ครม.ฉีกข้อเสนอ กสม. เมินยกเลิกโทษประหาร เอนหลังพิงศาลยุติธรรม
ข้อเสนอขององค์กรภาคประชาชน หรือแม้แต่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ที่ว่าด้วยการขอให้รัฐบาลพิจารณายกเลิกโทษประหารชีวิตตามประมวลกฎหมายอาญานั้นถือว่าเป็นข้อเรียกร้องที่มีมาอย่างยาวนาน เพื่อให้การกำหนดโทษทางอาญาของประเทศไทยเป็นมาตรฐานสากล
โดยก่อนหน้านี้ กสม.มีข้อเสนอที่มีสาระสำคัญ คือ การประหารชีวิตไม่ว่าด้วยวิธีใดย่อมเป็นการพรากชีวิตของบุคคล ซึ่งสิทธิในชีวิตเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่สำคัญที่สุดซึ่งไม่อาจพรากไปได้ และยังเป็นการกระทำที่ทารุณโหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การประหารชีวิตซึ่งไม่สอดคล้องกับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และกติกา ICCPR รวมทั้งอาจเป็นการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 4 ที่บัญญัติให้ความคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคล และมาตรา 28 ที่บัญญัติให้ความคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของบุคคล และห้ามการทรมาน ทารุณกรรม หรือการลงโทษด้วยวิธีการโหดร้ายหรือไร้มนุษยธรรม อีกทั้งข้อมูลหรือหลักฐานที่มีอยู่ยังไม่อาจสรุปได้อย่างแน่ชัดว่า โทษประหารชีวิตมีผลในการข่มขู่ยับยั้งหรือป้องปรามการกระทำความผิด
ดังนั้น เห็นว่า ควรต้องทบทวนและแก้ไขกฎหมายที่มีโทษประหารชีวิตสถานเดียว เพื่อให้ศาลสามารถใช้มาตรการทางเลือกอื่นแทนการลงโทษประหารชีวิต และพิจารณากำหนดการลงโทษให้เหมาะสมกับพฤติการณ์การกระทำความผิดและพฤติการณ์ส่วนตัวของผู้กระทำความผิดแต่ละราย ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น กสม. จึงมีมติให้มีข้อเสนอแนะมาตรการและการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน ไปยังคณะรัฐมนตรี กระทรวงยุติธรรม และกระทรวงกลาโหม เพื่อดำเนินการไม่กำหนดโทษประหารชีวิตไว้ในกฎหมายที่ตราขึ้นใหม่ และออกกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายที่มีโทษประหารชีวิตสถานเดียวที่อยู่ในกฎหมายฉบับต่าง ๆ รวมไว้ในกฎหมายฉบับเดียวกัน ทำนองเดียวกับพระราชบัญญัติยกเลิกกฎหมายฉบับที่หมดความจำเป็นหรือซ้ำซ้อนกับกฎหมายอื่น พ.ศ. 2565
อย่างไรก็ตาม ปรากฎว่าข้อเสนอของกสม.ที่ว่ามาทั้งหมดนี้ได้ถูกคณะรัฐมนตรี ปฏิเสธเป็นที่เรียบร้อย โดยนายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี รับทราบข้อเสนอและแนวทางของกสม. แต่มีความเห็นเพิ่มเติมจากศาลยุติธรรมว่า เนื่องจากโทษบางชนิด และความผิดบางชนิดยังจำเป็นต้องมีโทษประหารอยู่ ซึ่งครม.ก็เห็นชอบตามศาลยุติธรรมว่าโทษประหารชีวิตยังควรจะต้องมีอยู่ เนื่องจาก ศาลยุติธรรมระบุว่าโทษที่มีความผิดร้ายแรงนั้นส่งผลกระทบต่อจิตใจประชาชน