หลังปรากฏข่าว “อย่างไม่เป็นทางการ” เกี่ยวกับการจัดตั้ง “โฮลดิ้ง คอมพานี” ระหว่าง 2 บริษัทรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นคือ “ฮอนด้า” กับ “นิสสัน” ไปก่อนหน้านี้ ทว่า ยังคงไม่มีความชัดเจนในรายละเอียดว่า “ใครทำอะไร ที่ไหนและอย่างไร” บัดนี้ ทุกอย่างเป็นที่กระจ่างแล้ว เมื่อทั้งสองค่ายแจกแจงรายละเอียดออกมา “อย่างเป็นทางการ” ในเวลาต่อมา
การผนึกกำลังกันของค่ายรถสัญชาติญี่ปุ่นในครั้งนี้ยังนับเป็นการพลิกโฉมครั้งใหญ่ที่สุดในอุตสาหกรรมรถยนต์โลก นับตั้งแต่มีการควบรวมกิจการกันระหว่าง“บริษัท เฟียต ไครสเลอร์ ออโตโมบิลส์(FCA) และพีเอสเอ(PSA)”ในปี 2564 และเกิดเป็นบริษัท “สเตลแลนทิส” (Stellantis) ที่มีมูลค่า 5.2 หมื่นล้านดอลลาร์ ขึ้นมาในสหรัฐฯ
ที่น่าสนใจก็คือ บริษัทรถยนต์แห่งใหม่จากการรวมตัวกันของสามค่ายรถญี่ปุ่นในครั้งนี้ นอกจากจะทำให้เกิดขั้วพันธมิตรรถยนต์ขนาดใหญ่มากพอที่สู้กับขั้วของโตโยต้าที่ประกอบด้วย “ซูบารุ-ซูซูกิและมาสด้า”สำหรับการแข่งขันในญี่ปุ่นได้แล้ว ยังช่วยเรื่องการแข่งขันในต่างประเทศกับค่ายรถยนต์จีนอีกด้วย
ทั้งนี้ “บริษัท ฮอนด้า มอเตอร์” (Honda) และ “บริษัท นิสสัน มอเตอร์” (Nissan)ได้เปิดแถลงข่าวร่วมกันเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2567 ว่า ทั้งสองบริษัทตกลงจะพิจารณาการควบรวมกิจการ และจัดตั้งบริษัทโฮลดิ้ง ร่วมกัน ซึ่งจะทำให้บริษัทกลายเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลกในแง่ยอดขาย และส่งสัญญาณถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในอุตสาหกรรมรถยนต์โลก
ที่ต้องขีดเส้นใต้สองเส้นคือ บริษัทโฮลดิ้งแห่งใหม่นี้ฮอนด้าจะถือธงนำ” ในการบริหารงาน
ฮอนด้าและนิสสัน ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ระหว่างกัน โดยตั้งเป้าหมายจะสรุปการเจรจาควบรวมกิจการกันให้ได้ประมาณเดือนมิถุนายน ปี 2568 จากนั้นจึงจะจัดตั้งบริษัทโฮลดิ้งภายในเดือนสิงหาคม ปี 2569 และนำหุ้นบริษัทใหม่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
โทชิฮิโระ มิเบะประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของฮอนด้า มอเตอร์ กล่าวว่า การผสานประโยชน์จากบริษัทที่รวมกันแล้วคาดว่าจะส่งผลให้กำไรจากการดำเนินงานของบริษัทเพิ่มขึ้นมากกว่า 1 ล้านล้านเยน และเพิ่มขึ้นไปแตะ 3 ล้านล้านเยนในที่สุด
“ทั้งสองบริษัทจะยังคงเป็นบริษัทลูกที่ถือหุ้นทั้งหมดของบริษัทโฮลดิ้งร่วม โดยยังคงใช้แบรนด์ของตนต่อไป และรวมถึงบริษัทลูกที่ผลิตรถจักรยานยนต์ขนาดใหญ่ของฮอนด้าด้วย” ซีอีโอของฮอนด้า กล่าว
ทั้งสองบริษัทตั้งเป้าหมายยอดขายรวมกัน 30 ล้านล้านเยน (ราว 6.5 ล้านล้านบาท) และกำไรจากการดำเนินงานมากกว่า 3 ล้านล้านเยน (ราว 6.5 แสนล้านบาท) ผ่านการควบรวมกิจการที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่ช้า
ด้านมาโกโตะ อุชิดะซีอีโอของนิสสัน กล่าวว่า การเป็นพันธมิตรกับฮอนด้าไม่ใช่สัญญาณว่า นิสสันกำลังยอมแพ้ต่อแผนการพลิกฟื้นบริษัทหากคือการช่วยบรรเทาปัญหาที่กำลังประสบอยู่หลังจากยอดขายในสหรัฐฯ และจีนลดลงอย่างมาก จนทำให้นิสสันต้องเลิกจ้างพนักงานทั่วโลกมากกว่า 9,000 อัตรา ลดกำลังการผลิต และลดประมาณการกำไรประจำปีลง 70%
นอกจากนี้ ทางฝั่งฮอนด้าจะมีการซื้อหุ้นคืนสูงถึง 1.1 ล้านล้านเยน (ราว 2.4 แสนล้านบาท) เริ่มตั้งแต่วันที่ 6 มกราคม 2568 ต่อเนื่องไปจนถึงเกือบตลอดปี 2569 โดยบริษัทตั้งเป้าหมายจะรับซื้อหุ้นคืนให้ได้ถึง 1.1 พันล้านหุ้น หรือเกือบ 24% ของหุ้นทั้งหมดโดยไม่รวมหุ้นกู้
ปัจจุบัน ฮอนด้าซึ่งเป็นค่ายรถยนต์ใหญ่สุดอันดับสองในญี่ปุ่นรองจากโตโยต้า มีมูลค่าตามราคาตลาดมากกว่า 4 หมื่นล้านดอลลาร์ ในขณะที่นิสสันซึ่งอยู่อันดับสาม มีมูลค่าตามราคาตลาดอยู่ที่ประมาณ 1 หมื่นล้านดอลลาร์
ทางด้านบริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส คอร์ป (Mitsubishi) ซึ่งมีนิสสันถือหุ้นอยู่ 24.5% ได้ร่วมลงนามในเอ็มโอยูด้วย ซึ่งคาดว่าจะร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการควบรวมกิจการครั้งนี้ โดยจะมีการตัดสินใจขั้นสุดท้ายภายในสิ้นเดือนมกราคม 2568
การควบรวมครั้งนี้จะสร้างกลุ่มยานยนต์ใหม่ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสามของโลกในแง่ของยอดขาย รองจากเบอร์หนึ่งบริษัทร่วมชาติอย่าง“โตโยต้า มอเตอร์”และเบอร์สองจากเยอรมนีคือ“โฟล์คสวาเกน” ท่ามกลางสถานการณ์ที่ต้องเผชิญกับความท้าทายจากการการรุกตลาดของรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ทั้งจากบริษัท“เทสลา มอเตอร์”จากสหรัฐฯ และจีนที่กำลังการผลิตล้นเกินและใช้สงครามราคาเป็นกลยุทธ์หลักในการขาย
โดยเฉพาะในประเทศจีนซึ่งเป็นตลาดรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งทั้งฮอนด้าและนิสสันประสบภาวะย่ำแย่จนต้องลดจำนวนพนักงาน และลดกำลังการผลิตลง ขณะที่มิตซูบิชิแทบจะต้องถอนตัวออกจากจีนทั้งหมดเลยทีเดียว
สำหรับท่าทีของ“เรโนลต์”ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของนิสสันนั้น แหล่งข่าวเผยว่า เรโนลต์เปิดกว้างในหลักการสำหรับข้อตกลงระหว่างฮอนด้ากับนิสสันในครั้งนี้
การรวมกันระหว่างค่ายรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่น ทำให้นึกย้อนไปถึงกรณี“สเตลแลนทิส”ที่สำเร็จลงในปี 2564 ซึ่งถือเป็นดีลที่สะเทือนโลกธุรกิจยานยนต์เป็นอย่างมาก เพราะเป็นการควบรวมที่มี “แบรนด์รถยนต์” เข้าไปอยู่รวมในบริษัทเดียวกันจำนวนมากถึง 14 แบรนด์ด้วยกัน ประกอบด้วย
1.Abarth 2.Alfa Romeo 3.Chrysler 4.Citroën 5.Dodge 6.DS (ซับ-แบรนด์หรูของซีตรอง) 7.Fiat 8.Jeep 9.Lancia 10.Maserati 11.Opel 12.Peugeot 13.RAM และ 14.Vauxhal
ที่สำคัญคือ เป็นการประกาศความร่วมมือกันเพื่อความอยู่รอดในอุตสาหกรรมยานยนต์โลกที่เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ในเชิงโครงสร้าง เทคโนโลยี และสภาพแวดล้อมการแข่งขันในตลาด
ทั้งนี้ FCA และ Groupe PSA ค่อนข้างแข็งแกร่งในตลาดยุโรป แต่เมื่อมองไปที่ตลาดสหรัฐอเมริกา Groupe PSA แทบไม่มีที่ยืน ในทางกลับกัน Groupe PSA เริ่มมีการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า และเทคโนโลยีรถยนต์ไร้คนขับ แต่ทาง FCA ยังมีความคืบหน้าเรื่องนี้ไม่มากนัก ดังนั้นการควบรวมกิจการครั้งนี้จึงสนับสนุนทั้งสององค์กรอัตโนมัติ
นอกจากนี้ การควบรวมดังกล่าวยังช่วยให้ทั้งสองบริษัทสามารถทำตลาดในประเทศจีนได้ดีกว่าเดิมอีกด้วย
ดังนั้น คงต้องจับตากันต่อไปว่า การควบรวมกันครั้งใหญ่ของค่ายรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่น จะนำพาพวกเขาไปในทิศทางเช่นไร และประสบความสำเร็จมากน้อยขนาดไหนสำหรับยุทธศาสตร์นี้ด้วยมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ดังๆ ออกมาจากปาก“คาร์ลอส โกส์น”อดีตประธานกรรมการคนดังของนิสสันที่ถูกทางการญี่ปุ่นจับกุมเมื่อปี 2018 ข้อหากระทำผิดทางการเงิน ฉ้อโกง และใช้ทรัพย์สินของนิสสันผิดวัตถุประสงค์ แต่ได้หลบหนีระหว่างได้รับการประกันตัว แล้วว่า การจับมือกับฮอนด้าฟ้องว่า นิสสันอยู่ในโหมด “ตื่นตระหนก”และเขาไม่เชื่อว่าแผนการนี้จะประสบความสำเร็จ เนื่องจากทั้งสองบริษัทไม่ได้เติมเต็มกันและกัน