xs
xsm
sm
md
lg

“ภาษีคนไทย” ใช้เลี้ยงต่างด้าว ? เด็กเกิดไทย รักษาฟรี-เรียนฟรี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



เผย สารพัดสิทธิ์ของ”ต่างด้าว” ทำคนไทยอ่วม แบกทั้งค่ารักษา-ค่าคลอดบุตรของเมียนที่ข้ามมารักษาฝั่งไทย โดยใช้“กองทุนสิทธิ์ ท.99” ปีละกว่า 1,500 ล้าน ไม่รวมกลุ่มที่เบี้ยวค่ารักษาพยาบาล เฉพาะ รพ.ตามแนวชายแดน สูญเงินแล้วกว่า 2,500 ล้านต่อปี ขณะที่เด็กต่างด้าวที่เกิดในประเทศไทยได้สิทธิ์“บัตรทอง”ทันที รักษาฟรีตลอดชีวิต อีกทั้งยังให้สิทธิ์เรียนฟรี 15 ปี แก่เด็กต่างด้าวทั้งที่เกิดในไทยและติดตามพ่อแม่เข้ามา ด้าน “ประธานสภาองค์การลูกจ้าง” ระบุ หลายฝ่ายเสนอแยก“กองทุนประกันสังคม” เหตุลักษณะการใช้สิทธิ์ของแรงงานไทยกับแรงงานข้ามชาติแตกต่างกัน

ประเด็นหนึ่งที่ร้อนแรงอย่างมากในขณะนี้คงหนี้ไม่พ้นกรณีที่ต่างด้าวทั้งที่เป็นแรงงานและไม่ใช่แรงงานเข้ามาใช้สิทธิต่างๆในประเทศไทยมากเกินพอดี จนคนไทยจำนวนไม่น้อยรู้สึกว่าถูกคุกคามสิทธิ ไม่ว่าจะเป็นสิทธิในการทำมาหากิน สิทธิในการรักษาพยาบาล สิทธิการเล่าเรียนของบุตร โดยอ้างคำว่า“สิทธิมนุษยชน” โดยเฉพาะเด็กต่างด้าวที่เกิดในไทยซึ่งได้สิทธิการรักษาพยาบาลฟรีตลอดชีวิต และสิทธิการเล่าเรียนฟรีถึง 15 ปี กระทั่งเกิดคำว่า “ภาษีคนไทย ใช้เลี้ยงต่างด้าว”


สิทธิ์การรักษาของต่างด้าวที่ถูกพูดถึงมากที่สุดในขณะนี้ก็คือ “กองทุนสิทธิ์ ท.99” (สิทธิบุคคลผู้มีปัญหาสถานะและสิทธิ์) ซึ่งเป้าหมายจริงๆคือเพื่อดูแลการรักษาของกลุ่มคนที่รอการพิสูจน์สิทธิและพิสูจน์ไทย แต่ชาวเมียนพากันแห่ข้ามมารับการักษาและคลอดบุตรในโรงพยาบาลของไทยที่อยู่ใกล้ชายแดนไทย-เมียนมา โดยอาศัยช่องโหว่ของกองทุนดังกล่าว ซึ่งคนไข้ที่ใช้สิทธิ์นี้สามารถเข้ารับบริการทางการแพทย์โดยไม่ต้องจ่ายค่ารักษา โดยแต่ละปีกระทรวงสาธารณสุขของไทยต้องสูญเสียงบประมาณให้แก่กองทุนดังกล่าวถึง 1,500 ล้านบาทเลยทีเดียว อีกทั้งการแห่เข้ามารับการรักษาของผู้ป่วยต่างด้าวยังส่งผลให้คนไทยที่ไปใช้บริการถูกแย่งสิทธิ์การรักษา ขณะที่บุคลากรทางการแพทย์ของไทยก็ต้องทำงานหนักขึ้นเป็นเท่าตัว นอกจากนั้นยังมีปัญหาผู้ป่วยต่างด้าวที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลรัฐของไทยในพื้นที่ชายแดนไม่ยอมจ่ายค่ารักษา ซึ่งจากข้อมูลพบว่าในปีงบประมาณ 2562-2566 ค่ารักษาซึ่งโรงพยาบาลตามแนวชายแดนเรียกเก็บจากผู้ป่วยต่างด้าวไม่ได้นั้นสูงถึง 2,564 ล้านบาทต่อปี

ขณะที่“สิทธิการรักษาฟรีของเด็กต่างด้าวที่เกิดในไทย”นั้น ประเทศไทยก็ใจป้ำให้เด็กทุกคนที่เกิดในไทยได้สิทธิ์ประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือที่เราเรียกว่าบัตรทอง หรือ 30 บาทรักษาทุกโรค โดยถือว่าเป็นสิทธิ์การรักษาที่ติดตัวมาตั้งแต่กำเนิด ส่งผลให้คนไทยต้องแบกค่ารักษาให้เด็กต่างด้าวที่เกิดในไทยตั้งแต่เกิดยันตาย แม้จะเจ็บป่วยเป็นโรคที่ค่าใช้จ่ายสูง พ่อแม่ที่เป็นต่างด้าวก็ไม่ต้องกังวลใจ เพราะมี“สิทธิบัตรทอง”คุ้มครอง ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย สามารถตรวจและรับการรักษาตั้งแต่โรคทั่วไป จนถึงโรคเรื้อรัง ไม่ว่าจะเป็น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไม่เว้นแม้แต่โรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง เช่น มะเร็ง ไตวายเรื้อรัง หัวใจ เอชไอวี หลอดเลือดสมอง ฯลฯ ก็ได้สิทธิ์การรักษาฟรี


ส่วน “สิทธิ์เรียนฟรี 15 ปี”ของเด็กต่างด้าวซึ่งเป็นอีกกรณีหนึ่งที่ถูกวิจารณ์อย่างกว้างขวางนั้น พบว่าเด็กต่างด้าวจะได้สิทธิ์เหมือนเด็กไทยโดยยึดหลักสิทธิมนุษยชน ไม่ว่าจะเป็นเด็กต่างด้าวที่เกิดในไทยหรือเกิดในประเทศเพื่อนบ้านแต่ติดตามพ่อแม่เข้ามาอยู่ในประเทศไทย ไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎร ไม่มีสัญชาติไทย ก็สามารถเรียนฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย เพียงแต่ต้องมีอายุไม่เกิน 18 ปี และอยู่ในเขตอำนาจของรัฐไทยจะได้รับสิทธิ์ โดยยึดหลักความเท่าเทียม ซึ่งสิทธิ์ทางการศึกษาที่เด็กต่างด้าวได้รับ ได้แก่

ค่าเล่าเรียน ชั้นอนุบาล ได้ 1,972 บาท/คน/ปี , ชั้นประถมศึกษา 2,204 บาท/คน/ปี , มัธยมตอนต้น 4,060 บาท/คน/ปี , มัธยมตอนปลาย 4,408 บาท/คน/ปี , ปวช.1-3 ได้รับ 13,613 บาท/คน/ปี

ค่าหนังสือเรียน ชั้นอนุบาล คนละ 200 บาท/ปี , ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 คนละ 656 บาท/ปี , ประถมศึกษาปีที่ 2 คนละ 650 บาท/ปี , ประถมศึกษาปีที่ 3 คนละ 653 บาท/ปี , ประถมศึกษาปีที่ 4 คนละ 707 บาท/ปี , ประถมศึกษาปีที่ 5 คนละ 846 บาท/ปี , ประถมศึกษาปีที่ 6 คนละ 859 บาท/ปี , ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 คนละ 808 บาท/ปี , ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 คนละ 921 บาท/ปี , ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 คนละ 996 บาท/ปี , ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 คนละ 1,384 บาท/ปี , ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 คนละ 1,326 บาท/ปี , มัธยมศึกษาปีที่ 6 คนละ 1,164 บาท/ปี และ ระดับ ปวช.คนละ 2,000 บาท/ปี

ค่าอุปกรณ์การเรียน โดยผู้ปกครองและนักเรียนสามารถจัดซื้ออุปกรณ์การเรียนด้วยตนเอง ไม่ว่าจะเป็น แบบฝึกหัด สมุด ดินสอ ปากกา ยางลบ เครื่องมือเรขาคณิต แผ่นซีดี กระดาษ A4 สีเทียน ดินน้ำมัน ฯลฯ และนำใบเสร็จไปเบิกกับสถานศึกษา โดยเป็นการจัดสรรค่าอุปกรณ์การเรียนให้ตามรายหัว ดังนี้ ชั้นอนุบาล คนละ 290 บาทต่อปี , ประถมศึกษา คนละ 440 บาทต่อปี , มัธยมต้น คนละ 520 บาทต่อปี , มัธยมปลาย คนละ 520 บาทต่อปี และ ชั้น ปวช.1-3 คนละ 520 บาทต่อปี

ค่าเครื่องแบบนักเรียน โดยผู้ปกครองและนักเรียนสามารถจัดซื้อเครื่องแบบนักเรียนด้วยตนเอง และนำใบเสร็จไปแสดงเพื่อเบิกเงินสดจากสถานศึกษา โดยเกณฑ์ที่จะจัดสรรค่าเครื่องแบบนักเรียนรายหัว มีดังนี้ ชั้นอนุบาล ได้คนละ 325 บาทต่อปี , ประถมศึกษา คนละ 400 บาทต่อปี , มัธยมต้น คนละ 500 บาทต่อปี , มัธยมปลาย คนละ 550 บาทต่อปี และ ชั้น ปวช.1-3 ได้คนละ 950 บาทต่อปี

ค่ากิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ชั้นอนุบาล ได้คนละ 490 บาต่อปี , ประถมศึกษา คนละ 547 บาทต่อปี , มัธยมต้น คนละ 1,003 บาทต่อปี , มัธยมปลาย คนละ 1,083 บาทต่อปี และชั้น ปวช.1-3 คนละ 1,083 บาทต่อปี

ด้วยเหตุนี้จึงมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากคนไทยในโลกโซเชียลว่าเนื่องจากเด็กต่างด้าวมีสิทธิ์รักษาฟรี-เรียนฟรีในไทยใช่หรือไม่ ? ประชากรจากประเทศเพื่อนบ้านจึงพากันเข้ามาตั้งท้องและสร้างครอบครัวในไทยเพราะเขาไม่ต้องเสียใช้จ่ายดังกล่าวเอง


นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย
อย่างไรก็ดี ในส่วนของแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาแบบถูกกฎหมายและทำประกันสังคมตามมาตรา 33 นั้นดูจะเป็นกลุ่มเดียวที่ไม่ได้คุกคามสิทธิคนไทย แม้จะถูกมองว่าแรงงานต่างด้าวใช้สิทธิค่าคลอดบุตรและเงินสงเคราะห์บุตรมากกว่าแรงงานไทย เนื่องจากคนไทยไม่นิยมมีลูก แต่ก็ถือว่าอยู่ในกรอบตามสิทธิประกันสังคม

โดย สิทธิค่าคลอดบุตรของแรงงานต่างด้าวที่ทำประกันสังคม ประกอบด้วย ค่าบริการทางการแพทย์ 15,000 บาท/ครั้ง ค่าฝากครรภ์ วงเงินรวม 1,500 บาท เงินสงเคราะห์หยุดงาน 50% ของค่าจ้าง เป็นเวลา 90 วัน (สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท/เดือน) ส่วนเงินสงเคราะห์บุตรนั้น จากเดิมแรงงานที่ทำประกันสังคมทั้งแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติจะได้เงินสงเคราะห์บุตร เดือนละ 800 บาทต่อบุตรหนึ่งคน (ไม่เกิน 3 คน) แต่มติ ครม.เมื่อวันที่ 17 ธ.ค.2567 ได้อนุมัติให้เพิ่มเงินสงเคราะห์บุตรเป็นเดือนละ 1,000 บาทต่อบุตรหนึ่งคน โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2568 ซึ่งบุตรต้องมีอายุไม่เกิน 6 ปี และเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย (ยกเว้นบุตรบุญธรรม) โดยแรงงานต้องส่งเงินสมทบครบ 12 เดือนภายในระยะเวลา 36 เดือนก่อนยื่นขอรับสิทธิ ซึ่งก็มีเสียงวิจารณ์ตามมาว่าคนที่ได้รับประโยชน์จากมติ ครม.ดังกล่าวน่าจะแรงงานต่างด้าวมากกว่าแรงงานไทย

นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย (สพท.) ระบุว่า ปัจจุบันมีแรงงานต่างด้าวที่อยู่ในระบบประกันสังคม ประมาณ 1.43 ล้านคน ซึ่งแรงงานต่างด้าวที่ทำประกันสังคมตาม 33 จะได้สิทธิต่างๆเท่ากับแรงงานไทยที่อยู่ในระบบประกันสังคม ตามมาตรา 33 ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็น การรักษาพยาบาล การคลอดบุตร เงินทดแทนกรณีทุพพลภาพ เงินชดเชยกรณีถูกเลิกจ้าง บำนาญชราภาพ ฯลฯ

อย่างไรก็ดีสำหรับแรงงานต่างด้าวที่ใช้สิทธิบำนาญชราภาพนั้น จากข้อมูลล่าสุดพบว่าแรงงานทั้ง 3 สัญชาติ คือ เมียนมา ลาว และกัมพูชา มีผู้ที่ได้ใช้สิทธิบำนาญชราภาพไม่ถึง 60 คน ซึ่งถือว่าน้อยมาก เนื่องจากแรงงานต่างด้าวที่ส่งประกันสังคมส่วนใหญ่จะทำงานอยู่ในไทยไม่ถึงอายุ 55 ปี จึงยังไม่ได้รับบำนาญส่วนนี้ บางคนก็ไม่ได้ต่อใบอนุญาตทำงาน บางคนก็ถูกส่งกลับประเทศต้นทาง บางคนก็ส่งประกันสังคมไม่ต่อเนื่อง แต่เงิน 5% ที่ออมไว้เขาจะมารับจากสำนักงานประกันสังคมได้ตอนอายุ 55 ปี โดยจะข้ามเข้ามารับที่ไทย ซึ่งปัจจุบันแรงงานต่างด้าวก็เรียกร้องว่าอยากได้เงินสะสมส่วนนี้กลับไปพร้อมกับตอนที่กลับประเทศต้นทางเลย ไม่ต้องเดินทางเข้ามารับตอนอายุ 55

ส่วนประเด็นที่หลายฝ่ายมองว่าน่าจะมีการแยกกองทุนประกันสังคมระหว่างแรงงานไทยกับแรงงานต่างด้าว เพื่อความเป็นธรรมในการจัดการกองทุน เนื่องจากสิทธิประโยชน์บางอย่างแรงงานไทยใช้น้อยกว่าแรงงานต่างด้าว เช่น ค่าคลอดบุตร เงินสงเคราะห์บุตร เพราะปัจจุบันคนไทยไม่ค่อยอยากมีลูก หรือมีลูกน้อยนั้น “นายมนัส” ระบุว่า ก็มีหลายภาคส่วนที่เห็นด้วยว่าควรมีการแยกกองทุนประกันสังคมระหว่างแรงงานไทยกับแรงงานต่างด้าว เช่น อนุกรรมาธิการของกรรมาธิการแรงงาน วุฒิสภา(สว.) โดยทั้ง สว.ชุดเดิมและ สว.ชุดปัจจุบันก็เห็นตรงกัน แม้แต่แรงงานต่างด้าวที่ส่งประกันสังคมเขาก็เห็นด้วยที่จะแยกกองทุน

“ แรงงานต่างด้าวก็ถือว่ามีส่วนสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยเช่นกัน คนที่ส่งประกันสังคมเขาเป็นแรงงานที่ถูกกฎหมาย และเขาส่งประกันสังคมเหมือนกับแรงงานไทย จึงได้สิทธิเท่ากัน อาจจะถูกมองว่าแรงงานข้ามชาติเขาใช้สิทธิในการคลอดบุตร สิทธิในการสงเคราะห์บุตรเยอะ ขณะที่คนไทยไม่ค่อยตั้งครรภ์กัน แรงงานไทยจะเสียเปรียบหรือเปล่า แต่จริงๆก็มีสิทธิบางอย่างที่คนไทยใช้เยอะ แต่แรงงานข้ามชาติแทบไม่ได้ใช้ อย่างบำนาญชราภาพ ส่วนเรื่องแยกกองทุนประกันสังคมของแรงงานไทยกับแรงงานต่างด้าวนั้น ต่างด้าวเขาก็อยากแยกเหมือนกัน เพราะเขาอยากตัดในส่วนของบำนาญชราภาพที่ส่งสมทบ 5% ออกไป เนื่องแรงงานต่างด้าวส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้สิทธินี้ เขาก็ต้องการจะส่งเงินสมทบน้อยลง ” ประธานสภาองค์การลูกจ้างฯ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น