เปิดหนังสือ 3 หน่วยงานรัฐ ประทับตรา "โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านผู้สูงอายุ" กว่า 4 หมื่นล้าน หรือ "เงินหมื่นดิจิทัล รอบ 2" "แบงค์ชาติ" ย้ำโปรเจกกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ควรมุ่งให้เกิดประโยชน์มากที่สุด แนะระยะต่อไป แบ่งงบลงทุนภาครัฐเพิ่ม ทั้งลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาคนสาขาที่ขาดแคลน ชี้ "แจกเงินหมื่น"สร้างภาระการคลังสูง แนะติดตามประเมินผลสัมฤทธิ์ความคุ้มค่าใกล้ชิด พร้อมเร่งชําระคืนต้นเงินกู้ รองรับการขาดดุลงบประมาณ ยันต้องนําตัวอย่างความล้มเหลวในอดีตมาศึกษา "สภาพัฒน์-กฤษฎีกา" แนะคลัง หาช่องทางลดปัญหาร้องเรียนในอนาคต และไม่ขัดข้อกฎหมาย
วันนี้ (26 ธ.ค.2567) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ภายหลัง คณะรัฐมนตรี (ครม.) 24 ธ.ค. เห็นชอบ "โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านผู้สูงอายุ" หรือ โครงการเดิมในชื่อ " เงินดิจิทัล 10,000 บาท" นโยบายเรือธงของพรรคเพื่อไทย
ล่าสุดพบว่า 3 หน่วยงานรัฐ ได้นำเสนอความเห็นที่เกี่ยวข้อง เพื่อประกอบการพิจารณาของ ครม. ประกอบด้วย ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สํานักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) และสํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
ธปท. เห็นว่าโครงการนี้เป็นโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ จึงควรดําเนินการให้ เกิดประโยชน์มากที่สุดภายใต้งบประมาณที่มีอยู่ โดยมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติม ดังนี้
1. ในระยะต่อไป ควรจัดแบ่งงบประมาณเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจนี้ไปสู่การลงทุนภาครัฐเพิ่มเติม อาทิ โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน โครงการพัฒนาบุคลากรในสาขาที่ขาดแคลนและจําเป็น
ซึ่งนอกจากจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจแล้ว ยังจะช่วยวางรากฐาน เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และยกระดับศักยภาพ เศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว
2. ด้วยเหตุที่โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งนี้สร้างภาระทางการคลังสูง จึงควรติดตามประเมินผลสัมฤทธิ์และความคุ้มค่าของโครงการอย่างใกล้ชิด อีกทั้งควรให้ความสําคัญกับการบริหาร เครื่องมือในการระดมทุนให้เหมาะสม และเร่งชําระคืนต้นเงินกู้เพื่อรองรับการขาดดุลงบประมาณ
ซึ่งจะช่วย รักษาเสถียรภาพด้านการคลังและลดความเสี่ยงจากต้นทุนการกู้ยืมของภาครัฐและเอกชนที่อาจสูงขึ้นได้
3. ภาครัฐควรนําประสบการณ์จากการดําเนินโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงก่อนหน้า มาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการเชื่อมโยงข้อมูลและยกระดับกลไกการเชื่อมข้อมูลระหว่างฐานข้อมูลจาก หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้รวดเร็ว ทันการณ์ และครอบคลุมยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ ในส่วนที่ให้สํานักงานปลัดกระทรวงการคลัง ตรวจสอบคุณสมบัติกลุ่มเป้าหมายร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ซึ่งรวมถึงการตรวจสอบข้อมูลเงินฝากนั้น ควรกําหนดแนวทางและรายละเอียดของการตรวจสอบคุณสมบัติของกลุ่มเป้าหมายดังกล่าว ตลอดจน ข้อพิจารณาว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถดําเนินการดังกล่าวข้างต้นได้ตามกฎหมาย
สภาพัฒน์ เห็นว่า กระทรวงการคลัง ควรเตรียมแนวทางการประสัมพันธ์โครงการดังกล่าว เพื่อสร้างความเข้าใจในวงกว้าง และลดปัญหาการร้องเรียนที่อาจเกิดขึ้นจากการดําเนินโครงการ
แม้เห็นด้วยต่อหลักการของโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นการจ่ายเงิน 10,000 บาท โดยยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และไม่กําหนดเงื่อนไขการใช้จ่ายให้กับกลุ่มเป้าหมาย
ซึ่งเป็นผู้ที่ลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชันทางรัฐสําเร็จ มีสัญชาติไทย และมีอายุตั้งแต่ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ณ วันที่ 15 กันยายน 2567 มีรายได้ไม่เกิน 840,000 บาท สําหรับปีภาษี 2566 และมีเงินฝากรวมกันไม่เกิน 500,000 บาท ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2567
อีกทั้งไม่เป็นผู้อยู่ในสถานสงเคราะห์ในสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2567
และไม่เป็นกลุ่มเป้าหมายตามโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ สําหรับผู้มีสิทธิ จํานวนไม่เกิน 4 ล้านคน
พร้อมทั้งอนุมัติงบประมาณสําหรับการดําเนินโครงการวงเงินไม่เกิน 40,000 ล้านบาท
โดยใช้แหล่งเงินจากงบประมาณรายจ่ายประจําปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 งบกลาง รายการ ค่าใช้จ่ายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ เพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพ ของผู้สูงอายุ ให้มีโอกาสเข้าถึงการใช้จ่ายที่จําเป็นในการยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
สํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เห็นว่า หากกระทรวงการคลังได้ดําเนินการตาม มาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 แล้ว กรณีจึงเป็นเรื่องที่อยู่ ในอํานาจของคณะรัฐมนตรีที่จะพิจารณาเห็นชอบและมอบหมายกระทรวงการคลังได้ตามที่เห็นสมควร
การขออนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจําปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 งบกลางฯ ไม่เกิน 40,000 ล้านบาท โดยจัดสรรให้แก่ "สํานักงานปลัดกระทรวงการคลัง" สําหรับการดําเนินโครงการฯ นั้น
เป็นกรณีการขอรับจัดสรรงบประมาณที่ต้องดําเนินการตามขั้นตอนที่กําหนดในพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 และระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการ ค่าใช้จ่ายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ พ.ศ. 2567
ซึ่งข้อ 5 กําหนดให้กระทําได้ ในกรณีที่หน่วยรับงบประมาณได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีให้เป็นหน่วยงาน ดําเนินโครงการ และหน่วยรับงบประมาณต้องดําเนินการตามข้อ 6 ข้อ 7 และข้อ 8 แห่งระเบียบดังกล่าว
ที่กําหนดให้ต้องจัดทําแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ ตามโครงการที่ขอรับจัดสรร และเสนอเรื่องให้รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีเจ้าสังกัดหรือรัฐมนตรี ที่กํากับดูแล
หรือผู้ที่คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้กํากับดูแลโครงการ แล้วแต่กรณี พิจารณา ให้ความเห็นชอบก่อนส่งคําขอให้สํานักงบประมาณเพื่อพิจารณาอนุมัติเงินจัดสรรงบประมาณให้แก่ หน่วยรับงบประมาณต่อไป
ส่วนการขอความเห็นชอบในหลักการการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสําหรับ และมอบหมายให้กระทรวงการคลังโดยกรมสรรพากรพิจารณา ดําเนินการยกร่างกฎหมายและเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป นั้น
เป็นเรื่องที่อยู่ในอํานาจของคณะรัฐมนตรี ที่จะพิจารณาให้ความเห็นชอบได้ตามที่เห็นสมควร โดยกระทรวงการคลังจะต้องดําเนินการตาม มาตรา 27 และมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ก่อนที่จะ เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติหลักการต่อไป
สำหรับการมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดําเนินการตามที่กระทรวงการคลังเสนอ นั้น เป็นเรื่องที่อยู่ในอํานาจของคณะรัฐมนตรีที่จะพิจารณามอบหมายได้ตามที่เห็นสมควร ทั้งนี้ หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องต้องปฏิบัติตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด.