เปิดช่องยื่นผู้ตรวจฯ ส่งศาลฉีก MOU2544 ก่อนตัดสินใจลงถนน
ปมประเด็นปัญหาในเรื่องข้อพิพาทเกี่ยวกับเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชาผ่านกรณีMOU 2544 นั้น ถือเป็นประเด็นหนึ่งที่หลายฝ่ายให้ความสนใจ และมีนักวิชาการ รวมไปถึงผู้ทรงคุณวุฒิออกมาให้ความเห็นเป็นอย่างมาก โดยนายธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก โดยระบุว่า "MOU 2544 มีความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่? กรณีที่คุณสนธิ ลิ้มทองกุลและคณะทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ.2567 ขอให้หยุดการปฏิบัติหน้าที่กรณี MOU 2544 และ JC 2544 ซึ่งมีการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ขัดต่อพระบรมราชโองการฯและฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฎหมาย อันเป็นการสุ่มเสี่ยงต่อการสูญเสียเอกราช อำนาจอธิปไตย สิทธิอธิปไตยและบูรณภาพแห่งทะเลอาณาเขต เขตต่อเนื่องและเขตไหล่ทวีปของราชอาณาจักรไทยนั้น ผมเห็นด้วยกับเหตุผลตามหนังสือดังกล่าวทุกประการ เพราะหากรัฐบาลยังดำเนินการใดๆต่อไปตาม MOU 2544 เท่ากับเป็นการเปลี่ยนสถานภาพในหลักการสำคัญ จากการ “ปฏิเสธ”เส้นเขตไหล่ทวีปของกัมพูชาที่ละเมิดสิทธิและอธิปไตยของราชอาณาจักรไทย กลายเป็น “การรับรู้” พื้นที่อ้างสิทธิเขตไหล่ทวีปของกัมพูชาที่ขีดเส้นตามอำเภอใจและไม่เป็นไปตามกฎหมายสากลโดยปริยาย"
"ดังนั้นการที่รัฐบาลไทย “รับรู้” การลากเส้นเขตไหล่ทวีปของกัมพูชาที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายสากล แม้ว่ารัฐบาลไทยจะอ้างว่ายังคงปฏิเสธการลากเส้นของกัมพูชาดังกล่าว ประเทศไทยก็จะตกอยู่ในสภาวะสุ่มเสี่ยงที่จะถูกตีความได้ว่าราชอาณาจักรไทยได้ “สละสิทธิ” จุดแข็งที่สุดของเราคือการลากเส้นไหล่ทวีปตามกฎหมายสากลเพียงอย่างเดียว และกลายเป็นการยอมรับความไม่ชัดเจนของพื้นที่อาณาเขตทางทะเลว่ามีความเหลื่อมซ้อนกันอยู่ระหว่างสองประเทศ ตลอดทั้งการให้สัมภาษณ์ของนายกรัฐมนตรีไทยในทำนองว่าหากตกลงกันไม่ได้ ก็แบ่งครึ่งกัน จึงอาจเข้าทำนองรอยเดิมกรณีปราสาทพระวิหารที่ฝ่ายไทยต้องพ่ายแพ้ด้วยเหตุผลของ “กฎหมายปิดปาก” นั่นเอง"
นายธีรภัทร์ ให้ความเห็นอีกว่า ข้อเรียกร้องของคุณสนธิและคณะให้นายกรัฐมนตรีเสนอเรื่องดังกล่าวนี้ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาและมีมติให้ส่ง MOU 2544และ JC 2544 ต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่าขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 บทบัญญัติมาตรา 1 และมาตรา 178 เพื่อให้ได้ข้อยุติในข้อสงสัยนี้เสียก่อนนั้น จึงเป็นข้อเรียกร้องที่มีเหตุมีผลที่รัฐบาลควรสนองตอบ และเป็นทางออกที่เป็นไปตามกติกาของบ้านเมือง อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลไม่สนองตอบข้อเรียกร้องของคุณสนธิและคณะ ผมก็ขอเสนอต่อไปว่าคุณสนธิและคณะควรจะเสนอเรื่องดังกล่าวนี้ผ่านผู้ตรวจการแผ่นดินตามมาตรา 231 ของรัฐธรรมนูญฯเพื่อให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครองแล้วแต่กรณีเพื่อพิจารณาให้ได้ข้อยุติต่อไปได้ หากกระบวนการโดยสันติตามรัฐธรรมนูญฯไม่บังเกิดผลแล้ว จึงค่อยใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฯกันต่อไป