xs
xsm
sm
md
lg

Thai Daily แอปฯ หลอกอ่านข่าวได้เงิน ตำรวจไซเบอร์จับหนุ่มวัย 26 หนึ่งในผู้ร่วมขบวนการ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ตำรวจไซเบอร์เผยผลงานจับกุมชายวัย 26 ปี หนึ่งในเครือข่ายแอปพลิเคชัน "ไทยเดลี่" หลอกอ่านข่าวแล้วได้เงินแต่ให้โอนเงินไปก่อนเพื่อรับผลตอบแทน ผู้เสียหาย 6 คน เสียหายกว่า 3 ล้านบาท

วันนี้ (7 ม.ค.) รายงานข่าวแจ้งว่า พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบช.สอท.) หรือตำรวจไซเบอร์ เปิดเผยผลงานการจับกุมผู้ต้องหาเครือข่ายแอปพลิเคชัน "ไทยเดลี่" (Thai Daily) ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันสำหรับอ่านข่าว แต่มีการชักชวนลงทุนทำภารกิจออนไลน์โดยให้โอนเงินเพื่อรับผลตอบแทน สุดท้ายไม่สามารถถอนเงินที่โอนไปคืนได้ ซึ่งมีผู้เสียหายหลายรายเข้าแจ้งความต่อตำรวจไซเบอร์ไปก่อนหน้านี้

โดยเมื่อวันที่ 2 ม.ค. ที่ผ่านมา พ.ต.อ.บัญชา ศรีสุข รอง ผบก.สอท.5, พ.ต.อ.อุกฤช ศรีนิติวรวงศ์ ผกก.วิเคราะห์ข่าวและเครื่องมือพิเศษ บก.สอท.5, พ.ต.ท.ศักดิ์สิทธิ์ ชูบุญเรือง รอง ผกก.วิเคราะห์ข่าว บก.สอท.5 สั่งการให้ พ.ต.ต.กิตติเดช สมวงศ์ สว.วิเคราะห์ข่าวและเครื่องมือพิเศษ บก.สอท.5 พร้อมชุดสืบสวน นำกำลังเข้าจับกุม นายจักรินทร์ อายุ 26 ปี ชาว จ.เพชรบูรณ์ ในข้อหาร่วมกันฉ้อโกงประชาชน, ร่วมกันฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นคนอื่น, ร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมฯ ก่อนนำตัวไปทำบันทึกการจับกุมที่ สภ.บึงสามพัน จ.เพชรบูรณ์ ส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดีต่อไป

สำหรับพฤติการณ์ของเครือข่ายแอปพลิเคชัน "ไทยเดลี่" (Thai Daily) มีการยิงโฆษณาให้ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันดังกล่าวตามสื่อโซเชียลฯ ซึ่งมักขึ้นป๊อบอัป (Pop-Up) กับวิดีโอที่ดูผ่านยูทูบ เพจหรือกลุ่มประกาศหางานในเฟซบุ๊ก หรือ สุ่มส่ง SMS หรือ ลิงก์ทางไลน์ โดยล่อเหยื่อด้วยการเชิญชวนทำงานด้วยการอ่านข่าวออนไลน์ อ้างทำงานง่ายให้ผลตอบแทนดี เมื่อดาวน์โหลดแล้วจะปรากฎลิงก์ให้อ่านข่าวปกติ แล้วปรากฏข้อความเพื่อดึงดูดความสนใจในการหารายได้

โดยให้ผู้เสียหายเข้าไลน์กลุ่ม Open Chat โดยสมาชิกในกลุ่มนั้นทั้งหมดเป็นหน้าม้า จะพยายามสนทนา ล่อลวง ใช้อุบายต่างๆ โน้มน้าวใจ มีการรีวิวผลตอบแทน รวมทั้งมีการทำคลิปวีดีโอแนะนำวิธีการทำงาน พร้อมทั้งมีการอ้างความน่าเชื่อถือว่าบริษัททำสัญญากับบริษัทค้าปลีกรายใหญ่ของโลก เพียงสำรองเงินเพื่อเข้าไปอ่านข่าว หรือดูโฆษณาของบริษัทชื่อดังต่างๆ เช่น อเมซอน ลาซาด้า ซอปปี้ ฯลฯ ก็จะได้เงินกลับคืนในอัตรา 10-20 % ภายใน 10 นาที เมื่อผู้เสียหายหลงเชื่อมิจฉาชีพจะให้เริ่มโอนเงินในจำนวนที่ต่ำก่อน และให้ทดลองถอนเงินจากระบบ

พบว่าประมาณ 3- 4 ครั้งแรก สามารถถอนได้จริง เช่น ลงทุน 1,000 บาท ได้กำไร 1,200 บาท ต่อมา กลุ่มผู้เสียหายหลงเชื่อและเริ่มลงทุนในอัตราที่เพิ่มมากขึ้น มีการกำหนดกเกณฑ์ในการโอนเงินเพิ่มขึ้น เช่น ต้องโอนเงินให้ครบตามจำนวนแพคเกจ เช่น แพ็คเกจที่ 1 จำนวน 10,000 บาท แพ็คเกจที่ 2 จำนวน 3,000 บาท และแพ็คเกจที่ 3 จำนวน 66,000 บาท หากทำไม่ครบ จะไม่สามารถถอนเงินทั้งหมดคืนได้ โดยมีกลุ่มผู้เสียหาย จำนวน 6 คน รวมตัวเข้าแจ้งความต่อตำรวจไซเบอร์เมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งยอดความเสียหายที่กลุ่มผู้เสียหายโดนหลอกลวงรวมทั้งสิ้น 3,869,188 บาท

จากการตรวจสอบแพลตฟอร์มหลอกลวงดังกล่าว พบว่าได้ยิงโฆษณาผ่านเฟซบุ๊กจนมีผู้ติดตามหลักแสนราย และสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชันดังกล่าวได้ทั้งระบบ iOS และ Android ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจจะขยายผลหาตัวผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดมาดำเนินคดี และประสานขอปิดกั้นแพลตฟอร์มดังกล่าวทุกช่องทางต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น