไฟฟ้าแพง เป็นเรื่องที่ภาคเอกชนเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังมาอย่างต่อเนื่อง เมื่อรัฐบาลมีเป้าหมายกดค่าไฟฟ้าให้ต่ำลง จึงมีเสียงขานรับสนับสนุนเต็มที่

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ต้นทุนสำคัญของภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ค่าไฟฟ้า ซึ่งเป็นตัวชี้วัดความสามารถทางการแข่งขัน ปัจจุบันเวียดนาม มีค่าไฟฟ้าเฉลี่ยกว่า 2 บาท ส่วนอินโดนีเซีย เฉลี่ยกว่า 3 บาท ขณะที่ไทยแพงกว่ามากโดยอ้างพลังงานไฟฟ้าจะต้องมีความเสถียร หากสามารถลดราคาค่าไฟลงได้จริง 3.7 บาทต่อหน่วย หรือต่ำกว่า 3 บาท ต้องฉลอง

ทางด้านนายสนั่น อังอุบลกุลประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) กล่าวว่า นโยบายลดค่าไฟฟ้าให้เหลือหน่วยละ 3.70 บาท หากทำได้จะช่วยลดต้นทุนของผู้ประกอบการ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก และลดค่าใช้จ่ายของประชาชนได้

นอกจากนี้ ยังสร้างโอกาสให้นักลงทุนตัดสินใจมาลงทุนไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมใหม่ที่ต้องใช้ไฟฟ้าจำนวนมาก โดยค่าไฟฟ้าเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้นักลงทุนต่างชาติตัดสินใจไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านที่มีค่าไฟฟ้าถูกกว่า เช่น เวียดนาม ถึงแม้จะมีปัญหาเรื่องความเสถียร และปริมาณไฟฟ้าที่ไม่เพียงพอก็ตาม ขณะที่ไทยมีไฟฟ้าเพียงพอและมีความเสถียร ถือเป็นข้อได้เปรียบกว่าประเทศเพื่อนบ้าน แต่มีปัญหาเรื่องค่าไฟฟ้าแพงกว่า

สำหรับแนวคิดของนายทักษิณ ที่ต้องการให้ค่าไฟฟ้าลดเหลือ 3.70 บาทต่อหน่วย หากทำได้จริง กกร. ประเมินว่า จะประหยัดต้นทุนให้ทุกภาคส่วนไม่ต่ำกว่า 100,000 ล้านบาทต่อปี เทียบจากการใช้ไฟฟ้ารวมของประเทศ 200,000 ล้านหน่วย (กิโลวัตต์-ชั่วโมง) ซึ่งมีผลต่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือ GDP ได้อีกประมาณ 0.5% หากเม็ดเงินดังกล่าวถูกหมุนเวียนกลับเป็นการลงทุนหรือการจ้างงานใหม่

ที่ผ่านมา กกร.ได้เรียกร้องให้รัฐบาลตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านพลังงาน (กรอ.พลังงาน) เพื่อให้ภาคเอกชน 3 สถาบัน ที่มีสมาชิกครอบคลุมทั่วประเทศ และเป็นผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ มีส่วนได้เสียจากค่าไฟฟ้าและค่าพลังงานอื่น ๆ เข้าไปมีส่วนร่วมในการเสนอความเห็น วิเคราะห์ และหารือถึงการปรับโครงสร้างด้านพลังงานของไทย และแนวทางในการลดค่าไฟฟ้า แต่จนบัดนี้ก็ยังไม่ได้รับตอบรับจากรัฐบาลแต่อย่างใด

นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ตรองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ให้สัมภาษณ์สื่อกรณีที่นายทักษิณ จะกดค่าไฟลง โดยลดต้นทุนและกำไรลงในแต่ละทอด นับจาก กฟผ.รับซื้อไฟจากเอกชน อีกทอดคือการจ่ายไฟฟ้าให้ผู้ใช้ไฟฟ้า ผ่านการไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค รวมถึงสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่มีค่าความพร้อมจ่าย แม้ว่าโรงไฟฟ้าของเอกชนจะไม่ได้เดินเครื่องก็ตาม การลดค่าความพร้อมจ่ายซึ่งเป็นต้นทุนแฝงที่บวกเพิ่มมาในค่าไฟฟ้า ถือเป็นมาตรการตรงกับที่ กกร. เสนอมาโดยตลอด

รองประธาน ส.อ.ท. ยังชี้ว่า หากจะลดค่าไฟฟ้าอย่างยั่งยืน ต้องปรับโครงสร้างพลังงาน โดยไม่พึ่งพาก๊าซธรรมชาติมากเกินไป ซึ่งปัจจุบันโรงไฟฟ้าใช้ก๊าซฯ เป็นเชื้อเพลิงประมาณ 60% การเปิดเสรีโซลาร์ทั้งระบบ ไม่แค่โซลาร์รูฟท็อป แต่รวมถึงโซลาร์ฟาร์มและโซลาร์ลอยน้ำด้วย การใช้ระบบเน็ตบิลลิ่ง เมื่อไฟฟ้าเหลือรัฐบาลรับซื้อคืนในราคาที่เหมาะสม ไม่เพิ่มจำนวนโรงไฟฟ้าใหม่ให้เกิดต้นทุนเพิ่มและกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองสูง

ความเคลื่อนไหวของ ส.อ.ท. ในประเด็นเรื่องการปรับโครงสร้างราคาพลังงาน ไม่เพียงเร่งรัดให้รัฐบาลจัดตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านพลังงาน (กรอ.พลังงาน) เท่านั้น แต่ ส.อ.ท. ที่เพิ่งจัดตั้ง“กลุ่มอุตสาหกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียม”ขึ้นมา โดยมีผู้ผลิตรายใหญ่อย่างเชฟรอน และบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ.ร่วมเป็นสมาชิก ยังสะท้อนความเห็นและสนับสนุนให้รัฐบาลเร่งรัดจัดหาแหล่งพลังงานถูก เพื่อทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าปรับลดลง

นายนิพัฒน์สิน ยิ้มแย้มประธานกลุ่มอุตสาหกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ส.อ.ท.ให้ความเห็นว่า ก๊าซฯในอ่าวไทยเริ่มน้อยลง ทำให้ต้องนำเข้าก๊าซ LNG ในราคาค่อนข้างสูง ส่งผลต่อค่าไฟฟ้าที่จ่ายแพงขึ้น ขณะที่สถานการณ์ราคาพลังงานโลก มีความผันผวนสูงจากหลายปัจจัย จึงจำเป็นต้องวางแผนและปรับตัว พัฒนาขีดความสามารถ โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมที่ต้องใช้พลังงานมาก

...สุดท้าย การกดค่าไฟฟ้าให้ต่ำลงอย่างยั่งยืนจะเป็นความจริงได้ระดับไหน เป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไป โดยเฉพาะเมื่อมีประกาศิตออกมาจากปาก “นายกฯ ตัวจริง” อย่าง “ทักษิณ ชินวัตร” แต่ที่แน่ๆ หากรัฐบาลทำได้เมื่อไหร่ ประชาชนคนไทยก็เฮเมื่อนั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น