เปิดผลสอบ 'ม.สยาม' ยันไม่เกี่ยวอบรมตำรวจจีน ถูกแอบอ้างชื่อหาประโยชน์
ประเด็นเรื่องการเปิดอบรมอาสาตำรวจจีนกำลังถูกยายผลต่อเนื่อง ภายหลังตำรวจเดินหน้าเอาจริงในการตรวจสอบเรื่องนี้ เนื่องจากถูกพาดพิงว่ามีการนำตราสัญลักษณ์ของสำนักตำรวจแห่งชาติ เข้าไปเกี่ยวข้อง จนนำมาซึ่งเสียงวิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสม ล่าสุดทางมหาวิทยาลัยสยาม ได้ออกมาชี้แจงแถลงให้เกิดความกระจ่างทั้งหมด
นายพรชัย มงคลวนิช อธิการบดีมหาวิทยาลัยสยาม ยืนยันว่า มหาวิทยาลัยได้มีการตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง และได้ทำหนังสือชี้แจงไปยังกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เรียบร้อยแล้ว ผลการสอบสวนปรากฏว่า 1.การอบรมหลักสูตรอาสาสมัครตำรวจบ้านที่ปรากฏในสื่อสังคมออนไลน์ดังกล่าวเป็นโครงการที่จัดทำขึ้นโดยบุคคลภายนอกที่รู้จักฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องภายนอกในการจัดทำ ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจของกองกำกับการสืบสวน กองบังคับการตำรวจนครบาล 3 โดยมี Dr.Li ZHANG อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยสยาม เป็นผู้อำนวยความสะดวกในการจัดอบรม แต่โครงการดังกล่าวไม่ได้เสนอขออนุมัติจากอธิการบดีมหาวิทยาลัยสยามแต่อย่างใด
2.การเปิดอบรมดังกล่าวไม่ได้เสนอขออนุมัติใช้สถานที่จากมหาวิทยาลัยแต่อย่างใด สำหรับในวันที่ 26-27 ธันวาคม 2567 เป็นการอบรมนอกสถานที่ มิได้มีการอบรมในมหาวิทยาลัย และการไปอบรมนอกสถานที่ดังกล่าว นักศึกษาจีนและบุคลากรของมหาวิทยาลัยก็ไม่ได้เสนอขออนุมัติเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวจากมหาวิทยาลัยแต่อย่างใด
3.หนังสือขอความร่วมมือในการจัดทำโครงการดังกล่าวไปยังผู้กำกับการสืบสวน กองบังคับการตำรวจนครบาล 3 เป็นหนังสือที่ร่างและจัดทำขึ้นมาจากบุคคลภายนอก แต่มีการลงนามโดย Dr.Li ZHANG นั้น เป็นการใช้ตำแหน่งที่มิได้แต่งตั้งเป็นทางการตามคำสั่งของมหาวิทยาลัย และผู้ลงนามได้ลงนามไปโดยพลการไม่ได้เสนอขออนุมัติจากมหาวิทยาลัยก่อน อีกทั้งหนังสือดังกล่าวก็ไม่ได้ดำเนินการผ่านระบบสารบรรณของมหาวิทยาลัยแต่อย่างใด
4.สำหรับการเก็บเงินค่าลงทะเบียนเข้าร่วมอบรม จำนวน 38,000 บาท ตามที่เป็นข่าวในสื่อสังคมออนไลน์ นั้น Dr.Li ZHANG ยืนยันว่านักศึกษาจีนและบุคลากรของมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมการอบรมทั้งหมด ไม่เสียค่าใช้จ่ายในการลงทะเบียนแต่อย่างใด
5.การติดต่อประสานงานเกี่ยวกับกิจกรรมตามโครงการ ตลอดจนการมอบประกาศนียบัตร การเตรียมอุปกรณ์เพื่อแจกให้กับผู้เข้าร่วมโครงการ เช่น หมวก เสื้อกั๊ก ป้ายคล้องคอ Dr.Li ZHANG แจ้งว่า บุคคลภายนอกเป็นผู้ดำเนินการทั้งหมด
“อย่างไรก็ตาม กรณีนี้มหาวิทยาลัยสยามต้องถือว่าเป็นผู้เสียหายด้วย เพราะไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินการ แต่เป็นการดำเนินการโดยพลการของบุคลากรมหาวิทยาลัยร่วมกับบุคคลภายนอก ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยค่อนข้างมาก จากนี้มหาวิทยาลัยจะดำเนินการทางวินัย และลงโทษบุคลากรตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล พ.ศ.2563 และจะดำเนินการทางกฎหมายกับบุคคลที่เกี่ยวข้อง ในการแอบอ้างชื่อมหาวิทยาลัยสยามโดยมิชอบ ตาม พ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ.2546" นายพรชัย สรุป